สงขลา-ภาคประชาชนจังหวัดสงขลา ร่วมกับภาครัฐ เดินหน้ากำจัด “ปลาหมอคางดำ” สัตว์น้ำต่างถิ่น หลังระบาดหนัก ส่งผลให้ผลผลิตสัตว์น้ำในพื้นที่ของเกษตรกรเสียหาย

สงขลา-ภาคประชาชนจังหวัดสงขลา ร่วมกับภาครัฐ เดินหน้ากำจัด “ปลาหมอคางดำ” สัตว์น้ำต่างถิ่น หลังระบาดหนัก ส่งผลให้ผลผลิตสัตว์น้ำในพื้นที่ของเกษตรกรเสียหาย

 

 
จากกรณีที่ กรมประมง ได้ดำเนินการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของ “ปลาหมอคางดำ” สัตว์น้ำต่างถิ่น ที่สร้างความเสียหายต่อผลผลิตในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกร และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศ เนื่องจากเป็นปลาที่มีการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อม ทนต่อการเปลี่ยนแปลงความเค็มของน้ำได้ดี สามารถแพร่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว ซึ่งในปัจจุบันนี้พบแพร่กระจายในแหล่งน้ำหลายจังหวัด ล่าสุดจังหวัดสงขลา พบว่ามีการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำแล้วจำนวนมาก โดยเฉพาะพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ

   

ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ไปพูดคุยกับนายภชรพล สังขไพฑูรย์ ประธานชมรมกุ้งจังหวัดสงขลา พบว่า ขณะนี้ในพื้นที่อำเภอระโนด จ.สงขลา ปลาหมอคางดำระบาดหนัก ดังนั้น ภาคประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านนายอำเภอระโนด ประมงอำเภอระโนด และศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งสงขลา จับมือหารือเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน จึงเดินหน้าสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชน พร้อมประกาศจับ ปลาหมอคางดำ
โดยลักษณะทั่วไป สีลำตัวมีการแปรผัน อาจเป็นสีเงิน, น้ำเงินอ่อน หรือสีเหลือง สีดำ ขึ้นกับสีน้ำ ซึ่งบางครั้งอาจจะไม่ปรากฏจุดสีดังกล่าว ขนาดเล็กไม่พบจุดสีดำ / มีจุดสีดำขนาดใหญ่บริเวณคาง หลังกระพุ้งแก้ม ด้านหลังของฐานครีบหลัง ซึ่งปลาหมอคางดำ อาศัยอยู่ได้ทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย ป่าชายเลน ทะเลสาบ ทะเล เป็นปลาที่มีความทนต่อความเค็มสูง อีกทั้งยังขยายพันธุ์ได้ดีและรวดเร็ว ผสมพันธุ์และวางไข่ได้ตลอดทั้งปี ใช้เวลาฟัก 4-6 วัน ในระยะเวลา 4 เดือน สามารถแพร่พันธุ์ได้นับแสนตัว และปลาหมอคางดำ จัดเป็นปลาที่กินเก่ง โดยสามารถกินได้ทั้งแพลงค์ตอนพืช สัตว์น้ำตัวอ่อนทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นปู ปลา กุ้ง หอย ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสัตว์น้ำพื้นถิ่น จากการตรวจสอบ พบว่าเมื่อปลาหมอคางดำหลุดเข้าไปในบ่อกุ้งของเกษตรกร ภายในเวลาเพียง 2 เดือน สามารถกินกุ้งในบ่อจนหมด

   

ขณะที่ ชาวบ้านในพื้นที่ อ.ระโนด จ.สงขลา เล่าให้ฟังว่า ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ผลผลิตสัตว์น้ำ อย่างกุ้งขาว ปลาต่างๆ ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ตอนแรกคิดว่าสาเหตุมาจากน้ำเสีย ปกติรายได้หลักส่วนใหญ่มาจากการยกยอ จับกุ้ง จับปลา นำมาขายให้กับพ่อค้าคนกลาง วันนึงมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท แต่ตอนนี้ แทบจะหาผลผลิตไม่ได้เลย ทำให้ขาดรายได้ไปมาก จนกระทั่งมาทราบข่าวจากทางประมงจังหวัด ว่ามีปลาหมอคางดำระบาด ซึ่งตนและคนอื่นๆ ก็ยังไม่ทราบว่ามีปลาชนิดนี้ พอลองยกยอ หรือทอดแหดู ก็พบว่าเป็นจริง และพบว่าจำนวนของปลาหมอคางดำ มากกว่าจำนวนปลาชนิดอื่น
ล่าสุดทางเพจเฟซบุ๊ก สำนักงานประมงจังหวัดสงขลา ได้โพสต์ประกาศจับ ปลาหมอคางดำ พร้อมทั้งเชิญชวนประชาชนแจ้งตำแหน่งการพบปลาหมอคางดำ โดยถ่ายภาพ และแจ้งพิกัดที่พบ เพื่อจะได้สกัดการเพิ่มจำนวนของปลาหมอคางดำ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำชนิดอื่น โทร.สายด่วนสำนักงานประมงจังหวัดสงขลา 074-311302

นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา