ประจวบคีรีขันธ์-“พลเอก ประวิตร” ลงพื้นที่ประจวบฯ-เพชรบุรี สั่งคุมเข้มแผนการใช้น้ำให้เพียงพอตลอดแล้ง พร้อมวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำ รองรับความต้องการใช้น้ำในอนาคต

ประจวบคีรีขันธ์-“พลเอก ประวิตร” ลงพื้นที่ประจวบฯ-เพชรบุรี สั่งคุมเข้มแผนการใช้น้ำให้เพียงพอตลอดแล้ง พร้อมวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำ รองรับความต้องการใช้น้ำในอนาคต

เมื่อวันที่ 31 มี.ค.66 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ตรวจติดตามการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง และการดำเนินการโครงการด้านทรัพยากรน้ำในพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.เพชรบุรี พร้อมด้วย ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการ กอนช. และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยก่อนหน้านั้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้เข้ากราบสักการะหลวงพ่อทวดองค์ใหญ่ วัดห้วยมงคล อ.หัวหิน พร้อมรับรูปหล่อหลวงพ่อทวด จาก พระพิศาลสิทธิคุณ (ท่านเจ้าคุณไพโรจน์) เจ้าอาวาสวัดห้วยมงคล เพื่อความเป็นสิริมงคลด้วย

จากนั้นได้ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำบริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยมงคล อ.หัวหิน พร้อมประชุมติดตามสถานการณ์น้ำและแผนการผลิตน้ำประปาเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้ง ณ ห้องประชุมสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 14 อ.หัวหิน จากนั้นในช่วงบ่าย ลงพื้นที่ประชุมติดตามแผนงานและโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญในพื้นที่ จ.เพชรบุรี ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลบางตะบูน อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ตามลำดับ โดยมีหัวหน้าส่วนราชการและประชาชนในพื้นที่ให้การต้อนรับ


สำหรับการลงพื้นที่ทั้ง 2 จังหวัดในครั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้รับทราบสถานการณ์น้ำ การบริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำห้วยมงคล จ.ประจวบคีรีขันธ์ และเขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และคุณภาพของการผลิตน้ำประปา รวมทั้งผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญในพื้นที่ โดยเฉพาะสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูแล้งปีนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตาม 10 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2565/66 อย่างเคร่งครัด และให้ สทนช. เร่งรัดติดตามการดำเนินงานให้เป็นไปตามมาตรการดังกล่าว เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนให้มากที่สุดและให้มีปริมาณน้ำใช้เพียงพอตลอดแล้งนี้

โดยมอบให้กรมชลประทานบริหารจัดการแหล่งเก็บน้ำให้มีประสิทธิภาพและตอบสนองต่อการใช้น้ำในทุกพื้นที่ และมอบให้จังหวัดขับเคลื่อนกระบวนการสร้างการรับรู้สถานการณ์น้ำและแผนการดำเนินการด้านทรัพยากรน้ำต่างๆ ให้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเร่งบูรณาการทุกหน่วยงานแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำในพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด (สมุทรสงคราม ราชบุรี และประจวบคีรีขันธ์) พร้อมวางแผนการพัฒนาแหล่งน้ำให้เต็มศักยภาพ เพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้ง และรองรับความต้องการน้ำในอนาคต รวมทั้งการผลิตน้ำประปาที่มีคุณภาพและเพียงพอกับความต้องการของประชาชน
ด้าน ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า

สำหรับสถานการณ์ฤดูแล้งปี 2565/66 นี้ สทนช.ได้ประเมินพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ พบว่า จะมีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำด้านอุปโภคบริโภคในเขตการประปาส่วนภูมิภาค 1 สาขา ได้แก่ กปภ.สาขาบางสะพาน และนอกเขตการประปาส่วนภูมิภาค 3 ตำบล 1 อำเภอ คือ อ.หัวหิน (ต.บึงนคร ต.หนองพลับ และ ต.ห้วยสัตว์ใหญ่) โดยมีแผนงานและโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญ จำนวน 5 โครงการ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มความจุได้ 17.52 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 8,850 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 4,340 ครัวเรือน เช่น ก่อสร้างระบบระบายน้ำหลักเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนหัวหิน อ่างเก็บน้ำคลองลอยตอนล่าง และอาคารท่อระบายน้ำลงลำน้ำเดิมเขื่อนปราณบุรี เป็นต้น ส่วน จ.เพชรบุรี จะมีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำด้านอุปโภคบริโภค ในพื้นที่นอกเขตการประปาส่วนภูมิภาค 3 ตำบล 2 อำเภอ

คือ อ.แก่งกระจาน (ต.ป่าเต็ง) และ อ.หนองหญ้าปล้อง (ต.ยางน้ำกลัดเหนือ ต.ยางน้ำกลัดใต้) และด้านเกษตรกรรม ในพื้นที่การปลูกพืชต่อเนื่อง (ไม้ผลที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ) มี 3 ตำบล 2 อำเภอ คือ อ.แก่งกระจาน (ต.ห้วยแม่เพรียง) อ.หนองหญ้าปล้อง (ต.ยางน้ำกลัดเหนือ และ ต.ท่าตะกร้อ) พื้นที่รวมทั้งหมด 4,728 ไร่ โดยมีแผนงานและโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญ จำนวน 10 โครงการ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มความจุได้ 28.43 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 7,371 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 49,256 ครัวเรือน เช่น เพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์ ขุดลอกแม่น้ำเพชรบุรี ก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองเพชรบุรี และโครงการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่างอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นต้น


นอกจากนี้ สทนช. ยังเร่งศึกษาการบริหารจัดการน้ำพื้นที่รอยต่อลุ่มน้ำแม่กลอง เพชรบุรี–ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาด้านคุณภาพน้ำ (พื้นที่นำร่อง) ในพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด ได้แก่ จ.ราชบุรี สมุทรสงคราม และเพชรบุรี เพื่อจัดทำแผนการบริหารจัดการปัญหาคุณภาพน้ำที่เหมาะสมกับพื้นที่ และให้ได้แนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ซึ่งจะส่งผลให้การแก้ไขปัญหาน้ำในทุกมิติเกิดความยั่งยืน.


นายนิพล ทองเก่า ผู้อำนวยการศูนย์ข่าวสยามโฟกัสไทม์/4เหล่าทัพ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์0909944781