กาฬสินธุ์สองฟากฝั่งร่วมทำบุญสะพานเทพสุดาสืบชะตาลำปาว

ชาวอำเภอหนองกุงศรี และอำเภอสหัสขันธ์ 2 จังหวัดกาฬสินธุ์ ฟากฝั่งลำปาว ร่วมใจจัดงานใหญ่สืบชะตาปลาทำบุญตักบาตรบนสะพานเทพสุดา ถือฤกษ์มงคลสร้างบุญกุศลเป็นสิริมงคลสงกรานต์ปีใหม่ไทย


เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 13 เมษายน 2566 กลางสะพานเทพสุดา ข้ามอ่างเก็บน้ำลำปาว นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผวจ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานในพิธีสืบชะตาขอขมาลำน้ำปาวสะพานเทพสุดา เชื่อมสันติภาพ เชื่อมสันติสุข ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยมีนายธวัชชัย รอดงาม รองผวจ.กาฬสินธุ์ นายปราชญา อุ่นเพชรวรากร รองผวจ.กาฬสินธุ์ นายอุทัย สิงห์ทอง พัฒนาการ จ.กาฬสินธุ์ นายจารุวัฒน์ ภูแก้ว นายอำเภอหนองกุงศรี นางสาวแววตา นระทัด นายอำเภอสหัสขันธ์ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกำนันผู้ใหญ่บ้าน ร่วมงานทำบุญตักบาตร โดยมีคณะสงฆ์จากสองฝั่งลำปาว 40 รูป ออกรับบิณฑบาต จากพุทธศาสนิกชนที่เดินทางมาร่วมตักบาตรและทำพิธีขอขมาลำปาว


โดยนายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผวจ.กาฬสินธุ์ ได้ลั่นฆ้องเพื่อเป็นสิริมงคลก่อนจะทำพิธีขอขมาลำปาวกลางสะพานเทพสุดา พร้อมกับในแพไดโนเสาร์ที่ล่องอยู่กลางเขื่อนลำปาว พระครูประภัสสรสันติธรรม รองเจ้าคณะอำเภอหนองกุงศรี และคณะสงฆ์ได้เริ่มพิธีขอขมา ด้วยพิธีอัญเชิญบายศรีพญานาค และคำอธิษฐานขอพรของผู้ร่วมพิธีปล่อยลงกลางน้ำ โปรยดอกไม้และเครื่องหอม จากนั้นคณะสงฆ์ได้สวดชัยมงคลคาถา เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ผู้ร่วมงาน ซึ่งระหว่างทำพิธี กลุ่มประมงพื้นบ้านได้นำเรือหางยาว เรือสปีดโบ๊ท มาร่วมพิธีกว่า 100 ลำ ซึ่งเป็นความเชื่อของกลุ่มประมงพื้นบ้าน ที่จะถือเอาฤกษ์มงคลสงกรานต์ หรือปีใหม่ไทย ทำบุญให้กับพระแม่คงคา เพราะต้องอาศัยทำมาหากินในน้ำตลอดทั้งปี


นายศุภศิษย์กล่าวว่า ในเทศกาลสงกรานต์ ทั้งฝั่งอำเภอสหัสขันธ์ และอำเภอหนองกุงศรี ซึ่งเป็นบ้านพี่เมืองน้องสองฝั่งลำปาวได้พร้อมใจจัดกิจกรรมบุญขึ้น เพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีได้ร่วมทำกิจกรรมบุญด้วยกันให้เกิดเป็นสิริมงคล พิธีขอขมาลำน้ำปาวเป็นวิถีปฏิบัติของคนประมงพื้นบ้าน ที่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จะปกป้องคุ้มภัยในการออกเรือหาปลาในแต่ละวันเพื่อยังชีพ เป็นการแสดงกตัญญูกตเวทิตาของลูกหลานประมงพื้นบ้าน สื่อสารไปยังสิ่งศักดิ์ในเขื่อนลำปาว โดยเฉพาะปู่เชียงโสมเทพเจ้าแห่งลุ่มน้ำปาว ที่ได้ระลึกถึงและเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้านตั้งแต่สมัยบรรพกาล ซึ่งงานนี้ยังเป็นการสร้างสำนึกในการอนุรักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรในน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารทั้งกุ้ง หอย และปลาเขื่อน การทำพิธีครั้งนี้ ยังเป็นการปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้ออกไปและรับสิ่งมงคลเข้ามาอีกด้วย


สำหรับสะพานเทพสุดา เป็นสะพานข้ามน้ำจืดที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ได้รับพระราชทานชื่อจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ และในปัจจุบันเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ จากวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม ทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาพักผ่อนหย่อนใจและเล่นน้ำคลายร้อนจำนวนมาก ทำให้มีชาวบ้านนำสินค้าชุมชนมาจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับชุมชนเป็นอย่างดี