เชียงใหม่-องคมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรอง และขับเคลื่อนการปฏิบัติงานตามนโยบาย ครั้งที่ 8/2566 และ เปิดงาน “ดี อร่อย..กับผลิตภัณฑ์ชาโครงการหลวง”

เชียงใหม่-องคมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรอง และขับเคลื่อนการปฏิบัติงานตามนโยบาย ครั้งที่ 8/2566 และ เปิดงาน “ดี อร่อย..กับผลิตภัณฑ์ชาโครงการหลวง”

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 เวลา 09.00 น. นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง และ พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เดินทางไปเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองและขับเคลื่อนการปฏิบัติงานตามนโยบาย ครั้งที่ 8/2566 ณ ห้องประชุมชั้น 1 อาคารปฏิบัติการ 1 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร โครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ จังหวัดเชียงใหม่

ในครั้งนี้ได้มีการรายงานผลความก้าวหน้าการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอด้านการส่งเสริมอาชีพทดแทนฝิ่น และการทำไร่เลื่อยลอย ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในพื้นที่ เกิดผลดีเห็นเป็นรูปธรรมในขณะนี้ ได้แก่ การส่งเสริมเสาวรส โดยมูลนิธิโครงการหลวงได้คัดเลือกพันธุ์ที่ผ่านการวิจัยทดสอบแล้วว่าเหมาะสมกับสภาพพื้นที่และสภาพอากาศ ได้แก่ พันธุ์อาร์พีเอฟ 1 และพันธุ์ไทนุง ซึ่งขยายพันธุ์ด้วยวิธีการผลิตต้นกล้าปลอดเชื้อไวรัส ทำให้ผลผลิตดีและมีคุณภาพ ใช้เวลาในการปลูกจนถึงออกผลประมาณ 24 สัปดาห์  ระบบการปลูกยังไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ด้วยการปลูกบนค้างไม้ไผ่ วัสดุธรรมชาติหาได้ในพื้นที่

ปัจจุบันมีเกษตรกรปลูกเสาวรสจำนวน 86 ราย สร้างมูลค่ากว่า 1.2 ล้านบาท นอกจากนี้ยังต่อยอดสู่การแปรรูปเสาวรสเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยกลุ่มแม่บ้านผลิตเป็นเยลลี่กัมมี่เสาวรส เปลือกเสาวรส 3 รส และเมล็ดเสาวรสจี๊ดจ๊าด เริ่มจำหน่ายในแหล่งชุมชนและตลาดใกล้เคียง และขณะนี้ยังมีการทดสอบไม้ผลอื่น ๆ ที่ให้ผลผลิตเร็ว จำหน่ายได้ง่าย ได้แก่ มะละกอ ฝรั่ง เพื่อเป็นทางเลือกแก่เกษตรกร สนองในพระราชปณิธานประเทศชาติมั่งคง ประชาชนมีความสุข ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสืบสานแนวทางพระราชทานภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

บ่ายของวันเดียวกัน พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ได้ตรวจเยี่ยมโรงผลิต ชีวภัณฑ์ในบริเวณศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ ด้วยนโยบายการปลูกพืชที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโครงการหลวงจึงส่งเสริมชีวภัณฑ์ทดแทนสารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช โดยขณะนี้สามารถผลิตชีวภัณฑ์ฟีโรด้วงหมัดผักได้จำนวนมากเพียงพอที่จะจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไป ในช่องทางออนไลน์โครงการหลวง และมีจำหน่ายที่ร้านโครงการหลวงสาขาคำเที่ยง เชียงใหม่

จากนั้นองคมนตรีได้เป็นประธานเปิดงาน “ดี อร่อย..กับผลิตภัณฑ์ชาโครงการหลวง” ณ ห้องประชุม ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ ด้วยมูลนิธิโครงการหลวงเริ่มศึกษาวิจัย และส่งเสริมการปลูกชามาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2539 เพื่อเป็นพืชทางเลือกแก่เกษตรกรบนพื้นที่สูง ทดแทนการปลูกฝิ่นและการทำไร่เลื่อนลอย ด้วยการดำเนินงานที่ครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ กระบวนการผลิตในระดับแปลงผ่านการรับรองมาตรฐานสากลทั้ง GAP และเกษตรอินทรีย์  กลุ่มพันธุ์ชาจีนที่เกษตรกรปลูกในปัจจุบัน ได้พัฒนากระบวนการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชาต่าง ๆ  รวมทั้งยังพัฒนาการแปรรูป“ชาอัสสัม”  หรือ “ชาป่า” ซึ่งเป็นชาพื้นเมืองที่ปลูกร่วมกับป่าทางภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งมีปัญหาราคาตกต่ำ ผลจากการวิจัยพัฒนาได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ ได้แก่ ชาเขียวอัสสัมแบบอบไอน้ำ ที่มีจุดเด่น และความแปลกใหม่ พร้อมยังยังส่งผลให้ผืนป่าได้รับการอนุรักษ์

ปัจจุบันโครงการหลวงส่งเสริมเกษตรกรปลูกชาจำนวนกว่า 200 ราย ในพื้นที่ 680 ไร่ ชาของเกษตรกรได้พัฒนาเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์กว่า 5 ชนิด ได้แก่ ชาขาว ชาเขียว ชาอู่หลง ชาแดง และชาดำ และยังมีการศึกษาวิจัยชาสู่ต้นแบบผลิตภัณฑ์อื่น อาทิ เครื่องดื่มชาเขียวผสมเม็ดบีดส์ จากชาเขียวสายพันธุ์อัสสัม มีคุณประโยชน์ในการต้านอนุมูลอิสระ ลูกอมชนิดนุ่มผสมสารสกัดคาเทชินจากชาเขียว ที่มีสารประกอบสำคัญที่ช่วยลดการอักเสบ และผลิตภัณฑ์ชาไทยจากชาดำ ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพจากใบชาสด ชานมเบลนด์ ซึ่งผสมผสานชาจีน และชาอัสสัมอินเดีย

งาน “ดี อร่อย กับผลิตภัณฑ์ชาโครงการหลวง” ในครั้งนี้ โครงการหลวงได้นำผลิตภัณฑ์ชาแบบต่างๆ มาเสนอแก่ผู้ประกอบการ  รวมทั้งมีการเสวนาให้ความรู้ด้านชาในมิติต่าง ๆ นอกจากนี้ยังจะมีการรวบรวมองค์ความรู้ด้านชาเผยแพร่ผ่านช่องทางต่าง ๆ รวมถึงผ่าน Royal Project Tea House ที่กำลังอยู่ระหว่างการจัดตั้ง เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ และเผยแพร่ชาโครงการหลวง ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากยิ่งขึ้น

สำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุดในขณะนี้ คือ “ชาสกัดเย็นพร้อมดื่ม” หรือ Cold brew จากยอดชาคุณภาพผ่านกระบวนการสกัดเย็น ช่วยรักษาคุณประโยชน์ในใบชาตามธรรมชาติ พร้อมให้รสชาติหอม มีกลิ่นเอกลักษณ์ของชา โดยไม่มีการปรุงแต่งกลิ่น สี รสชาติ เหมาะอย่างยิ่งสำหรับสภาพอากาศร้อนในขณะนี้ นอกเหนือจากประโยชน์ที่ได้รับจากการดื่มชา ยังเป็นการสนับสนุนเกษตรกรให้มีอาชีพที่มั่นคง สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง และสนับสนุนการรักษาสิ่งแวดล้อม ความอุดมสมบูรณ์ของป่าต้นน้ำควบคู่กันไป

นภาพร/เชียงใหม่