อยุธยา- จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รับมอบวงเวียน ตามโครงการ “วงเวียนช่วยชีวิต” ทางแยก ทล 3477 กม. จากบริษัทกลางฯ เพื่อช่วยลดความเร็วลดอุบัติเหตุได้ 40-50%

อยุธยา- จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รับมอบวงเวียน ตามโครงการ “วงเวียนช่วยชีวิต” ทางแยก ทล 3477 กม. จากบริษัทกลางฯ เพื่อช่วยลดความเร็วลดอุบัติเหตุได้ 40-50%

วันที่ 22 พฤษภาคม 2566 นายไพรัตน์ เพชรยวน รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานในพิธีรับมอบวงเวียน ตามโครงการ “วงเวียนช่วยชีวิต” ณ บริเวณทางแยก ทล 3477 กม. 11 + 200 หมู่ที่ 1 ตำบลเกาะเรียน อำเภอพระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้รับเกียรติจาก พ.ต.อ.นฤนาท พุทไธสง รอง ผบก.ตร.ภ.จว.พระนครศรีอยุธยา นายศักราช อัมวงษ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะเรียน ตัวแทน ปภ.จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หัวหน้าส่วนราชการ ร่วมพิธี โดยมี นายเดชาโซติ แสงศรี ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารภาคกลางและตะวันออกบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด เป็นผู้กล่าววัตถุประสงค์ของการส่งมอบในครั้ง


ด้วยสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทย มีอัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่จะเกิดจากพฤติกรรมของผู้ใช้รถใช้ถนนที่ปราศจากความระมัดระวัง รวมถึงสภาพรถ สภาพถนน และสภาพสิ่งแวดล้อม ที่เป็นปัจจุบันก่อให้เกิดอุบัติเหตุจากศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน มีการรายงานผู้เสียชีวิตจำนวน 15,744 ราย และมีผู้บาดเจ็บสูงถึง 1,014,266 คน และจากข้อมูลผู้ประสบภัยจากรถ ที่มาใช้สิทธิที่บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ได้เก็บข้อมูลของทายาทกลุ่มผู้เสียชีวิต พบว่าการเกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่ มีผู้เสียชีวิตในถนนทางตรง สูงถึง 63 % รองลงมาคือ ทางโค้ง 18% และทางแยก 11% บริเวณวงเวียนตัวเลขเป็น 0 บริษัทกลางฯ จึงเกิดแนวคิด จัดทำโครงการ “วงเวียนช่วยชีวิต” โดย “วงเวียน” ซึ่งเป็นเครื่องมือในการจัดการ จุดเสี่ยง จุดอันตราย เพื่อให้ชุมชน ท้องถิ่น ได้เรียนรู้การมีส่วนร่วมในการเพิ่มความปลอดภัยของถนนของชุมชน ด้วยการปรับปรุงบริเวณทางแยกอันตรายของชุมชนให้เป็น “วงเวียน” เพื่อลดความเร็วและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ


ด้าน นายไพรัตน์ เพชรยวน รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า สำหรับปีนี้ทางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พ.ศ.2566 ขึ้น โดยมีเป้าหมายที่จะลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ให้ลดลงจากเดิมอย่างน้อย 5% (เสียชีวิตไม่เกิน 232 คน/ปี หรือเท่ากับ 28.29 คน/ แสนประชากร) อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนนโยบายในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ต้องอาศัยปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการ ทั้งการบริหารงานแบบบูรณาการที่ต้องให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม กลไกการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการพัฒนาระบบงานสนับสนุนให้มีความเข้มแข็ง

โดยเฉพาะการนำแผนปฏิบัติการด้านความปลอดภัยทางถนนในระดับจังหวัด อำเภอ และท้องถิ่น ไปปฏิบัติให้เกิดความชัดเจนเป็นรูปธรรม และสอดคล้องกับข้อเท็จจริงในพื้นที่ โดยวงเวียนเป็นวิศวกรรมรูปแบบหนึ่งที่ใช้ลดความเร็วของผู้ขับขี่ โดยเฉพาะบริเวณทางแยกที่ไม่มีสัญญาณไฟจราจร หรือแยกวัดใจ ซึ่งมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุที่มีความรุนแรงค่อนข้างสูง ด้วยรถที่แล่นมาด้วยความเร็วสูงทั้งสองทาง ซึ่งผู้ขับขี่จะไม่มีทางรู้เลยว่าฝ่ายใดจะลดความเร็วแต่ “วงเวียน” จะสามารถบังคับพฤติกรรมของผู้ขับขี่ให้ลดความเร็วได้โดยอัตโนมัติ อีกทั้งยังพบว่า “วงเวียน” ช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุได้ถึง 40 – 50 %

 

เดชา อุ่นขาว รายงานจากอยุธยา