เชียงใหม่-วิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มช. เปิดงาน “Digital Marketer Hackathon 2023”

วิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มช. เปิดงาน “Digital Marketer Hackathon 2023” Go Global with Cross Border E-Commerce Platform โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในกลุ่มประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง เพื่อรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจนวัตกรรม

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)ได้เป็นประธานเปิดงานโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในกลุ่มประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง เพื่อรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจนวัตกรรม โดยมี นายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ Mr. Wu Zhiwu กงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำเชียงใหม่

นางสาวนภัสพร ภัทรีชวาล กงสุลใหญ่ ณ เมืองชิงต่าว สาธารณรัฐประชาชนจีน Mr. Shen Sunan ประธานกรรมการ ASEAN Innovation and Development Promotion Association สาธารณรัฐประชาชนจีน รศ. ดร.โชติชัย เจริญงาม ประธานกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง ผศ. ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผศ.ดร.รุจิรา อุ่นเจริญ คณบดีวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มช. พร้อมด้วยผู้บริหารวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มช. เข้าร่วมงานในครั้งนี้

ซึ่งภายในงานได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวแสดงความยินดีในพิธีเปิดงานผ่านการบันทึกคลิปวีดิทัศน์ โดยได้กล่าวไว้ว่า “โครงการนี้มีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ โดยไม่เพียงเพิ่มความสามารถของผู้ประกอบการในด้านการส่งออกแต่ยังตั้งใจที่จะกระตุ้นการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจผ่านทางนวัตกรรมและการเป็นศูนย์กลางสำหรับผู้ประกอบการ การค้าขาย การลงทุน และการบริการ”


ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวต้อนรับกล่าวแสดงความยินดีในการเป็นพยานความร่วมมือทางวิชาการของวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัลกับหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ โครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการตามนโยบายของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในการส่งเสริมความร่วมมือทั้งในระดับนานาชาติและในด้านการวิจัย ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากในยุคปัจจุบันที่สังคมโลกถูกเชื่อมโยงด้วยการสื่อสารที่รวดเร็ว

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้กล่าวแสดงความยินดีและกล่าวเปิดโครงการ กล่าวว่า “ผมดีใจที่ได้ร่วมงานกับ ICDI อีกครั้ง ซึ่งเราเคยร่วมงานกันในโครงการศึกษานโยบายสำหรับ “ระเบียงเศรษฐกิจนวัตกรรม Route 1″ จากการศึกษาครั้งนั้น เราพบศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่ของภาคเหนือและภาคอีสานของประเทศไทยและวันนี้เราก็เข้าใกล้ศักยภาพที่ยิ่งใหญ่นั้นมากขึ้น ด้วยการเริ่มต้นโครงการนี้”

จากนั้น เป็นการกล่าวแสดงความยินดีโดยแขกผู้มีเกียรติตามลำดับ นายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่Mr. Wu Zhiwu กงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำเชียงใหม่ นางสาวนภัสพร ภัทรชีวาล กงสุลใหญ่ ณ เมืองชิงต่าว สาธารณรัฐประชาชนจีน Mr. Shen Sunan ประธานกรรมการ ASEAN Innovation and Development Promotion Association สาธารณรัฐประชาชนจีน รองศาสตราจารย์ ดร.โชติชัย เจริญงาม ประธานกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง ซึ่งเชื่อมั่นว่าโครงการของวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัลมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจการค้า การลงทุนของธุรกิจ SME ให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง และเกิดการกระจายรายได้หมุนเวียนต่อไป

ภายในงาน ได้มีพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับหอการค้าและมหาวิทยาลัยพันธมิตรในกลุ่มความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคของกลุ่มประเทศ CLMVTและสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมุ่งหวังผลักดันให้เกิดการค้าขายสินค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน (Cross Border E-Commerce)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รุจิรา อุ่นเจริญ คณบดีวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล คณบดีวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โครงการนี้ได้รับงบประมาณจากกองทุนแม่โขง-ล้านช้าง มุ่งหวังการสร้าง Startup ใหม่จากทีม Digital Marketer ทำธุรกิจการค้าทางอิเล็กทรอนิกส์และสร้างความร่วมมือในคนรุ่นใหม่ข้ามพรมแดน จีน ไทย พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม และกล่าวว่า “เรามีเป้าหมายที่ชัดเจน คือการสร้างฐานความรู้ด้านแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดนซึ่งจะเป็นต้นแบบช่องทางการตลาด ที่จะทำให้ทุกคนสามารถแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ได้อย่างไม่มีข้อจำกัด”

อาจารย์ ดร.เพียงออ เลาหะวิไลย อาจารย์ประจำวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล และผู้เชี่ยวชาญด้านCross Border E-Commerce ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการว่า โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่นักการตลาดดิจิทัลและผู้ประกอบการเพื่อผลักดันให้เกิดการนำสินค้าจากไทย และกลุ่มประเทศ CLMV ไปขายที่จีนผ่าน Cross Border E-Commerce Platform โดยตั้งเป้าการขนส่งไปทางราง ผ่านรถฟความเร็วสูง ไทย-ลาว-จีน ซึ่งเร็วและทำให้ประหยัดค่าขนส่งขึ้น จากการทำโครงการวิจัยเกี่ยวกับ Cross Border E-Commerce

ของวิทยาลัยฯ พบว่า ผู้ประกอบการรายย่อย เช่น กลุ่ม SMEs และ OTOP ไม่ประสบความสำเร็จในการนำสินค้าไปขายผ่านช่องทาง Cross Border E-Commerce ด้วยปัจจัยหลายอย่างอาทิ การสื่อสารเป็นภาษาจีน ระบบการจ่ายเงิน ดังนั้น ในโครงการนี้เราจึงมีเป้าหมายในการสร้าง Digital Marketer จำนวน 50 ทีม ประกอบไปด้วยนักศึกษาจีนที่มาเรียนในประเทศไทย จับคู่กับนักศึกษาไทยและ CLMV มีหน้าที่รับผิดชอบช่วยผู้ประกอบการนำสินค้าขึ้นไปขายบน Cross Border E-Commerce Platform

โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับการอบรมในหลักสูตรด้าน Social Commerce, Marketing การเจรจาต่อรองกับผู้ประกอบการ ความรู้ด้าน Cross Border E-Commerce Platform ที่สำคัญเป็นประสบการณ์ของเด็กรุ่นใหม่ให้ทำธุรกิจจริง เติบโตเป็น Startup และยังมีพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาสำหรับผู้เข้าร่วมโครงการตลอดระยะเวลากิจกรรม โดยทีมที่ได้รับคัดเลือกเป็นผู้ชนะ 10 ทีม จะได้รับเงินรางวัลกว่า 500,000 บาท

พัฒนชัย/เชียงใหม่