“ไชยา” เปิดแผนระดมทุกฝูงบินฝนหลวง ดับฝุ่น PM2.5 ด้วย “ศาสตร์พระราชา“บันดาลฝนทั่วไทย

ไชยา พรหมา รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดแผนปฏิบัติการฝนหลวง พื้นที่ภาคเหนือประจำปี 2567 เผยระดมทุกฝูงบินน้อมนำศาสตร์พระราชาบันดาลฝนทั่วไทย ดับฝุ่น PM2.5 พร้อมขอความร่วมมือประชาชนงดเผา เพื่อรักษาสภาพอากาศที่ดีในประเทศไทย


วันที่ 11 มกราคม 2567 นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ด้วยความเป็นห่วงของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ต่อปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ได้กำชับมาที่ตนในฐานะกำกับดูแลกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อรับมือกับปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะในทางภาคเหนือ 15 จังหวัด ที่จะมีปัญหาการปัญหาไฟป่าที่เกิดจากธรรมชาติและจากการเผาโดยฝีมือมนุษย์ ที่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคมไปจนถึงเดือนพฤษภาคม ทุกปีจะเกิดปัญหาหมอกควัน ไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5

กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงได้เตรียมมาตรการรับมือสภาพอากาศพื้นที่ภาคเหนือระดมทุกฝูงบินทั่วประเทศเข้าติดตามและเฝ้าระวัง พร้อมกับการปฏิบัติการ และที่ผ่านมากรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้จัดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2567 เป็นต้นไป ช่วยเหลือพื้นที่ภาคเหนือ จำนวน 15 จังหวัด ที่ยังมีหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วจังหวัดระยอง และหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็ว อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2566 เป็นต้นมา ช่วยเหลือพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล


“นอกจากนี้ ยังมีแผนการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง ประจำปี 2567 จำนวน 14 หน่วยปฏิบัติการทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2567 เป็นต้นไป เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงในการเพิ่มความชุ่มชื้นให้พื้นที่ป่าไม้บรรเทาและป้องกันการเกิดไฟป่า ปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 การเติมน้ำต้นทุนให้กับอ่างเก็บน้ำ บรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง สำหรับในพื้นที่ภาคเหนือ ได้กำหนดให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้การบูรณาการร่วมกันระหว่างจังหวัดเชียงใหม่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร

ซึ่งจะใช้เครื่องบินของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ขนาดใหญ่ จำนวน 2 ลำ เครื่องบินขนาดกลาง จำนวน 4 ลำ พร้อมติดตั้งอุปกรณ์พ่นละอองน้ำสู่ชั้นบรรยากาศ เครื่องบินขนาดเล็ก จำนวน 4 ลำ และเฮลิคอปเตอร์ จำนวน 1 ลำ พร้อมชุดกระเช้าตักและโปรยน้ำดับไฟป่า โดยมีแผนดำเนินงานและปฏิบัติการหลักคือ ปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อให้มีฝนตกในพื้นที่ ที่เชื่อว่าจะสามารถบรรเทาผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนได้และยังเป็นการสานต่อพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือประชาชนจากภัยพิบัติทางธรรมชาติด้วย”นายไชยา กล่าวในที่สุด