ฉะเชิงเทรา-คณะกรรมาธิการร่วมกับสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาจัดกิจกรรม “สภาจำลองสัญจร” ให้ความรู้ด้านการเมืองการปกครองแก่เยาวชน ณ โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา

ฉะเชิงเทรา-คณะกรรมาธิการร่วมกับสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาจัดกิจกรรม “สภาจำลองสัญจร” ให้ความรู้ด้านการเมืองการปกครองแก่เยาวชน ณ โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา

วันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 08.30 นาฬิกา คณะอนุกรรมาธิการด้านวิชาการและเสริมสร้างการให้ความรู้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชนวุฒิสภา จัดโครงการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการเมืองการปกครอง บทบาทหน้าที่และอำนาจของวุฒิสภาสู่เยาวชนในสถาบันการศึกษา (สภาจำลองสัญจร) โดยมี นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สาม เป็นประธานในพิธีเปิดและบรรยายพิเศษ เรื่อง “การปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

กล่าวรายงานโดย นายชาลี เจริญสุข อนุกรรมาธิการ และมี สมาชิกวุฒิสภา และอนุกรรมาธิการฯ เข้าร่วมในพิธีเปิดฯ ประกอบด้วย นายกำพล เลิศเกียรติดำรงค์ สมาชิกวุฒิสภาและประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านวิชาการและเสริมสร้างการให้ความรู้ระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ผศ.ปราชญา อ่อนนาค อนุกรรมาธิการและเลขานุการ นายปัญญา โพธิ์ทอง อนุกรรมาธิการ และนายเอสนะ จงจิตเจริญ อนุกรรมาธิการ โดยมี นายชัชชัย พุทธสุวรรณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ และนางสาวสุพิชฌาย์ เจริญรักษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ 2 พร้อมคณะอาจารย์ให้การต้อนรับ

ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ ได้มีการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา กับ โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ และโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ 2 โดยมี นายพีระพจน์ รัตนมาลี รองเลขาธิการวุฒิสภา เป็นผู้แทนสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการฯ เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 – 6 จำนวนทั้งสิ้น 340 คน

ในกิจกรรมมีการบรรยาย หัวข้อ “วัฒนธรรมทางการเมืองและการมีส่วนร่วมทางการเมือง” โดย นายวิเชียร บัวบาน ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานเผยแพร่ประชาธิปไตยและกิจกรรมวุฒิสภาภูมิภาค และมีการอภิปราย หัวข้อ “ระบบรัฐสภา บทบาทหน้าที่และอำนาจของวุฒิสภา” และ “กิจกรรมสภาจำลองเพื่อการเรียนรู้ระบบงานรัฐสภา (สภาจำลอง)” โดย นายบรรหาร กำลา ผู้อำนวยการสำนักการประชุม และบุคลากรจากสำนักการประชุม

จากนั้นได้เปิดโอกาสให้เยาวชนได้ร่วมการแสดงความคิดเห็นในการร่วมแสดงบทบาทสมมติการประชุมวุฒิสภา ในประเด็น “เสรีทรงผมนักเรียน” ซึ่งการจัดโครงการในครั้งนี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่งจากเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการฯ