กาฬสินธุ์สร้างโอกาสใหม่เพื่อชีวิตครูไทยที่ดีกว่า

กาฬสินธุ์สร้างโอกาสใหม่เพื่อชีวิตครูไทยที่ดีกว่า


ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เดินหน้าแก้หนี้ครู 5 ภูมิภาค Kick-off มหกรรมการเงินเพื่อครูไทย เริ่มแห่งแรกที่จังหวัดกาฬสินธุ์
เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ห้องประชุมนิลปัทม์ โรงเรียนกมลาไสย อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ กระทรวงศึกษาธิการ จัดงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย “Unlock a better life” สร้างโอกาสใหม่ เพื่อชีวิตครูไทยที่ดีกว่า เพื่อเปิดโอกาสให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกกลุ่ม ได้เข้าถึงมาตรการความช่วยเหลือการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ภายใต้เงื่อนไขพิเศษของสถาบันการเงินและสหกรณ์ออมทรัพย์ครู โดยมีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผวจ.กาฬสินธุ์ และนายสุทิน แก้วพนา รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วม


โดยภายในงานมีการจัดกิจกรรมให้คำปรึกษา ปรับโครงสร้างหนี้ ไกล่เกลี่ยหนี้ ส่งเสริมการออมและการลงทุน และให้ความรู้ด้านการบริหารและจัดการการเงิน จากหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ กระทรวงการคลัง, กระทรวงยุติธรรม, กรมส่งเสริมสหกรณ์, ธนาคารแห่งประเทศไทย, สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ, สมาคมธนาคารไทย, สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ, ธนาคารออมสิน, ธนาคารอาคารสงเคราะห์, ธนาคารกรุงไทย, กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา, สกสค., สคบศ. และสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกาฬสินธุ์และพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง


นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่ากระทรวงศึกษาธิการ ต้องการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูอย่างจริงจังเต็มที่ เพราะการเป็นหนี้ทำให้ครูและครอบครัวมีความเดือดร้อนต่อการดำเนินชีวิต ส่งผลกระทบต่อคุณภาพในการเรียนการสอนที่อาจทำได้ไม่เต็มที่ ซึ่งการจัดงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทยฯ ระดับภูมิภาคนี้ เป็นการต่อยอดความสำเร็จจากการจัดงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทยฯ สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เมื่อวันที่ 17-18 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ที่สามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้เกือบ 300 ล้านบาท โดยการจัดงานในระดับภูมิภาคจะช่วยเปิดโอกาสให้ครูทุกพื้นที่ได้เข้าถึงมาตรการความช่วยเหลือการแก้ไขปัญหาหนี้สินภายใต้เงื่อนไขพิเศษของสถาบันการเงินและสหกรณ์ออมทรัพย์ครูมากยิ่งขึ้น


นางสาวตรีนุชกล่าวอีกว่า ในปีงบประมาณ 2566 กระทรวงศึกษาธิการได้บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ในการกำหนดรูปแบบแนวทางในการแก้ไขหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูเป็นฐาน เปิดช่องทางหรือกิจกรรมการเจรจาแก้ไขปัญหาหนี้ร่วมกัน ระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ลงถึงพื้นที่ ทั้งการไกล่เกลี่ย เจรจา ปรึกษา ปรับโครงสร้างหนี้ หาข้อยุติ การบังคับคดีและแก้ไขปัญหาหนี้สินร่วมกัน ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษภายในงาน โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ย ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มและทิศทางที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ กลุ่มครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ และผู้ที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ซึ่งมีจำนวนกว่า 85,000 ราย จะเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่ต้องดำเนินการช่วยเหลือ ไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สินให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเร่งด่วน เพื่อให้ได้รับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีเงินเดือนเพียงพอที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งไม่เพียงเป็นการลดภาระหนี้สินครู แต่ยังส่งต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศที่ทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ เกิดสภาพคล่องทางเศรษฐกิจโดยรวมด้วย


ขณะที่นายสุทิน แก้วพนา รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงภาพรวมในครั้งนี้ว่า “โครงการเงินเพื่อครูไทย “Unlock a better life” สร้างโอกาสใหม่ เพื่อชีวิตครูไทยที่ดีกว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกของการนำร่องในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.กาฬสินธุ์ฯ รวมจังหวัดใกล้เคียง ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ซึ่งก่อนหน้านี้มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ กว่า 5,000 คน หนี้รวมกว่า 8,000 ล้านบาท การแก้ไขปัญหาหนี้ของกระทรวงศึกษาธิการครั้งนี้ จะทำให้ครูทุกคนได้รับการดูแลช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้สินได้อย่างทั่วถึงและเป็นระบบ ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาและคุณภาพสังคม ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ


ทั้งนี้ สำหรับโครงการ มหกรรมการเงินเพื่อครูไทย “Unlock a better life” สร้างโอกาสใหม่ เพื่อชีวิตครูไทยที่ดีกว่า จะจัดขึ้นในทั้งหมด 4 ภูมิภาค 5 จังหวัด ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ภาคตะวันออก, ภาคเหนือ, ภาคใต้ ครั้งที่ 1 วันที่ 18–19 กุมภาพันธ์ 2566 ที่หอประชุมโรงเรียนกมลาไสย อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์, ครั้งที่ 2 วันที่ 4–5 มีนาคม 2566 ที่หอประชุมราชภัฏอุดรธานี จ.อุดรธานี, ครั้งที่ 3 วันที่ 11–12 มีนาคม 2566 ที่ จ.สระแก้ว, ครั้งที่ 4 วันที่ 18–19 มีนาคม 2566 ที่หอประชุมวชิรโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม จ.พิษณุโลก และครั้งที่ 5 วันที่ 25–26 มีนาคม 2566 ที่หอประชุมสุราษฎร์ธานีวชิราลงกรณ์ จ.สุราษฎร์ธานี สำหรับข้าราชการครูฯ และผู้ที่สนใจ สามารถสมัครเข้าร่วมงานผ่านระบบออนไลน์ได้ทาง unlock.moe.go.th โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด