กาฬสินธุ์เกิดไฟป่าโหมไหม้หลังที่ทำการ อบต.
เกิดเหตุไฟป่าโหมไหม้พื้นที่ป่าด้านหลังที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลกุฉินารายณ์ อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ กู้ภัยเมตตาธรรมกาฬสินธุ์ จุดอำเภอกุฉินารายณ์ ประสานกู้ภัยบัวขาวระดมกำลังดับไฟ ล่าสุดควบคุมเปลวเพลิงไว้ได้และกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ขณะที่ ปภ.กาฬสินธุ์ระบุค่าฝุ่นละอองในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ยังอยู่ในระดับดี
เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากทางเพจกู้ภัย และเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยเมตตาธรรมกาฬสินธุ์ จุด อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ ระบุได้รับแจ้งเกิดเหตุไฟป่าขึ้นที่บริเวณด้านหลังที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กุฉินารายณ์ เมื่อช่วงกลางดึกของวันที่ 28 มี.ค.66 ที่ผ่านมา จึงได้ประสานกู้ชีพ กู้ภัย อบต.บัวขาว นำรถพยาบาล พร้อมอุปกรณ์การดับไฟป่า และรถดับเพลิง ออกทำการสกัดเปลวเพลิง ซึ่งได้พบไฟป่ากำลังโหมไหม้ใบไม้แห้งและหญ้าแห้งทั่วบริเวณด้านหลัง อบต.กุฉินารายณ์
โดยช่วงที่เกิดไฟป่านั้น สภาพอากาศร้อนอบอ้าว และมีลมกรรโชกแรงตลอดเวลา เป็นอุปสรรคให้การฉีดน้ำและสกัดเปลวเพลิงเป็นไปค่อนข้างลำบาก อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ได้เร่งระดมกำลังเพื่อควบคุมเปลวเพลิงสุดความสามารถ โดยใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง เพลิงไหม้จึงสงบลง จากการสำรวจพื้นที่พบว่า เพลิงได้เผาไหม้ป่าในบริเวณกว้าง ไม่มีทรัพย์สินของ อบต.กุฉินารายณ์เสียหาย และโชคดีไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ส่วนสาเหตุการเกิดป่าสันนิษฐานเกิดจากสภาพอากาศที่ร้อน มีหญ้าแห้งและใบไม้แห้งเต็มพื้นที่ จึงเป็นสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้ครั้งนี้ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ยังต้องเฝ้าระวังการเกิดสะเก็ดไฟ และป้องกันไฟคุกรุ่นขึ้นอีก อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบล่าสุด สถานการณ์อยู่ในภาวะปกติ
ขณะที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.กาฬสินธุ์ ได้รายงานการติดตาม เฝ้าระวัง สภาพอากาศ และสาธารณภัยในพื้นที่ โดยเฉพาะในส่วนเครื่องตรวจวัด PM2.5 (Air 4 thai) ที่ศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ ปริมาณ PM2.5 และพื้นที่ต่างอำเภอ วัดได้ 30 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สถานะคุณภาพอากาศอยู่ในระดับดี สภาพอากาศในภาพรวมยังร้อนในตอนกลางวัน และอาจจะมีพายุฝนฟ้าคะนอง กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ร้อยละ 20 ของพื้นที่
ด้านนายมะณี อุทรักษ์ ผอ.สถานีอุตุนิยมวิทยากาฬสินธุ์ กล่าวว่า เนื่องจากความร้อนยังคงปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้มีอากาศร้อนโดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีอากาศร้อนจัด ในขณะที่บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีน แผ่ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน
“ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางแห่ง จึงขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย” นายมะณีกล่าว