เชียงใหม่- ททท. ชวนย้อนรอยหม้อปูรณฆฏะพื้นเมือง พร้อมเปิดตัวบ้านเหมืองกุง ชุมชนปั้นดินเก่าแก่กว่า 200 ปี ในงานนิทรรศการ “ตำนานน้ำต้น คนปั้นดิน บ้านเหมืองกุง”

เชียงใหม่- ททท. ชวนย้อนรอยหม้อปูรณฆฏะพื้นเมือง พร้อมเปิดตัวบ้านเหมืองกุง ชุมชนปั้นดินเก่าแก่กว่า 200 ปี ในงานนิทรรศการ “ตำนานน้ำต้น คนปั้นดิน บ้านเหมืองกุง”

วันที่  9 เมษายน 2566 เวลา 17.00 น. ณ วัดต้นเกว๋นการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ชวนรื้อฟื้นวัฒนธรรมการใช้หม้อดอกของชาวล้านนา หรือหม้อปูรณฆฏะ โดยชุมชนบ้านเหมืองกุง ที่สืบสานการปั้นเครื่องปั้นดินเผาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นมามากกว่า 200 ปี ได้รับเกียรติจาก นายบุญส่ง คุ้มบุญ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ททท. ให้เกียรติเป็นประธานเปิดกิจกรรม พร้อมหน่วยงานภาครัฐและเอกชน นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศเข้าร่วมงาน “ตำนานน้ำต้น คนปั้นดิน บ้านเหมืองกุง” ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-21 เมษายน 2566 ณ วัดต้นเกว๋น อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่

ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวดำเนินการภายใต้โครงการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการท่องเที่ยวและสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ทรัพย์สิน ททท.โดยร่วมมือกับชุมชนบ้านเหมืองกุง ผศ. ฐาปกรณ์ เครือระยา ผู้ค้นคว้าเรื่องหม้อดอกหรือหม้อปูรณฆฏะ และวัฒนธรรมล้านนา และบริษัท เดอคัว จำกัด ร่วมกันส่งเสริมการนำนวัตกรรมมาพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาที่เป็นลวดลายเฉพาะ ถือเป็น DNA ของชุมชนบ้านเหมืองกุงที่สืบต่อกันมา ด้วยการพลิกฟื้นการทำผลิตภัณฑ์ “หม้อดอกหรือหม้อปูรณฆฏะ” ของชาวล้านนา จากศิลปินช่างปั้นดินเผาบ้านเหมืองกุง

ผู้ที่เป็นจุดเริ่มต้นในการพลิกฟื้นวัฒนธรรมการใช้ “หม้อดอกหรือหม้อปูรณฆฏะ” ที่สูญหายให้กลับคืนมา ออกแบบให้มีความร่วมสมัย กลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง โดยการนำไปถวายเป็นพุทธบูชา เพื่อความเป็นสิริมงคล และความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งถือเป็นกิจกรรมที่จะนำมาซึ่งความสุข เนื่องในโอกาสประเพณีปี๋ใหม่เมือง

นายบุญส่ง คุ้มบุญ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ททท. กล่าวว่า การจัดงานนิทรรศการ “ตำนานน้ำต้น คนปั้นดิน บ้านเหมืองกุง” ในครั้งนี้ เป็นการประชาสัมพันธ์การสร้างสรรค์และพัฒนาต่อยอดจากภูมิปัญญา และวัฒนธรรม อันเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน รวมถึงการบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของชุนชนบ้านเหมืองกุงที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ผ่านการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ “หม้อดอก หรือหม้อปูรณฆฏะ” สร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าและผลิตภัณฑ์ กระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวพื้นที่เชียงใหม่ ก่อให้เกิดการกระจายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน ต่อไป

ทั้งนี้ ภายในงานมีการจัดกิจกรรม Workshop จัดดอกไม้หม้อปูรณฆฏะแบบพื้นเมือง กิจกรรม Talk and Share ในหัวข้อ “เครื่องปั้นดินเผาบ้านเหมืองกุงและเมืองเชียงใหม่ รวมถึงโอกาสในการต่อยอด” การแสดงวัฒนธรรมของชาวล้านนาในประเพณีปี๋ใหม่เมือง (เทศกาลสงกรานต์ล้านนา) พร้อมชมการสาธิตการทำเครื่องปั้นดินเผา ทั้งการปั้น การทำลวดลาย การขัดมัน อันเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนบ้านเหมืองกุง ตั้งแต่เวลา 17.00-20.00 น.

ททท. หวังว่า กิจกรรมในครั้งนี้สามารถส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวเรียนรู้ ภูมิปัญญาการทำเครื่องปั้นดินเผา และเข้าร่วมกิจกรรม พาชม พาแอ่ว บ้านสล่า หรือบ้านศิลปินช่างปั้น ที่สืบทอดภูมิปัญญากันมายาวนาน ซึ่งยังคงรักษาวิถีช่างปั้นดินจวบจนถึงปัจจุบัน และเพื่อให้เกิดกระจายโอกาสในการสร้างรายได้ไปสู่ชุมชน หรือผู้ประกอบด้านการท่องเที่ยวอย่างทั่วถึงและยั่งยืน

โดยสามารถติดต่อขอแอ่วชุมชนล่วงหน้าได้ทาง Facebook Fanpage : Baan Muangkung pottery handicraft บ้านเหมืองกุง ตำนานน้ำต้น คนปั้นดิน https://www.facebook.com/Clayprodcts  โดยปักหมุดเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวในการมาเยือนจังหวัดเชียงใหม่
ผู้สนใจเข้าชมนิรรศการ “ตำนานน้ำต้น คนปั้นดิน บ้านเหมืองกุง” ระหว่างวันที่ 9-21 เมษายน 2566

 

พัฒนชัย/เชียงใหม่