เชียงใหม่- “ฟาร์มอัจฉริยะ” นำเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาพัฒนาสินค้าเกษตรไทยให้เข้าสู่มาตรฐานฮาลาล พร้อมยกระดับสมุนไพรไทยสู่สากล

เชียงใหม่- “ฟาร์มอัจฉริยะ” นำเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาพัฒนาสินค้าเกษตรไทยให้เข้าสู่มาตรฐานฮาลาล พร้อมยกระดับสมุนไพรไทยสู่สากล

 


ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) สำนักงานเชียงใหม่ จัดทำโครงการ “การพัฒนาระบบควบคุมฟาร์มอัจฉริยะในโรงเรือน โดยใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่แบบยั่งยืน ภาคเหนือตอนบน 1” เน้นการอบรมเชิงปฏิบัติการจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายด้านให้กับเกษตรกร พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่กลุ่มเกษตรกรภาคเหนือตอนบน 1 เชียงใหม่, ลำพูน, ลำปาง, แม่ฮ่องสอน และพัฒนาเกษตกรไทยให้เข้าสู่มาตรฐานฮาลาล เพื่อพัฒนาสมุนไพรไทยให้มีมูลค่าสูงขึ้น และโปรโมทให้ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศได้รู้จัก


โดยในการจัดทำโครงการฯ ในครั้งนี้ ได้ความร่วมมือจากภาคการศึกษา อาทิ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยแม่โจ้, มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และมหาวิทยาลัยพะเยา ที่ช่วยในการฝึกอบรม และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อพัฒนาระบบควบคุมฟาร์มอัจฉริยะในโรงเรือน ใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ ช่วยแก้ไขปัญหา และลดความเสี่ยงด้านการจัดการปลูกพืชสมุนไพรในโรงเรือน ผลิตผลทางการเกษตรจากฟาร์ม จัดเป็นพืชปลอดภัยตามมาตรฐาน HAL-GAP ที่บูรณาการมาตรฐานเกษตรปลอดภัย และมาตรฐาน Halal ตามหลักศาสนบัญญัติอิสลาม
“ฟาร์มอัจฉริยะ” เป็นการประยุกต์เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อการปลูกพืชสมุนไพรในรูปแบบเกษตรอัจฉริยะ เป็นการนำเอาระบบเฝ้าระวัง (monitoring) และระบบควบคุม (control) ปัจจัยต่างๆ ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช

เช่น การใช้น้ำ, อุณหภูมิ และความชื้น เป็นการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ loT (Internet of Things) โดยการติดตั้งอุปกรณ์เซ็นเซอร์ (sensor) และอุปกรณ์ควบคุม (controller) ภายในโรงเรือน และส่งข้อมูลไปยังเซิร์ฟเวอร์ โดยเกษตรกรหรือผู้ใช้งานสามารถสั่งการ และเรียกดูการรายงานผลในรูปแบบข้อมูล และกราฟผ่านหน้าเว็ปไซต์ ทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิต ในกระบวนการเพาะปลูก และเพิ่มผลผลิตให้สามารถส่งออกไปสู่ตลาดได้เพียงพอ ต่อความต้องการของตลาดที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามชุมชน
ทั้งนี้โครงการ “การพัฒนาระบบควบคุมฟาร์มอัจฉริยะในโรงเรือน โดยใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่แบบยั่งยืน ภาคเหนือตอนบน 1” ได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับพืชสมุนไพรในท้องถิ่นกว่า 22 ชนิด แบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือ ด้านการสร้าง Innovation, ด้านการสร้าง Product Prototype และ การส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้าน Commercial โดยมีรายละเอียดแต่ละผลิตภัณฑ์ดังนี้


ด้าน Innovation Product Development ทั้งหมด 7 ผลิตภัณฑ์ อาทิ
1. Plant Cosmetics Color (การสกัดสีจากพืชเพื่อการทำสกินแคร์และเครื่องสำอาง)การสกัดสีจากพืช 5 อย่าง ได้แก่ ฝาง, ใบมะม่วง, อัญชัน, หมากแดง, ฮ่อม ด้วยนวัตกรรมการสกัดด้วยน้ำจนได้ผลสีที่มีคุณภาพสูง และเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สกินแคร์ และเครื่องสำอาง
2. Plant Probiotic(การทำโปรไบโอติกส์จากพืช)การหมักจุลินทรีย์จากธรรมชาติกับผลไม้ และพืชพื้นถิ่น (ข้าว, ลิ้นจี่, สัปปะรด) ให้ได้โปรไบโอติกส์ จากธรรมชาติที่มีประโยชน์อย่างมาก สามารถนำไปเป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง ฮาลาล (Halal Probiotic Skincare) ได้ และสามารถใช้เป็นส่วนผสมในการบำรุงผิวได้ หรือที่เรียกว่า “Probiotics Skincare”
3. Plant encapsulation (การเอ็นแคปซูเลชั่นสารสกัดจากพืช)
ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และธรรมชาติ รวมถึงส่วนผสมจากพืชหลายชนิด อาทิ โพลีฟีนอล, น้ำมัน, น้ำมันระเหยง่าย, วิตามิน และสารสกัดจากสมุนไพรต่างๆ ถูกนำมาใช้ในเครื่องสำอางสมุนไพร ด้วยเทคโนโลยี encapsulationโดยผู้พัฒนานำสารสกัดจาก ขิง และโรสแมรี่ มา coating ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในผลิตภัณฑ์กลุ่มดูแลหนังศรีษะ และเส้นผม ได้อย่างตรงจุดมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


4. Essential oil by Microwave Extraction (การสกัดน้ำมันหอมระเหยด้วยคลื่นไมโครเวฟ)สมุนไพรพื้นบ้านของไทย อาทิ ขิง, ข่า, ตะไคร้หอม, มะกรูด, โหระพา และ กะเพรา มีกลิ่นเป็นเอกลักษณ์ หาได้ง่ายตามท้องตลาด ราคาถูก โดยสามารถนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย ด้วยคลื่นไมโครเวฟ (Microwave Extraction)
5. Plant food Color (การสกัดสีจากพืชเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและยา)การสกัดสีจากพืช 4 ชนิด อาทิ ดอกอัญชัน (สีน้ำเงิน), ฟักทอง (สีเหลือง), บีทรูท (สีแดง), ใบเตย (สีเขียว) โดยใช้เทคนิค “Encapsulation of colorants by natural polymers” ด้วยเครื่อง Spray Dryer เพื่อให้ได้สีที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมยา ซึ่งสารสีนี้มีคุณค่าทางอาหาร
6. Quranic Energy Bar (ขนมอบกรอบให้พลังงาน ผลไม้ผสมธัญพืช) ผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นเพื่อกลุ่มคนที่รักสุขภาพ ประกอบด้วยผลไม้ที่มีการกล่าวถึงในอัลกุรอาน คือ อินทผลัม, ผลมะเดื่อ, องุ่น, เทียนดำ (ฮับบะตุเซาดะห์), กล้วย, น้ำผึ้ง, ซีเรียล และพืชตระกูลถั่ว ส่วนผสมทั้งหมดมีศักยภาพสูงมากในการทำหน้าที่เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ


7. Refill Station ธุรกิจในรูปแบบ Refill Station เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่จะช่วยลดปัญหาขยะพลาสติก เพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม และช่วยลดภาวะโลกร้อน โดยส่งเสริมให้ผู้บริโภคนำบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ และนำมาใช้ซ้ำ ผ่านรูปแบบการใช้บริการ รีฟิว – Refill ได้แก่ เจลอาบน้ำจากน้ำมันหอมระเหยมะลิฯลฯ
ด้าน Prototype Development ทั้งหมด 5 ผลิตภัณฑ์ อาทิ
1. BUTTERNUT SQUASH FLOUR (เส้นพาสต้าจากแป้งบัตเตอร์นัทสควอช)ผลิตจากผลบัตเตอร์นัทสควอช โดยแปรรูปให้เป็นแป้งสควอช และเพิ่มมูลค่าโดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นเส้นพาสต้าสควอช ซึ่งเป็นแหล่งโภชนาการที่ดีและมีประโยชน์อย่างมากต่อสุขภาพ และเป็นแป้งที่อุดมด้วยแร่ธาตุ แป้งสควอชที่อุดมด้วยสารอาหารเป็นแหล่งอาหารที่ยอดเยี่ยมของแร่ธาตุ เช่น ทองแดง, แคลเซียม, โพแทสเซียม และแมกนีเซียม ซึ่งเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อสุขภาพของหัวใจ และการฟื้นฟูกล้ามเนื้อ


2. Hydrosol Drinking Water (น้ำกลั่นจากพืชใช้สำหรับบริโภค) น้ำกลั่นจากพืชทั้ง 7 ชนิด (สเปียร์มิ้นต์, เปเปอร์มิ้นต์, แบลคมิ้นต์, เจเเปนนิสมิ้นต์, ข้าว, ตะไคร้หอม, โรสแมรี่) สามารถนำไปเป็นวัตถุดิบในการบริโภค โดยเรียกชื่อน้ำกลั่นนี้ว่า ไฮโดรโซล Hydrosol หรือ น้ำสกัดน้ำมันหอมระเหย ที่สกัดด้วยไอน้ำจะผลิตออกมาได้ 2 ส่วน คือ ส่วนที่ไม่ละลายน้ำ (น้ำมันหอมระเหย) นิยมนำไปใช้เป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิว, โทนเนอร์, เครื่องสำอาง, น้ำหอม, สมุนไพร, ครีมรักษาแผล และ ส่วนที่ละลายน้ำ ที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ที่มีความเข้มข้นน้อยกว่าน้ำมันหอมระเหย
3. Extra Booster Lotion (เอ็กซ์ตรา บูสเตอร์ โลชั่น)
ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางประเภทโลชั่นบำรุงผิว หรือสกินแคร์บำรุงผิวกาย มีความจำเป็นอย่างมากสำหรับชาวตะวันออกกลาง ผลิตภัณฑ์นั้นจะต้องเข้าไปช่วยดูแลให้ผิวพรรณขาว สว่าง กระจ่างใสขึ้น ลดการหมองคล้ำ เนื่องจากผู้หญิงในตะวันออกกลางพื้นฐานชอบดูดีไร้ที่ติ การสร้างผิวที่ไร้ที่ติและสีผิวสม่ำเสมอ ช่วยสร้างความมั่นใจได้เป็นอย่างมาก


4. Suwirun Hand Cream (โลชั่นทามือพัฒนาจากสารสกัดชาจากไร่ สุวิรุณห์) สุวิรุฬห์ ชาไทย หนึ่งในไร่ชาคุณภาพของจ.เชียงราย เชี่ยวชาญด้านชาไทยมากว่า 40 ปี เน้นหลัก วิถีเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมีภายใต้คอนเซปต์ Thailand Premium Organic Tea ได้รับการรับรองเป็นมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ทั้งในประเทศไทย สหรัฐอเมริกา และยุโรป ให้เป็นไร่ชาออร์แกนิก 100% ที่ไร่มีการปลูกชา 2 สายพันธุ์ คือ ชาอัสสัม และ ชาอู่หลง
5. Hemp Protein Bar ของว่างระหว่างวัน ที่มีแหล่งอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน ถูกต้องตามมาตรฐานอาหาร สะอาด รสชาติถูกปาก และเนื้อสัมผัสดี มีส่วนผสมหลักๆ เช่น เมล็ดกัญชง เมล็ดอัลมอนด์ และช็อกโกแลตชิป ช่วยเพิ่มพลังก่อน หรือหลังออกกำลังกาย มีโปรตีนจากกัญชงสามารถย่อยได้ดี เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้บริโภคที่แพ้อาหารง่าย
ด้าน Commercial Development ทั้งหมด 10 ผลิตภัณฑ์ อาทิ
1. Flower snack (ดอกอัญชัญอบกรอบปรุงรส)ผลิตภัณฑ์ดอกไม้อบกรอบปรุงรส มาจากแนวคิดที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตดอกอัญชัน แปรรูปโดยการอบแห้ง และปรุงรส มี 3 รสชาติ อาทิ ต้มยำ, บาร์บีคิว และรสธรรมชาติ
2. Wagyu Beef Tallow Thai Basil (น้ำมันวากิวผสมกะเพรา) การผสมผสานระหว่างไขมันจากเนื้อวากิว กับใบกะเพราไทยสด ทำให้เกิดน้ำมันวัวผสมกะเพรา ที่สามารถนำไป ทอด, เจียว, ผัด ที่ทำให้รสชาติอาหารอร่อยมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยในการควบคุมน้ำหนัก และช่วยในการลดไขมันในร่างกาย


3. Nail Serum (เนลเซรั่ม)ผลิตภัณฑ์บำรุงเล็บ โดยมีข้าวหอมมะลิ, น้ำมันงาขี้ม้อน, น้ำมันเมล็ดชา เป็นส่วนประกอบ สารสกัดจากข้าวหอมมะลิ (Jasmine Rice Extract) ที่จะช่วยดูแลบำรุงเล็บให้แข็งแรง, หน้าเล็บเงางาม, ดูแลผิวพรรณสว่างสดใส, ฟื้นฟูผิวให้กระจ่างใส, ช่วยบำรุงผิว, เพิ่มความชุ่มชื่น, ถนอมผิวไม่ให้แห้งกร้าน ทำหน้าที่ Anti-Oxidant ได้เป็นอย่างดี
4. Rice Mist สเปร์ยน้ำแร่ที่อุดมด้วยสารสกัดมาจากข้าวหอมมะลิ 100% จากฟาร์มเกษตรอินทรีย์ในจ.เชียงใหม่ “พร้าว กรีน วัลเล่ย์ ฟาร์มสเตย์ – Phrao Green Valley Farmstay) ที่ปลูกข้าวตามหลักมาตรฐาน GMP ช่วยฟื้นฟูผิวหน้าในเวลากลางคืน และเพื่อช่วยให้ผิวรู้สึกผ่อนคลายระหว่างวัน ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยปกป้องผิวจากมลภาวะ และอนุมูลอิสระต่างๆ อุดมด้วยสาร Anti-Oxidant, Vitamins C และ E เพื่อเติมน้ำให้ผิวเนียนนุ่มชุ่มชื่น
5. Shower Gel Mint บ้านบัวบาน (Baan Bua Bahn) นำเอาพืชสมุนไพรจำพวก มิ้นต์ ที่ปลูกภายในสวนที่บ้านมาแปรรูปด้วยการทำเป็น Mint Shower Gel มาสกัดเพื่อให้ได้ ไฮโดรโซล (Hydrosol) หรือน้ำมันหอมระเหย ที่สกัดด้วยไอน้ำและนำไปผสมกับน้ำหอมแต่งกลิ่น จนทำให้เกิดเป็น Organic Freshly Squeezed Mint Shower Gel ภายใต้แบรนด์ Baan Bua Bahn Collection Sense of Nature
6. Hemp Oil น้ำมันกัญชง (CBD Oil, Hemp Oil) หรือ น้ำมันเมล็ดกัญชง (Hempseed Oil) เป็นน้ำมันพืชสกัดจากเมล็ดกัญชง โดยการสกัดเย็นที่ต้องผ่านการควบคุมและผ่านมาตรฐานตามที่กำหนด เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และต้องมีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol: THC) และสารแคนนาบิไดออล (Cannabidiol: CBD) ในจำนวนที่น้อยมาก สามารถนำไปแตกเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้อีก อาทิ น้ำมันนวดกัญชง, ครีมบำรุงผิวหน้าจากกัญชง, น้ำหอมกัญชง, สบู่กัญชง และเซรั่มกัญชง
7. ชามะลิ (Jasmine Tea) ชามะลิ คือ ชาที่มีรสชาติหวาน และกลิ่นหอมละมุนคล้ายกับน้ำหอมจากธรรมชาติ ซึ่งชามะลิมาจากการนำใบชาชนิดหนึ่งมาผสมกับดอกมะลิ ช่วยในเรื่อง การผ่อนคลาย และลดความเครียดได้เป็นอย่างดี จึงได้พัฒนาชามะลิ ด้านบรรจุภัณฑ์ ด้านสี กลิ่น รส ให้เป็นสินค้าฮาลาลส่งออกสู่ตลาดฮาลาลสากล
8. Seven Day tea (ชา 7 สี 7 วัน) ชาที่มีส่วนผสมทั้งหมดเป็นวัตถุดิบของไร่ชา สุวิรุฬห์ ออร์แกนิค 100% ซึ่งได้พัฒนา และรวบรวมชา รวมไปถึงวัตถุดิบจำพวกสมุนไพรอื่นๆ ที่ให้สีตามวันทั้ง 7 วัน พัฒนาให้มีความน่าสนใจ จนสามารถส่งออกสู่ตลาดฮาลาลสากลได้
9. กล้วยตากธรรมชาติ กล้วยตาก หวานฉ่ำ ตากด้วยแดดธรรมชาติ อร่อยแบบสายคลีนเป็นของกินเล่นที่อร่อย และมีประโยชน์ต่อร่างกาย ผู้พัฒนาจึงได้พัฒนาออกแบบรรจุภัณฑ์ให้กับกล้วยตากธรรมชาติ ให้สามารถยืดอายุการเก็บรักษาให้นานขึ้น
10. กล้วยตากพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นการเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบในท้องถิ่น ด้วยการพัฒนาให้เกษตรกรนำไปต่อยอด แปรรูป และลดต้นทุนการผลิต แถมยังสามารถสร้างรายได้ให้กับกลุ่มเกษตรกร จากกล้วยราคาหวีละ 10-12 บาท เพิ่มเป็น 100 บาท ด้วยการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคในต่างประเทศได้ และสร้างตลาดในต่างประเทศให้กับผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปให้มีมูลค่าสูงได้อีกด้วย

 

นภาพร/เชียงใหม่