วิทยุการบินฯ ยันไทยพร้อมเป็นฮับการบินภูมิภาค

วิทยุการบินฯ บริการเดินอากาศไทยพร้อมให้บริการทั้งในสถานการณ์ปกติ และสถานการณ์ฉุกเฉิน  จนได้รับคำชมจากทั่วโลก มั่นใจว่าจะเป็นอีกกำลังสำคัญที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคได้

 

นายสุรพงษ์  ปิยะโชติ  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้รับรายงานกรณีเหตุการณ์เครื่องบินของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ส เที่ยวบินที่ SQ 321 ขอความช่วยเหลือทางการแพทย์และขอลงฉุกเฉินที่สนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามขั้นตอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถนำเครื่องบินลงจอดได้อย่างปลอดภัย พร้อมทั้งประสานหน่วยงานภาคพื้นให้เข้าช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว จนได้รับคำชื่นชมจากหน่วยงานการบินทั้งในประเทศ และต่างประเทศ รวมถึงคำชื่นชมจากรัฐบาลสิงคโปร์และอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลก แสดงให้เห็นว่า บวท. มีความพร้อมในการให้บริการจราจรทางอากาศได้เป็นอย่างดี ทั้งในสถานการณ์ปกติและสถานการณ์ฉุกเฉิน

นอกจากนั้นเรื่องความพร้อมในการศูนย์กลางการบินในภูมิภาคตามนโยบายรัฐบาล บวท. ยังได้เพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพในการให้บริการการเดินอากาศ เพื่อรองรับปริมาณเที่ยวบินให้ได้สูงสุด และเป็นไปตามมาตรฐานสากล พร้อมบูรณาการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนโยบายเรื่องการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค โดยการนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีอันทันสมัย พร้อมทั้งพัฒนาบุคลากรขององค์กรให้มีความรู้ความสามารถ เพื่อผลักดันการขนส่งทางอากาศของประเทศให้เป็นที่ยอมรับ

โดยมุ่งมั่นรักษามาตรฐานการบริการการเดินอากาศของประเทศให้อยู่ในระดับสากล รวมถึงได้เตรียมพร้อมรองรับการให้บริการการเดินอากาศและเพิ่มศักยภาพการให้บริการตามนโยบายของรัฐบาล เรื่องการเปิดดำเนินงาน 24 ชั่วโมง ของสนามบิน เชียงใหม่ เชียงราย และหาดใหญ่ อีกทั้งยังมีแผนการขยายขีดความสามารถในการรองรับปริมาณเที่ยวบิน ได้แก่ การจัดสร้างเส้นทางบินใหม่ ให้เป็นแบบเส้นทางบินคู่ขนาน หรือ Parallel Route เพิ่มเติมขึ้นจากในปัจจุบันที่เป็นแบบเส้นทางบินเดียว หรือ One way route

 

รวมทั้งการออกแบบและพัฒนาโครงสร้างห้วงอากาศและเส้นทางบิน เข้า-ออก สำหรับกลุ่มสนามบินที่มีความซับซ้อนของการจราจรทางอากาศสูง หรือ Metroplex จำนวน 3 กลุ่มสนามบินหลักของประเทศ ได้แก่ กลุ่มที่ 1 สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง อู่ตะเภา กลุ่มที่ 2 สนามบินภูเก็ต กระบี่ อันดามัน (พังงา) และ กลุ่มที่ 3 สนามบินเชียงใหม่ ลำปาง ล้านนา (ลำพูน) ซึ่งจะทำให้โครงสร้างพื้นฐานการเดินอากาศของประเทศไทย    มีศักยภาพสูงมากยิ่งขึ้น รวมถึงมีแผนการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในขณะนี้เข้ามาใช้งาน

 

เช่น ระบบหอบังคับ การบินอัจฉริยะ ระบบเชื่อมต่อข้อมูล การบริหารความคล่องตัวการจราจรทางอากาศ และระบบการเดินอากาศด้วยดาวเทียม เป็นต้น ในขณะเดียวกัน บวท. ยังได้มีการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทหารและพลเรือน    เพื่อเพิ่มศักยภาพการใช้งานห้วงอากาศของประเทศร่วมกัน ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้ง ยังบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานทางการบินต่าง ๆ เพื่อยกระดับภาคการบินของประเทศ พร้อมรองรับการขับเคลื่อนไปสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค