พิจิตร-ชลประทานพิจิตรทุ่มงบ55.47ล้านต่อท่อเปิดก๊อกน้ำทำนาสู้ภัยแล้งช่วยชาวนา2พันไร่

พิจิตร-ชลประทานพิจิตรทุ่มงบ55.47ล้านต่อท่อเปิดก๊อกน้ำทำนาสู้ภัยแล้งช่วยชาวนา2พันไร่
วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 นายฉัตรชัย ทองปอนด์ ผอ.โครงการชลประทานพิจิตร พร้อมด้วย นายณัฐภูมิ อนันตภูมิ หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้างานก่อสร้างโครงการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำคลองหนองจอกพร้อมระบบส่งน้ำ ตำบลหอไกร อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร โดยโครงการชลประทานพิจิตร สำนักงานชลประทานที่ 3 กรมชลประทาน ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการ โครงการดังกล่าวเป็นค่าก่อสร้าง 55,473,130 บาท ซึ่งเป็นการดำเนินงานโดยโครงการชลประทานพิจิตรดำเนินการเอง
สำหรับวัตถุประสงค์ของของโครงการ คือการสร้างความมั่นคงให้กับเกษตรกรได้มีน้ำเพื่อการทำนาข้าว ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านย่านท่าเสาพร้อมระบบส่งน้ำ ให้เข้าไปยังพื้นที่ชลประทานกว่าอีก 2,000 ไร่ ในเขตพื้นที่ของ ต.หอไกร และ ต.ลำประดา อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร สำหรับการลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อเร่งรัดติดตามความคืบหน้าของการก่อสร้าง ซึ่งเป็นการวางท่อส่งน้ำระยะทาง 3,690 เมตร ท่อมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 60 ซม. วางท่อจากแม่น้ำน่านที่มีสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าส่งน้ำผ่านท่อส่งน้ำเข้าไปยังนาข้าว
และรวมทั้งก่อสร้างอาคารท่อระบายน้ำขนาด 2.40×2.40 เมตร จำนวน 3 ช่อง เพื่อเก็บกักน้ำในลำคลองห้วยกรวด ทำให้สามารถส่งน้ำและเก็บกักน้ำให้พื้นที่เกษตรกรได้รับประโยชน์รวมทั้งสิ้นกว่า 3,000 ไร่ ให้ได้มีน้ำต้นทุนในการทำการเกษตรอย่างอุดมสมบูรณ์ตลอดทั้งปี จะสูบน้ำจากแม่น้ำน่านส่งน้ำมาตามท่อส่งน้ำและมีก๊อกน้ำให้เปิดน้ำเข้าสู่แปลงนาเป็นช่วงๆครอบคลุมพื้นที่ดังกล่าว เกษตรกรจะสามารถทำนาปลูกข้าวพันธุ์ดีได้ถึงปีละ 2 ครั้ง ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึงยังเป็นการแก้ปัญหาภัยแล้งขาดแคลนน้ำทำนาให้กับพื้นที่ดังกล่าวนี้อีกด้วย
สำหรับระยะเวลาการดำเนินการโครงการชลประทานพิจิตรจะเร่งงานการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำและการเดินท่อส่งน้ำในช่วงฤดูแล้งนี้ให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด ขณะนี้ดำเนินงานไปแล้วประมาณ 20% โดยมั่นใจว่าโครงการดังกล่าวจะสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 30 กันยายน 2568 เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์ให้เร็วที่สุดอีกด้วย
สิทธิพจน์ เกบุ้ย /พิจิตร/