เชียงใหม่-นายกรัฐมนตรี และคณะเยี่ยมชมต้นแบบการพัฒนาพื้นที่ ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

เชียงใหม่-นายกรัฐมนตรี และคณะเยี่ยมชมต้นแบบการพัฒนาพื้นที่ ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

เมื่อวันเสาร์ ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2566 เวลา 11.15 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย คณะรัฐมนตรี เดินทางเยี่ยมชมต้นแบบการพัฒนาพื้นที่ ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายไพรัตน์  ทับประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ คณะทำงาน เจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ และกลุ่มสตรีอำเภอดอยสะเก็ด ให้การต้อนรับ มอบดอกไม้และพวงมาลัย อย่างอบอุ่น

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ก่อตั้งขึ้นจากพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ.2525 บริเวณลุ่มน้ำห้วยฮ่องไคร้ ซึ่งอยู่บริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนแม่กวง บนพื้นที่ 8,500 ไร่ เพื่อพลิกฟื้นจากสภาพป่าเต็งรังที่เสื่อมโทรมให้เป็นพื้นที่ต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ โดยมีพระราชประสงค์ให้เป็นศูนย์กลางในการศึกษา ทดลอง วิจัย หารูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ภาคเหนือ และเผยแพร่แก่ราษฎรให้สามารถนำไปปฏิบัติได้ด้วยตนเอง โดยมีหลักการคือ “ต้นทางเป็นป่าไม้ ปลายทางเป็นประมง ระหว่างทางเป็นเกษตรกรรม” ดังพระราชดำริที่พระราชทานให้แก่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ทำหน้าที่เสมือน “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต”

จากนั้นนายกรัฐมนตรี และคณะ เดินทางไปยังหอเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2559   เพื่อเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร      ที่ทรงครองราชย์ ครบ 70 ปี รับฟังการบรรยายประวัติศาสตร์การก่อตั้งศูนย์ฯ เยี่ยมชมภาพเสด็จพระราชดำเนินทรงงาน จำนวน 8 ครั้ง ในช่วงปี พ.ศ.2527 – พ.ศ.2536 บันทึกแนวพระราชดำริ และภาพพื้นที่จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ที่จัดแสดงไว้ในลักษณะสื่อผสมที่ทันสมัยและสวยงาม


ต่อมา นั่งรถรางชมวิวไปยังบริเวณเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ แนวป้องกันไฟป่าเปียก (Wet Fire Break) รับฟังบรรยายระหว่างทาง โดย ผู้อำนวยการศูนย์ฯ เกี่ยวกับการขยายผลสำเร็จในการศึกษา ทดลอง วิจัย ของศูนย์ แก่ราษฎรผู้ที่สนใจ เกษตรกร รวมทั้งศูนย์เรียนรู้เครือข่าย และฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับการพัฒนาป่าตามแนวพระราชดำริ อาทิ การปลูกป่า 3 อย่าง เพื่อประโยชน์ 4 ประการ การทำฝายต้นน้ำลำธาร (Check Dam) พร้อมทั้งเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์จากป่า ตลอดจนผลการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงด้านป่าไม้จากอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเจ้าหน้าที่งานป่าไม้ เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช พร้อมทั้งร่วมทำกิจกรรมสร้างฝายต้นน้ำลำธาร ปลูกต้นยางนา ปล่อยไก่ป่า จำนวน 4 ตัว และไก่ฟ้าหลังขาว จำนวน 5 ตัว    คืนสู่ธรรมชาติ

ผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินงานที่ผ่านมาของศูนย์ฯ ได้น้อมนำแนวพระราชดำริ มาศึกษา ทดลอง ปฏิบัติเพื่อการพัฒนา และฟื้นฟูระบบนิเวศป่าไม้ในพื้นที่ โดยการปลูกป่า 3 อย่าง เพื่อประโยชน์ 4 ประการ ในการผสมผสานการอนุรักษ์ ดิน น้ำ และการฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ ควบคู่กับความต้องการด้านเศรษฐกิจ คือ 1.ปลูกไม้กินได้ 2.ปลูกไม้ใช้สอย 3.ปลูกไม้เศรษฐกิจ เพื่อประโยชน์อย่างที่ 4 คือการอนุรักษ์ดินและน้ำ
การทำแนวป้องกันไฟป่าเปียก (Wet Fire Break) ในห้วยฮ่องไคร้ฯ คือ การทำระบบป้องกันไฟไหม้ป่า โดยใช้แนวคลองส่งน้ำและแนวพืชชนิดต่างๆ ปลูกตามแนวคลอง โดยอาศัยน้ำชลประทานและน้ำฝน และปลูกต้นไม้โตเร็วคลุมแนวร่องน้ำ เพื่อให้ความชุ่มชื้นค่อยๆ ทวีขึ้นและแผ่ขยายออกไปทั้งสองร่องน้ำ

ซึ่งจะทำให้ต้นไม้งอกงามและมีส่วนช่วยป้องกันไฟป่าเพราะไฟป่าจะเกิดขึ้นง่ายหากป่าขาดความชุ่มชื้น รวมทั้งการสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นหรือที่เรียกว่า Check Dam เพื่อปิดกั้นร่องน้ำหรือลำธารขนาดเล็กเป็นระยะๆ เพื่อใช้เก็บกักน้ำและตะกอนดินไว้บางส่วน โดยน้ำที่เก็บไว้จะซึมเข้าไปสะสมในดิน ทำให้ความชุ่มชื้นแผ่ขยายเข้าไปทั้งสองด้านกลายเป็นป่าเปียก ด้วยเหตุนี้แนวพระราชดำริป่าเปียก จึงนับเป็นทฤษฎีการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าไม้โดยใช้ความชุ่มชื้นเป็นหลักสำคัญที่จะช่วยให้ป่าเขียวขจีอยู่ตลอดเวลา ไฟป่าจึงเกิดได้ยาก เป็นการพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ที่สามารถทำได้ง่ายและได้ผลดี

ด้านอุตุนิยมวิทยา อุณหภูมิเฉลี่ยมีแนวโน้มลดลงแต่ปริมาณความชื้นสัมพันธ์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในขณะที่อัตราการระเหยน้ำมีแนวโน้มลดลง ด้านอุทกวิทยา ฝายต้นน้ำสามารถลดปริมาณการไหลหลากของน้ำท่าและยืดระยะเวลาการไหลของน้ำท่าในห้วยที่มีการสร้างฝายชะลอน้ำ ด้านความหลากหลายของชนิดพรรณไม้ พบว่า โครงสร้างป่าเต็งรังเดิม มีพรรณไม้ 35 ชนิด และป่าเบญจพรรณ มีจำนวน 46 ชนิด ปัจจุบันพบว่าชนิดพรรณไม้ในป่าเต็งรังเพิ่มขึ้นเป็น 46 ชนิด ในขณะที่ป่าเบญจพรรณเพิ่มขึ้นเป็น 65 ชนิด ด้านโครงสร้างเรือนยอดไม้    ในป่าเต็งรัง แบ่งได้เป็น 4 ระดับ คือไม้เรือนยอดบนมีความสูง 15 เมตร เรือนยอดรอง มีความสูง 10 – 15 เมตร   ชั้นไม้พุ่มสูง 5 – 10 เมตร ชั้นลูกไม้ต่ำกว่า 5 เมตร ส่วนป่าเบญจพรรณแบ่งได้ 3 ระดับ คือ ไม้เรือนยอดบน   มีความสูงมากกว่า 20 เมตร เรือนยอดรอง สูง 10 – 20 เมตร และ ไม้ชั้นล่าง ต่ำกว่า 10 เมตร ในขณะที่     ป่าผสมเต็งรัง – เบญจพรรณ มีชั้นเรือนยอดเพียง 2 ระดับเท่านั้น คือไม้ชั้นเรือนยอดบนมีความสูง 15 – 25 เมตร ไม้ชั้นเรือนยอดรองสูง 10 – 15 เมตร

หลังจากที่ดิน น้ำ ป่ามีความอุดมสมบูรณ์แล้ว จึงได้ทำการศึกษาและพัฒนาในเรื่องของการเกษตร ประมง ปศุสัตว์ และการส่งเสริมอาชีพ เพื่อให้เป็นศูนย์ที่สมบูรณ์แบบ มีระบบบริการเบ็ดเสร็จที่จุดเดียว (One Stop Service) ให้ราษฎรได้รับความสะดวก ตลอดจนสร้างสิ่งที่ดีและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อราษฎร   ซึ่งทางศูนย์ได้ทำงานในรูปแบบบูรณาการกับหน่วยงานที่ร่วมสนองแนวพระราชดำริ จำนวน 13 หน่วยงาน

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ว่า การบริหารจัดการน้ำของภาคเหนือ ยังคงน่าเป็นห่วงแต่เชื่อว่าจะมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการอุปโภค-บริโภค ส่วนการกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่นั้น หลังจากการประกาศยกเว้นวีซาให้กับนักท่องเที่ยวจีน พบว่ามีการบุ๊กกิ้งการเดินทางเพิ่มมากขึ้น และยังมีแผนเพิ่มจำนวนประเทศอื่นๆ ที่ยกเว้นวีซ่าเพิ่มเติมอีกด้วย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูล ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กำชับไปยังตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้กวดขันด้านความปลอดภัย อำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มที่

ขณะเดียวกัน ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่เป็นปัญหาใหญ่สำหรับประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ ทางรัฐบาลได้มีแผนจะเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านเรื่องการเผาป่าเพื่อแก้ปัญหาแล้ว คาดว่าจะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนได้ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวเพิ่มเติม ถึงการปรับลดราคาน้ำมันเบนซิน ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาแต่ยืนยันว่าจะหาแนวทางการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุด