กาฬสินธุ์เกษตรกรเฮขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้ราคาสูงได้กำไร

เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระ ฯลงพื้นที่ให้กำลังใจและเก็บเกี่ยวผลผลิตของเกษตรกร โครงการต้นแบบปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยรับซื้อสูงกว่าราคากลางถึง กก.ละ 11 บาท สร้างงาน สร้างรายได้ดีกว่าปลูกข้าวนาปรังและพืชชนิดอื่น

เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 10 พฤษภาคม 2566 ที่บริเวณแปลงปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ นางธนาพร ภูยาดาว รองนายก อบต.ดอนสมบูรณ์ บ้านดอนยานาง ต.ดอนสมบูรณ์ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นายณัฐพงศ์ ศิริชนะ เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ พร้อมด้วยนายสุวิทย์ คำดี ที่ปรึกษาประธานกรรมการสถาบันปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และคณฯะ ลงพื้นที่ให้กำลังใจและเก็บเกี่ยวผลผลิตของเกษตรกร โครงการต้นแบบปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยมีนายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผวจ.กาฬสินธุ์ นายปรัชญา อุ่นเพชรวรากร รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ นายสันติภาพ โทนหงสา เกษตร จ.กาฬสินธุ์ นายเอกรัตน์ มิสา นายอำเภอยางตลาด พร้อมด้วยส่วนราชการสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ เกษตรกร ร่วมงานเป็นจำนวนมาก


นายณัฐพงศ์ ศิริชนะ เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ กล่าวว่าจากภาวะอาหารเริ่มขาดแคลนทางสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ จึงได้ร่วมกับบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โปรดิ๊วส จำกัด และสำนักงานเกษตรรวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมเกษตรกรปลูกข้าวโพดสำหรับเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นพืชทางเลือกใหม่ อายุสั้น โดยเฉพาะใช้น้ำน้อย ผลผลิตสูง มีประกันราคาและแหล่งรับซื้อจัดเจน สำหรับพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ได้ดำเนินโครงการต้นแบบปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ 8 อำเภอ จำนวน 128 ราย พื้นที่ 693 ไร่ โดยฤดูกาลผลิตปีนี้เริ่มเก็บเกี่ยว ตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค.66 เป็นต้นมา


“ประกอบด้วย อ.เมืองกาฬสินธุ์ 17 ราย พื้นที่ 70 ไร่, อ.นามน 42 ราย พื้นที่ 171 ไร่, อ.ร่องคำ 24 ราย พื้นที่ 125 ไร่, อ.ยางตลาด 19 ราย พื้นที่ 211 ไร่, อ.สหัสขันธ์ 8 ราย พื้นที่ 32 ไร่, อ.หนองกุงศรี 10 ราย พื้นที่ 38 ไร่, อ.ห้วยเม็ก 7 ราย พื้นที่ 31 ไร่ และ อ.เขาวง 1 ราย พื้นที่ 15 ไร่ ราคากลางรับซื้อที่ กก.ละ 8 บาท ขณะที่แหล่งรับซื้อให้ราคาสูงถึง กก.ละ 11 บาท มีเกษตรกรทักษะและความชำนาญในการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยมีผลผลิตเฉลี่ยสูงสุด 1,080 กก./ไร่ ที่ความชื้น 21% คือนางสมร ศิริภักดิ์ บ้านนาเรียง ต.สามัคคี อ.ร่องคำ อย่างไรก็ตาม ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังเป็นที่ต้องการของตลาด จึงขอเชิญชวนเกษตรกรีหันมาปลูกมากขึ้น ซึ่งสามารถปลูกได้ทั้งฤดูแล้งและฤดูฝน” นายณัฐพงศ์กล่าว


ด้านนายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า พื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ 18 อำเภอ ทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน มีสภาพที่เหมาะสมกับการปลูกพืชพันธุ์หลายชนิด ทั้งนี้ ก่อนที่จะเพาะปลูกพืชชนิดใด เกษตรกรต้องเลือกพืชชนิดที่ปลูกให้เหมาะสมกับสภาพดินและแหล่งน้ำต้องเพียงพอ ในส่วนของการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ถือเป็นพืชทางเลือกใหม่นั้น ทางจังหวัดและส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุนส่งเสริม เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้กับเกษตรกรมีงานทำและรายได้อย่างยั่งยืน


ขณะที่นางธนาพร ภูยาดาว รองนายก อบต.ดอนสมบูรณ์ บ้านดอนยานาง ต.ดอนสมบูรณ์ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ เจ้าของแปลงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พื้นที่ 77 ไร่ กล่าวว่าเดิมทีในฤดูแล้งจะปลูกข้าวนาปรัง เนื่องจากระยะหลังต้นทุนการทำนาสูง ราคาขายข้าวเปลือกตกต่ำ พอดีได้รับคำแนะนำจากเกษตร อ.ยางตลาด กรณีมีสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ เข้ามาส่งเสริมปลุกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จึงชักชวนเพื่อนชาวนาหันมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แปลงใหญ่ ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 2 ปลูกง่าย ดูแลง่าย ได้ผลผลิตสูงกว่าและขายได้เงินมากกว่าปลูกข้าวนาปรัง ซึ่งปีหน้าและปีต่อๆไปก็จะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อีก ทั้งนี้ ได้แจ้งกับทางสถาบันปิดทองหลังพระฯ ในส่วนของการขอรับสนับสนุนเรื่องปัจจัยการผลิต เช่น วัสดุ อุปกรณ์ การให้ปุ๋ย และรถเก็บเกี่ยว เพื่อความสะดวกและรวดเร็ว


นางสมร ศิริภักดิ์ บ้านนาเรียง ต.สามัคคี อ.ร่องคำ จ.กาฬสินธุ์กล่าวว่า ตนปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กับสถาบันปิดทองหลังพระเป็นปีที่ 4 โดย 2 ปีแรกผลผลิตต่ำ เนื่องจากสภาพดินไม่ค่อยดี และขาดองค์ความรู้ ในการบริหารจัดการในแปลงข้าวโพด พอได้รับคำแนะนำจาสกเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาส่งเสริม ในด้านของการปลูกและบำรุงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างถูกวิธี ก็ได้ผลผลิตเพิ่มสูงขึ้น กระทั่งได้รับการคัดเลือกเป็นเกษตรกรต้นแบบปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และพร้อมที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเกษตรที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ได้หันมาปลุกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กันมาก เพราะปลูกง่าย ดูแลง่าย ใช้น้ำน้อย อายุสั้นเก็บเกี่ยวผลผลิต ที่สำคัญราคารับซื้อแน่นอน มีการประกันราคาและรับซื้อเป็นจำนวนมาก ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จึงได้ผลคุ้มค่ากว่าปลูกพืชชนิดอื่น