กาฬสินธุ์-มาแล้ว! ชุมชนเมืองโวย 7 ชั่วโคตรทำเศรษฐกิจพัง 5 ปี กว่า 500 ล้าน ขณะที่ จังหวัดกาฬสินธุ์ ยันไม่เกียร์ว่างไม่ทิ้งปัญหาจะติดตามงานจนแล้วเสร็จ แต่ชาวบ้านไม่ไว้ใจเรียกร้อง “นายก.อิ๊ง” ลุยแก้ปัญหาด่วน

รองประธานคณะธรรมาภิบาลจังหวัด (กธจ.) กาฬสินธุ์ แฉผลกระทบปัญหา 7 ชั่วโคตร 8 โครงการ งบประมาณ 545 ล้านบาท ทิ้งงานที่จังหวัดกาฬสินธุ์ สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจปีละกว่า 100 ล้านบาท 5 ปี มูลค่า กว่า 500 ล้านบาท เพราส่งผลให้การค้าขายชะลอตัว ผู้ประกอบการหอพัก บ้านเช่า ร้านอาหารทยอยปิดกิจการ ด้านผู้บริหารจังหวัดออกตัวไม่เกียร์ว่างยืนยันจะติดตามการก่อสร้างให้ถึงที่สุด แต่ชาวบ้านไม่ไว้ใจเรียกร้อง “นายก.อิ๊ง” ”อนุทิน“ ลุยแก้ปัญหาด่วน

 

วันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 รายงานปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ในช่วงที่รอความชัดเจนในการแก้ปัญหาก่อสร้าง 8 โครงการ 7 ชั่วโคตร ของผู้รับเหมาใหญ่ “ประชาพัฒน์-เฮงนำกิจ” ที่ยังเงียบงันอยู่ รวมทั้งการติดตามมาตรการลงโทษตามระเบียบพัสดุ กระทรวงการคลัง และตามกฎหมายกับผู้รับเหมาทิ้งงาน ซึ่งถูกกรมโยธาธิการและผังเมือง เจ้าของงบประมาณ ที่เป็นฝ่ายยกเลิกสัญญากับ 2 ผู้รับเหมาไปนานหลายเดือนแล้ว ยังไม่มีประกาศที่เป็นลายลักษณ์อักษรออกมาว่า ได้ดำเนินการถึงไหนบ้างแล้ว ขณะที่ปัญหาความเดือดร้อน และผลกระทบการก่อสร้างที่ถูกทอดทิ้ง ยังคงมีอยู่ และนับวันจะลุกลามมากขึ้น ส่งผลต่อสภาพจิตใจ บั่นทอนความปลอดภัย และคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนชาวเมืองกาฬสินธุ์ทุกสาขาอาชีพ

นายไชยนิกร วิมลศรีนราชัย อายุ 65 ปี ผู้ประกอบการถนนหัวคู-หนองเรือพัฒนา ทางไปศูนย์ราชการ จ.กาฬสินธุ์กล่าวว่า ถนนเส้นนี้ที่เชื่อมไปถึงศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ เดิมมีความสวยงามมาก 2 ฝั่งเต็มไปด้วยอาคาร ร้านค้า ร้านอาหาร ถือเป็นเส้นทางหลักอีกเส้นทางหนึ่ง ที่พี่น้องประชาชน ตลอดจนนักท่องเที่ยว ผู้คนจากต่างจังหวัด รวมถึงแขกบ้านแขกเมืองที่สัญจรไปมาได้ชื่นชม แต่พอมีโครงการขุดลอกริมถนนเพื่อวางระบบท่อ ของโครงการป้องกันปัญหาน้ำท่วมเมืองกาฬสินธุ์ งบ 148 ล้านบาทมาลงพื้นที่ ไม่ต่างกับมาทำลายความสวยงามของถนนเส้นนี้เสียหาย กลายเป็นถนนที่เสี่ยงอันตราย จากเศษซากวัสดุ เหล็กแหลม หลุมบ่อ และเกิดอุบัติเหตุบ่อย ชาวเมืองกาฬสินธุ์ ที่มีที่พักอาศัย และที่ประกอบการอยู่ใกล้บริเวณก่อสร้าง ต่างได้รับผลกระทบเดือดร้อนไม่ต่างกัน ซึ่งหากใครไม่ได้อยู่กับปัญหาเหล่านี้คงไม่เข้าใจว่า เดือดร้อน เป็นทุกข์ใจมากขนาดไหน อาคารร้านค้า หอพัก บ้านเช่า ที่เคยเป็นอาชีพ เกิดการค้าข้าย มีรายได้เลี้ยงครอบครัว ส่งเสียลูกเรียนหนังสือ ก็ต้องปิดตัวลงและปิดตายในที่สุด เพราะหน้าบ้าน หน้าร้านเป็นหลุมบ่อและกองวัสดุ สำหรับตนที่กำลังก่อสร้างอาคารพาณิชย์ ก็ได้รับผลกระทบ หวั่นอาคารทรุด ต้องเพิ่มทุนในการนำอิฐ หิน ปูนทราย มาสร้างแนวกันทรุด และอุดบริเวณที่เป็นโพรงดิน ที่เกิดจากน้ำกัดเซาะในฤดูน้ำหลาก เนื่องจากอยู่ส่วนปลายทางน้ำที่ไม่มีท่อระบายน้ำ ซึ่งทุกวันนี้น้ำก็ยังเอ่อขังอยู่ จึงอยากเรียกร้องไปถึงผู้มีอำนาจในบ้านเมือง เร่งจัดการหาผู้รับหมารายใหม่มาทำงานต่อให้แล้วเสร็จด้วย

ด้านนายดำรงค์ศักดิ์ สง่าวงษ์ ข้าราชการบำนาญ กล่าวว่า นับตั้งแต่เปิดปัญหามาตั้งแต่ปี 2562 ก็ได้แจ้งปัญหาไปที่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และองค์กรอิสระให้ช่วยตรวจสอบโครงการนี้หลายครั้ง ต่อมาเห็นมีทั้งคณะธรรมาภิบาล, ปปท.เขต 4 ขอนแก่น, อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง, สตง.ส่วนกลาง และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร มาดูปัญหาด้วยตนเอง ซึ่งตนและสังคมชาวกาฬสินธุ์ ทราบแค่ว่ากรมโยธาฯ ยกเลิกสัญญา 7 ชั่วโคตรทั้ง 8 โครงการแล้ว แต่มาตรการอื่นๆยังไม่ทราบ ทั้งๆที่มีแนวทางที่จะดำเนินการกับผู้รับเหมาทั้ง 2 ราย เมื่อยังไม่มีความเคลื่อนไหวในการลงโทษ หรือมีมาตรการกับผู้รับเหมาทิ้งงาน อย่างใดอย่างหนึ่งออกมา ขณะที่ชาวบ้านชาวเมืองกาฬสินธุ์ ยังเผชิญอยู่กับปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ทำให้ตนและพี่น้องประชาชนที่อยู่ใกล้จุดก่อสร้างและได้รับผลกระทบสึกสงสัย ว่ามันเกิดอะไรขึ้นในบ้านเมืองเรา หรือเป็นเพราะว่าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เกรงกลัวบารมีของใครอยู่ จึงไม่เร่งรัดจัดการหรือมีมาตรการอะไรออกมาสักที ทั้งนี้ คงต้องพึ่งบารมี “นายกอุ๊งอิ๊ง” นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นที่พึ่งสุดท้าย ในการสั่งการให้กรมโยธาฯ จัดหาผู้รับเหมารายใหม่เช้ามทำงานต่อ และดำเนินการตามระเบียบพัสดุ กระทรวงการคลัง และตามกฎหมายกับผู้รับเหมาทิ้งงาน เป็นไปตามหลักธรมาภิบาล และชาวบ้านจะได้มีความมั่นใจในตัวผู้นำรัฐบาล เพื่อปัญหาก่อสร้าง 8 โครงการ 7 ชั่วโคตร จะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในสมัยนายกอุ๊งอิ๊งนี้

ขณะที่นายสิทธิศักดิ์ ยนต์ตระกูล อดีตประธานหอการค้า จ.กาฬสินธุ์ และคณะธรรมาภิบาลจังหวัดกาฬสินธุ์ (กธจ.) กล่าวว่า ตามที่มีโครงการป้องกันปัญหาน้ำท่วมเมืองกาฬสินธุ์ งบประมาณ 148 ล้านบาท มาลงทำงานในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ 6-7 จุด เมื่อปี 2562 ซึ่งการทำงานไม่ต่อเนื่อง ทำๆ หยุดๆ ลักษณะเดียวกับอีก 7 โครงการ รวมงบประมาณ 545 ล้านบาท ที่แก่งดอนกลาง และเขื่อนป้องกันตลิ่งลำพาน ต.ลำพาน อ.เมืองกาฬสินธุ์ รวมทั้งตลิ่งแม่น้ำชี ต.เจ้าท่า อ.กมลาไสย และ ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย ที่ได้ส่งผลกระทบต่อชุมชนชาวเมืองกาฬสิน์ทุกด้าน นับจากการจราจรติดขัด อุบัติเหตุ ฝุ่นละออง น้ำท่วม สภาพจิตใจผู้คนเสียหาย โดยเฉพาะการค้าการขาย ย่านธุรกิจ บันเทิง ได้รับความเสียหาย ปีละไม่น้อยกว่า 100 บาท ที่หากมองในภาพรวมตลอด 5 ปี ที่ยังประสบปัญหานี้อยู่ ตัวเลขความเสียหายไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาททีเดียว ซึ่งเป็นความเสียหายที่สูญเปล่า โดยที่ไม่ทราบว่าจะมีหน่วยงานไหนเข้ามาเยียวหรือไม่

รายงานแจ้งว่าบ่ายวันนี้ได้มีเอกสารประชาสัมพันธ์จากสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดกาฬสินธุ์ ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2567 เวลา 14.30 น. ที่ห้องประชุมผาเสวย ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ นายสนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้มอบหมายให้ นายรุจติศักดิ์ รังษี รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นประธานการประชุมติดตามการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ห้องประชุมผาเสวย ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมี นายผดุงศักดิ์ อิ่มเอิบ ปลัดจังหวัดกาฬสินธุ์ นายวิจิตร งามชื่น โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดกาฬสินธุ์ นายวิทยา ปัญจมาตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกาฬสินธุ์ นายภัทรพล ลักษณาวิบูลย์กุล รักษาราชการแทนหัวหน้าสำนักงานจังหวัดกาฬสินธุ์ นายคันฉัตร เพียรวิจัยธรณี ประชาสัมพันธ์จังหวัดกาฬสินธุ์ นายสันติ จัตุพันธ์ นายอำเภอเมือกาฬสินธุ์ นายพุทธภูมิ นาชัยเริ่ม นายอำเภอกมลาไสย และนายเกียรติศักดิ์ มูลไธสง นายอำเภอฆ้องชัย เข้าร่วมประชุมเพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์

เอกสารระบุว่า สืบเนื่องจากชาวจังหวัดกาฬสินธุ์มีอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก และมีความเดือดร้อนในเรื่องน้ำเพื่อการเกษตร โดยเฉพาะในบริเวณลำน้ำปาว และพี่น้องที่อยู่ในพื้นที่อำเภอเมือง ก็มักจะประสบปัญหาเรื่องน้ำท่วมขัง ซึ่งจังหวัดกาฬสินธุ์ได้สะท้อนปัญหาไปที่กรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ จึงได้รับการจัดสรรโครงการจากกรมโยธาธิการและผังเมือง ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง และแก้ไขปัญหาน้ำเพื่อการเกษตรทั้งสิ้น 8 โครงการ ซึ่งเป็นโครงการที่กรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นเจ้าของงบประมาณ และเป็นผู้ว่าจ้าง แต่ด้วยในช่วงของการเริ่มต้นสัญญาอยู่ในห้วงปี 2563 ซึ่งอยู่ในช่วงสถานการณ์ Covid-19 พร้อมทั้งเกิดปัญหาในหลายๆ ด้าน ทำให้ผู้รับจ้างไม่สามารถดำเนินการโครงการได้แล้วเสร็จตามระยะเวลา และนำไปสู่การบอกเลิกสัญญาของกรมโยธาธิการและผังเมือง ทั้ง 8 โครงการ โดยได้บอกเลิกสัญญาในเดือนพฤษภาคม 2567 จำนวน 6 โครงการ และบอกเลิกสัญญาในเดือนสิงหาคม 2567 จำนวน 2 โครงการ

เมื่อมีการบอกเลิกสัญญา ผู้รับจ้างจึงต้องออกจากไซต์งาน ทำให้การก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ ซึ่งจังหวัดกาฬสินธุ์ ก็ได้มีการติดตามและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนใน 2 มิติ มิติที่ 1 จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนายอำเภอในพื้นที่ที่มีโครงการ ลงพื้นที่สำรวจและติดตามเฝ้าระวังตามพื้นที่ไซต์งานก่อสร้างที่ยังไม่เสร็จ อันอาจจะก่อให้เกิดปัญหาความเดือดร้อน หรืออันตรายกับพี่น้องประชาชน ซึ่งบางโครงการก็ได้มีการนำรถเข้าไปขุดลอกร่องระบายน้ำ เพื่อให้ระบายน้ำได้ดีขึ้น มิติที่ 2 จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ติดตามเร่งรัดไปที่กรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อที่จะให้เร่งรัดในการทำแบบรูปรายการ การจัดทำราคากลาง และการกำหนดขอบเขตของเนื้องาน เพื่อที่จะนำไปสู่การจัดหาผู้รับจ้างใหม่

ซึ่งใน 8 โครงการนี้ มี 1 โครงการ คือ โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำหลักเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้เข้าสู่ระบบประกวดราคา และได้ผู้รับจ้างเรียบร้อยแล้ว โดยอยู่ในระหว่างรอใบสั่งจ้างในการลงนามในสัญญา จากนั้นผู้รับจ้างรายใหม่จะเข้ามาดำเนินการ และมีอีก 1 โครงการ คือ โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำชี วัดใหม่สามัคคี หมู่ที่ 13 ตำบลเจ้าท่า อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ดำเนินการเข้าสู่ระบบการประกวดราคาแล้ว ซึ่งคาดว่าภายในเดือนธันวาคม 2567 ก็จะได้ผู้รับจ้างรายใหม่ ส่วนที่เหลืออีก 6 โครงการ จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้รับการประสานจากกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างและเป็นเจ้าของงบประมาณว่าได้ดำเนินการจัดทำแบบรูปรายการ การกำหนดราคากลางและขอบเขตเนื้องานแล้ว โดยอยู่ในระหว่างการดำเนินการเพื่อหาผู้รับจ้างใหม่ ซึ่งทั้ง 6 โครงการนี้คาดว่า กรมโยธาธิการและผังเมืองจะดำเนินการหาผู้รับจ้างใหม่ได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2568
แต่อย่างไรก็ดีในช่วงที่ยังไม่ได้ผู้รับจ้าง นายอำเภอ นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่อยู่ในพื้นที่ รวมถึงโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดกาฬสินธุ์ และผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกาฬสินธุ์ จะลงพื้นที่ตรวจสอบและเฝ้าระวังจนกว่าจะมีผู้รับจ้างรายใหม่เข้ามาดำเนินการ

โดย นายรุจติศักดิ์ รังษี รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ยืนยันว่า ถึงแม้จังหวัดกาฬสินธุ์ จะไม่ได้เป็นคู่สัญญา หรือไม่ได้เป็นเจ้าของงบประมาณ จังหวัดกาฬสินธุ์ มีหน้าที่ติดตามทุกโครงการของกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ที่ลงมาดำเนินงานในพื้นที่ของจังหวัดกาฬสินธุ์ เพราะทุกโครงการล้วนแล้วแต่มาช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนชาวกาฬสินธุ์ และมาสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี สร้างรายได้ให้กับพี่น้องชาวจังหวัดกาฬสินธุ์