ใครไม่เคย ปวดหลัง ปวดเอว … ยกมือขึ้น …ถ้าคุณไม่เคย ปวดหลัง ปวดเอว เลย

ใครไม่เคย ปวดหลัง ปวดเอว … ยกมือขึ้น …ถ้าคุณไม่เคย ปวดหลัง ปวดเอว เลย


หมอถือว่า คุณโชคดีมากๆ เลยครับ ทำไมหมอพูดอย่างนี้ ? ก็เพราะอาการปวดหลัง คือโรคทางกระดูกและข้อ อันดับ 1 ตลอดกาล ….
นพ.สุนทร ศรีสุวรรณ์ ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลหาดใหญ่ กล่าวว่า ทุกวันนี้ เวลาหมอกระดูก ทั่วโลก ออกตรวจ OPD คนไข้ที่มาด้วย อาการปวดหลัง ปวดเอว ตึงหลัง น่าจะมี จำนวนเกือบ 30 – 40% ของจำนวนคนไข้ทั้งหมดครับ นอกจากนี้อาจมาด้วยอาการ ได้หลากหลายรูปแบบด้วยกัน เช่น ปวดสะโพกแล้วร้าวลงขา ชาลงขา ปวดกลางหลัง , ปวดส่วนบนของกระดูกสันหลัง เดินสักพักแล้วปวดหรือชาลงขา … เป็นต้น
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ เกิดมาจากปัญหาในระบบกระดูกสันหลัง ทั้งสิ้น ขอบอกก่อนเลยครับ ว่า หมอเข้าใจ คนที่เป็นโรคปวดหลัง สุดๆ เลยครับ เพราะอะไรเหรอครับ ? รอเฉลยตอนท้ายนะครับ


อาการมีอะไรได้บ้าง
ปวดเอว ปวดหลัง ตึงหลัง
ปวดจากบริเวณสะโพก แล้ว ปวดร้าว หรือ ชาลงขา โดยเฉพาะหากต้องใช้งาน เดินมาก ก้มๆเงยๆ หรือยืนนานๆ
สาเหตุที่ ร้าวหรือชาลงขา
ก็เพราะเส้นประสาท บริเวณกระดูกสันหลัง ส่วนเอว จะทำหน้าที่รับความรู้สึก และควบคุมการทำงานของขาครับ หากมีภาวะอักเสบของ เส้นประสาทเหล่านี้ ก็จะแสดงอาการที่บริเวณ ต้นขา , ขา หรือเท้า
• ปวดหน่วงๆ ตึงๆ แน่นๆ บริเวณสะโพก เป็นๆหายๆ
• ไอ จาม แล้ว ปวดร้าวลงขา
• เดินมากๆ แล้ว ชาขา ชาเท้า หรืออ่อนแรงมากขึ้น ต้องหยุดนั่งพักสักครู่ แล้วเดินได้อีก แต่ก็จะกลับมามีอาการอีก เป็นๆ หายๆ
อาการแบบไหน ที่หมอ ซีเรียส !
ท่องจำไว้เลยนะครับ หากคุณมีอาการเหล่านี้ อย่านิ่งเฉยนะครับ มาพบแพทย์ด่วนๆ
– เริ่มมีอาการอ่อนแรง เดินไม่ค่อยได้ กล้ามเนื้อขา เริ่มลีบ

– เดินไม่ถนัด เดินแล้วอาจมีรองเท้าหลุดได้เอง อันเป็นจากการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อบริเวณข้อเท้า
– มีอาการ ทางระบบเส้นประสาทถูกกดทับรุนแรง คือ กลั้นอุจจาระ ปัสสาวะไม่ได้ชาบริเวณรอบหูรูดทวารหนัก
– ปวดกลางคืน นอนหลับไปแล้วอาจตื่นมาเพราะอาการปวด อันนี้ต้อง แยกโรคจากกลุ่ม โรคมะเร็ง โรคเนื้องอกในกระดูก โรคกระดูกติดเชื้อ
– ปวดตามแนวกระดูกสันหลัง ร่วมกับมีอาการไข้เรื้อรังเป็นเวลานาน อันนี้ต้องระวัง วัณโรคกระดูกสันหลัง
– ปวดเอว ร่วมกับมีอาการ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด โดยไม่ทราบสาเหตุ ต้องแยกโรคจากกลุ่ม มะเร็งในกระดูก


สาเหตุของอาการปวดหลัง
จริงๆ แล้วมีมากมาย และแตกต่างกันไป ในแต่ละช่วงอายุ ครับ ต้องอาศัยการประเมินจากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย เป็นรายบุคคลไป บางรายอาจต้องใช้การเอกซเรย์ หรือ MRI Scan เพิ่มเติมด้วย จึงจะหาสาเหตุได้ ครับ
สาเหตุดังต่อไปนี้ หมอขอกล่าวอย่างกว้างๆ นะครับ ว่าสาเหตุมีอะไรได้บ้าง ย้ำครับ กว้างๆ จริงๆ ครับ สาเหตุเป็นได้มากมายครับ
กลุ่มสาเหตุ ที่เกิดจาก พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน , การเกิดอุบัติเหตุ
• กล้ามเนื้ออักเสบ กล้ามเนื้อหลังฉีก [ Muscle Strain ] ส่วนใหญ่เป็นจากการใช้งานไม่เหมาะสม ท่าทางอิริยาบถของการทำงานไม่เหมาะสม , ก้มยกของหนัก หรือบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา
• หมอนรองกระดูกสันหลังแตก ทับเส้นประสาท [ Rupture Disc ] อันนี้สาเหตุคล้ายข้อแรกครับ แต่แรงกระแทกรุนแรงกว่า จนทำให้หมอนรองกระดูกแตก ออกมาเลยครับ


• กระดูกสันหลังเสื่อม โพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ หมอนรองกระดูกเสื่อม [ Degenerative spinal stenosis ] แล้วค่อยๆ ยื่นมากดทับเส้นประสาท ส่วนใหญ่เจอในคนอายุ มากกว่า 60 ปี ขึ้นไป มีประวัติ ใช้งาน หลังมาอย่างสมบุกสมบัน ในโซนภาคใต้ที่หมออยู่ เจอโรคนี้ เยอะมากๆ และมักเจอในชาวสวนยางพารา เพราะลักษณะการใช้งาน มีการก้มมากๆ ต้องก้มเก็บน้ำยาง ทำแผ่นยาง ก้มกรีดยาง (ในกรณีที่หน้ายางค่อนข้างต่ำ ) อันนี้สรุปมาจากชีวิตจริงที่ คุยกับคนไข้ชาวสวนยาง มาอย่างมากมายเลยครับ
• กระดูกสันหลังเลื่อนทับเส้นประสาท [ Spondylolithesis ]
• กระดูกสันหลังคด[ Spinal Scoliosis ] โรคนี้มีหลายสาเหตุ เช่นกันครับ บางคนเป็นมาตั้งแต่เกิด บางคนเป็นจากความเสื่อม ทำงานต้องก้ม ๆ เงยๆ มาก โรคนี้ก็ ฮิตอีกครับ ในกลุ่มคนที่ทำงานก้มๆเงยๆ เป็นประจำ
• กระดูกสันหลังยุบ [ Spinal Fracture ] จากอุบัติเหตุ หรือจากโรคกระดูกพรุน [ Osteoporotic Spinal Collapse ] อย่างหลังนี่ เจอบ่อยนะครับในผู้สูงอายุ อาจมีประวัติก้มเก็บของที่ตกบนพื้น แล้วปวดหลังทันทีทันใดครับ หรือ ความสูงค่อยๆลดลง โดยไม่ทราบสาเหตุ
• กระดูกสันหลัง มีความผิดปกติมาตั้งแต่กำเนิด

กลุ่มที่เกิดจาก ภาวะแทรกซ้อนของโรคอื่นๆ ที่ส่งผลเกี่ยวข้อง
• โรควัณโรคกระดูกสันหลัง [ TB Spine ] กระดูกสันหลังติดเชื้อ [Spinal Infection ]
, การเล่นกีฬา หรือ เป็นแต่กำเนิด
• โรคเนื้องอกในกระดูกสันหลัง [ Primary Tumour of Spine ] หรือ มะเร็งจากอวัยวะอื่นๆ แพร่กระจายมาที่กระดูกสันหลัง [Metastasis Carcinoma to Spine ]

• อาการปวดร้าวจาก โรคอื่นๆ เช่น เป็นนิ่วในทิ่ไต เนื้องอกในโพรงมดลูก ถุงน้ำในรังไข่
• ภาวะตึงเครียด ทางอารมณ์และจิตใจ ก็ทำให้ ปวดหลังได้ครับ
ตรวจอะไรต่อดีครับ
หมอจะประเมิน อาการทั้งหมด จากการ ซักประวัติ , ตรวจร่างกายในเบื้องต้นก่อนครับ หากสงสัยปัญหาใน กระดูกสันหลัง ที่ส่งตรวจเพิ่มเติมเป็นพื้นฐาน ของหมอกระดูกทั่วโลก ก็คง เป็นการเอ็กซเรย์กระดูกสันหลัง ครับ ซึ่งปกติแล้ว จะใช้การถ่ายภาพเอ็กซเรย์ 2 วิว เป็นพื้นฐาน คือ ภาพด้านหน้า [ AP view ] และภาพด้านข้าง [LATERAL view ] ในบางเคสหากสงสัย ภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อน ข้อต่อกระดูกหลวม หมอจะส่งตรวจเพิ่มเติม ถ่ายภาพเอ็กซเรย์ด้านข้าง ในท่าก้ม [ FLEXION view ] และท่าเงยเอว [ EXTENSION view ]
โลกนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว !
ปัจจุบัน คงเคยเห็นกันมากขึ้น เวลาไปหาหมอ ตามโรงพยาบาลใหญ่ๆ เอ็กซเรย์จะเป็นระบบดิจิตอล [ DIGITAL XRAY ] กันแทบทั้งนั้น

ซึ่งหมอจะดู เอ็กซเรย์ ผ่านจอคอมพิวเตอร์อันนี้ ถือเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ ที่ช่วยให้แพทย์ ตรวจวินิจฉัยโรคได้แม่นยำขึ้น ภาพที่เกิดขึ้นสามารถ ปรับแสง ขยาย วัดมุม วัดระยะต่างๆ ได้มากขึ้น จากแบบเดิมคือการเอ็กซเรย์ เป็นระบบ ล้างฟิลม์ ภาพชัดบ้าง ไม่ชัดบ้าง ขึ้นกับ ฝีมือ และ อารมณ์ของเจ้าหน้าที่เอ็กซเรย์ด้วยครับ ( 555 ) วันไหนหวยออก ไม่ถูกหวย ภาพไม่ชัดเพียบเลยครับ
และแน่นอนที่ คลินิกหมอสุนทร ก็ได้ใช้ระบบ DIGITAL XRAY เป็นมาตราฐาน เช่นกันหมอเชื่อว่าในอีก 10 ปี ข้างหน้า อาจมีระบบใหม่ หมอก็จะเปลี่ยนอีกครับ โลกหมุนตลอดเวลา (โรคภัยไข้เจ็บก็เหมือนกัน) การแพทย์พัฒนารวดเร็วจริงๆครับ ตอนเด็กๆ ใครจะคิดว่า โทรศัพท์แบบมีสายที่บ้าน มันจะกลายเป็นโทรศัพท์มือถือ คุยกันเห็นหน้าได้ละครับ
“ What is MRI Scan” ?
เอ็ม อาร์ ไอ สแกน คืออะไร ?
เชื่อว่าหลายท่าน คงเคยได้ยิน และอาจเคยได้เห็นเครื่อง เอ็ม อาร์ ไอ สแกน [ MRI SCAN ] มาบ้าง ตามโรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง บ้างก็มีจัดโปรโมชั่น ให้ตรวจกับเครื่องนี้อยู่เป็นระยะ เครื่องมือนี้เป็นการตรวจร่างกายมนุษย์ ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ทางกระดูกและข้อถือว่าเป็นการตรวจที่ HISO (ไฮโซ) ที่สุดแล้วครับ เห็นเกือบทุกสิ่ง ที่อยากจะเห็น เช่น เส้นประสาท ก้อนเนื้องอก หมอนรองกระดูก คุณภาพของเนื้อ กระดูก …. แน่นอนครับ ของเขาไม่ธรรมดา ราคา ก็ต้องไม่ธรรมดาใช่ไหมครับ ปกติการตรวจ MRI SCAN 1 ส่วน มีค่าใช้จ่าย เริ่มต้นประมาณ 8,000 บาท ขึ้นไป (อ้างอิง จาก ราคาในพื้นที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา) ขึ้นกับความยากง่าย , คุณภาพของเครื่อง ใช้เวลาตรวจประมาณ 30 นาที เป็นอย่างน้อย คำว่า “ 1 ส่วน” ที่ว่า หมายถึง ตรวจแค่บริเวณเอวไม่ได้ครอบคลุมไปกระดูกสันหลังส่วนทรวงอก กระดูกคอนะครับ
เวลาส่งตรวจ MRI SCAN ส่วนใหญ่แล้ว หมอไม่แนะนำให้ตรวจทุกเคส นะครับ จะแนะนำให้ใช้ ในกรณีที่ “หมอซีเรียส” ตามอาการ ที่ได้กล่าวมาข้างต้น หรือใช้สำหรับ ในเคสที่อาการไม่ดีขึ้นหลังจากรักษา มาสักระยะนึงแล้ว …
ปัจจุบันเริ่มมีการใช้ MRI SCAN แบบ ลงน้ำหนัก [ Weight –Bearing MRI SCAN ] และ แบบเคลื่อนไหวได้ [ DYNAMIC MRI ] ซึ่งตัวหมอเองได้มีโอกาสลองเข้าเครื่อง แบบแรก ด้วยตัวเอง … พบว่าการแสดงผลของภาพที่ได้ มีประโยชน์มาก เหมือนเวลาใช้งานจริงๆ เพราะ MRI SCAN แบบทั่วไป จะเป็นการนอนนิ่งๆ ถ่ายภาพ แต่แบบใหม่นี้ เตียงจะปรับเป็นแนวตั้ง ทำให้เกิดแรงโน้มถ่วง ตามสภาพเหมือนเรายืนจริงๆ ทำให้ภาพที่ได้ จะเห็นความแตกต่างได้พอสมควร หมอสามารถประเมิน ความยืดหยุ่นของเส้นเอ็น ข้อต่อ หมอนรองกระดูกสันหลัง ได้ดีขึ้น !!
โรคนี้มัน ฮิต
ในประเทศไทยยังมีเครื่องรุ่นนี้อยู่น้อยมาก คงต้องรอให้ราคาถูกลงกว่านี้ และคงจะมีใช้กันอย่างแพร่หลายในอนาคตครับ เห็นไหมครับ ว่าโลกนี้มันเปลี่ยนไปอีกแล้ว …. จริงๆนะ

ปล . ในรูปภาพ ตัวหมอเองครับ อันนี้คือ MRI แบบลงน้ำหนัก ใช้เวลาทำประมาณ 20 นาที เล่นเอง เจ็บเอง ไม่ใช้ตัวแสดงแทน ครับ 555
สาเหตุของโรคปวดหลัง มีหลากหลาย และซับซ้อนมากจริงๆ อ่านจบ อย่าคิดมากเกินไปนะครับ แนะนำไปพบแพทย์กระดูกและข้อใกล้บ้าน ปรึกษาให้มั่นใจครับ และขอให้กำลังใจ “แก๊งค์คนปวดหลัง”

ทุกท่านนะครับ มาเข้าแก๊งค์เดียวกับหมอ ที่หมอไปทำ MRI Scan ด้วย เพราะ หมอก็เป็นโรคปวดหลังนี้แหละครับ 555
สรุปส่งท้าย เฉลยที่ติดค้างกันไว้ ในตอนต้น ….
เรื่องมันมีอยู่ว่า………. ปี 2557 หมอ เริ่มไปเล่นกีฬา golf ด้วยความที่ แรงเยอะ (บ้าพลัง 555) ขยันซ้อมเกินไป ตีอัดผิด จังหวะ หลังลั่นเลยครับ !!! ปวดร้าว แบบมีดปัก ผสมไฟฟ้าช็อต ลงขาด้านขวา นอนพัก กินยา อยู่ 2 สัปดาห์ ยังฝืนไปทำงานที่โรงพยาบาล ยืนผ่าตัด ปรากฏว่า ปวดมาก ยืนได้ไม่เกิน 20 นาที ต้องนอนพักเป็นระยะ สรุปไม่ไหวแล้ว…… ยอมทำ MRI Scan ตรวจ MRI Scan ไปพบว่า
หมอนรองกระดูกแตกทับเส้นประสาท 1 ปล้อง และ หมอนรองกระดูกสันหลังเริ่มเสื่อม อีก 2 ปล้อง
“ โอ้ พระเจ้า จอรจ์ ”
อึ้งเลยครับ ว่าทำไม หมอ ปวดหลัง มากเหลือเกิน ในช่วงแรกๆ มีอาการเจ็บปางตาย เหมือนมีดมาปักตรงขา หยุดงานไป เกือบเดือน ผ่าตัดคนไข้ไม่ได้ เพราะ แพทย์ยังเดี้ยง นึกในใจว่า ตัวหมอจะถูกผ่าตัดไหมเนี่ย ??? โชคดีครับ จากการรักษา ด้วยสารพัดยา ใส่เข็มขัดพยุงหลัง เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้หลัง ทุกวันนี้หายดีเลยครับ หมอสามารถออกกำลังกายได้ทุกอย่างตามปกติ วิ่ง ฟิตเนส ว่ายน้ำ , เล่นเทนนิส เล่นตีแบดมินตัน ได้หมดเพราะสดชื่นครับ 555
ฝากถึงคนไข้ ทุกๆท่านเลยครับ โรคกลุ่มนี้ ผลการรักษา โดย วิธี “ไม่ต้องผ่าตัด” ย้ำครับ ไม่ต้องผ่าตัด นะครับ ได้ผลดีถึง 80 – 90 % แต่ต้องใช้เวลา และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดครับ
อีกเรื่องครับ !!! สำคัญมาก โรคปวดหลัง ปวดเอว แนะนำตรวจกับ หมอกระดูกและข้อ โดยตรงนะครับ อย่าไปรักษา ทัวร์หมอบ้าน หมอน้ำมนต์ , หมอนวด , หมอจัดกระดูก สารพัดสารพัน (กระดูกสันหลัง นะคร้าบบ ไม่ใช่ฟันในช่องปาก) มันเสียเวลา เสียเงินทอง โดยเปล่าประโยชน์ครับ หมอขอให้กำลังใจ “แก๊งค์คนปวดหลัง” ทุกท่านครับ ขอให้หายดี ไม่ต้องถูกผ่าตัดครับ
ส่งภาพ ปิดท้ายด้วย ฟิลม์ MRI Scan ไม่ใช่ของใคร ของหมอเองเลยครับ ชื่อหรา อยู่มุมขวาบน
นพ.สุนทร ศรีสุวรรณ์ ตอนนี้เข้าใจ พี่ จา พนม เลยครับ เล่นจริง เจ็บจริง ไม่ใช้ตัวแสดงแทน มันเป็นอย่างนี้นี่เอง
ภาพ MRI Scan แนวแกนกลางลำตัว [ Axial View ]
– ลูกศรสีขาว คือ หมอนรองกระดูกที่แตกยื่น มากดเส้นประสาทไขสันหลัง
เส้นประสีแดง คือ แนวขอบเขตของหมอนรองกระดูก ที่แตกออกมาครับ
ภาพ MRI Scan ด้านข้าง [ LATERAL View ] ลูกศรสีขาว และวงกลมเส้นประสีแดง แสดง ชิ้นหมอนรองกระดูก ที่แตกปลิ้น ลอยออกมาเบียดเส้นประสาทไขสันหลัง
ก็บอกแล้วไงครับ โรคนี้มัน ฮิต กับหมอยังเป็นเลยครับ 555
หาความรู้ ทางกระดูกและข้อเพิ่มเติมได้ที่…
www.thedoctorbone.com

นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา