ขอนแก่น-สวนสัตว์ขอนแก่น ประสบความสำเร็จอีกครั้งในการเพาะขยายพันธุ์ “ลูกร๊อกไฮแรกซ์” อวดความน่ารัก ส่งท้ายเดือนสิงหาคม

ขอนแก่น-สวนสัตว์ขอนแก่น ประสบความสำเร็จอีกครั้งในการเพาะขยายพันธุ์ “ลูกร๊อกไฮแรกซ์” อวดความน่ารัก ส่งท้ายเดือนสิงหาคม

 

วันที่  19 สิงหาคม 2567 ที่สวนสัตว์ขอนแก่น ต.คำม่วง อ.เขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น  นางทิพาวดี กิตติคุณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสวนสัตว์ขอนแก่น รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสวนสัตว์ขอนแก่น กล่าวว่า สวนสัตว์ขอนแก่นได้ให้ความสำคัญในการเพาะขยายพันธุ์สัตว์ป่าเป็นอย่างยิ่ง และครั้งนี้เป็นอีกครั้งที่ทางสวนสัตว์ขอนแก่นได้ประสบความสำเร็จในการเพาะขยายพันธุ์ให้กับเหล่าสมาชิกครอบครัวร๊อกไฮแรกซ์ ผ่านการจำลองระบบนิเวศภายในส่วนจัดแสดงให้คล้ายคลึงตามถิ่นที่อยู่อาศัยเดิมตามธรรมชาติ พร้อมการจัดกิจกรรมส่งเสริมพฤติกรรมสัตว์ป่าอยู่สม่ำเสมอ เพื่อช่วยลดสภาวะความตึงเครียดภายในส่วนจัดแสดงให้กับเหล่าสมาชิกร๊อกไฮแรกซ์ที่อาจจะสามารถส่งผลต่อการเพาะขยายพันธุ์สัตว์ป่าภายในอนาคต ซึ่งหลังจากความพยายามในการเพาะขยายพันธุ์ครั้งนี้ ทางครอบครัวเหล่าสมาชิกร๊อกไฮแรกซ์ ได้ให้กำเนิดสมาชิกใหม่ จำนวน 3 ตัว เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา

 
นอกจากนี้ นางทิพาวดี กิตติคุณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสวนสัตว์ขอนแก่น รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสวนสัตว์ขอนแก่น มอบหมายให้ สพ.ญ.กานดา พลศรีลา นักบริหาร 6 หัวหน้างานสุขภาพสัตว์ ฝ่ายอนุรักษ์ วิจัย และสุขภาพสัตว์ สวนสัตว์ขอนแก่น นำทีมสัตวแพทย์ประจำสวนสัตว์ขอนแก่น พร้อมด้วยเจ้าที่ฝ่ายบำรุงสัตว์ประจำส่วนจัดแสดงร๊อกไฮแรกซ์ ลงพื้นที่ตรวจสุขภาพร่างกาย ชั่งน้ำหนัก และ ตรวจเช็คเพศให้กับเหล่าสมาชิกใหม่ทั้ง 3 ตัว ซึ่งหลังจากการตรวจสุขภาพเสร็จสิ้น ผลปรากฏว่า ทางสวนสัตว์ขอนแก่นได้สมาชิกใหม่มาเพิ่มให้กับครอบครัวร๊อกไฮแรกซ์เป็น เพศผู้ 1 ตัว มีน้ำหนัก 455.8 กรัม , เพศเมียอีก 2 ตัว มีน้ำหนัก 369.8 กรัม และ 531.6 กรัม ตามลำดับ อีกทั้งยังมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงดี และคาดการณ์ว่าจะเตรียมพร้อมอวดโฉมความน่ารักให้นักท่องเที่ยวได้รับชมภายในส่วนจัดแสดงร๊อกไฮแรกซ์ ณ สวนสัตว์ขอนแก่นเร็วๆ นี้อีกด้วย

 
ร๊อกไฮแรกซ์ (Rock Hyrax) มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Procavia capensis เป็นสัตว์รูปร่างคล้ายหนู แต่มีต้นตระกูลเป็นช้าง  ถ้ามองจากรูปร่างจะดูเหมือนเป็นหนูตะเภา หางสั้น ขนหนานุ่ม (ใช้ควบคุมอุณหภูมิร่างกาย) แต่ร๊อกไฮแรคไม่ใช่สัตว์ฟันแทะ และมีวิวัฒนาการใกล้เคียงกับช้าง จึงเคี้ยวอาหารโดยใช้ฟันกรามเหมือนช้าง อาหารส่วนใหญ่ คือ ใบไม้และหญ้า สามารถพบได้ทั่วไปในทวีปแอฟริกาทั้งทะเลทราย ป่าฝน และป่าสน  ตัวเมียจะตั้งท้อง 7 – 8 เดือน และจะเลี้ยงลูกต่อจนถึง 5 เดือน ลูกร๊อกไฮแรกซ์จึงจะหย่านม ร๊อกไฮแรกซ์จะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุประมาณ 17 – 18 เดือน เมื่อโตเต็มที่จะมีขนาดลำตัวตั้งแต่ 30 – 70 เซนติเมตร และมีน้ำหนักประมาณ 2 – 5 กิโลกรัม ชอบอาศัยอยู่เป็นฝูงหรือครอบครัวเล็ก ๆ โดยจะมีตัวผู้เพียง 1 ตัว เป็นจ่าฝูง เพื่อคอยดูแลตัวเมียและลูกๆ ภายในฝูงอีกด้วย