เชียงใหม่-เกษตรชวนแอ่วงาน “สตรอว์เบอร์รี และของดีอำเภอสะเมิง ครั้งที่ 20 ประจำปี 2566” วันที่ 11-14 กุมภาพันธ์ 2566”

เชียงใหม่-เกษตรชวนแอ่วงาน “สตรอว์เบอร์รี และของดีอำเภอสะเมิง ครั้งที่ 20 ประจำปี 2566” วันที่ 11-14 กุมภาพันธ์ 2566”


วันที่ 20 มกราคม 2566 เวลา 10.00 น.จังหวัดเชียงใหม่ จัดงานแถลงข่าวการจัดงาน “สตรอว์เบอร์รี และของดีอำเภอสะเมิง ครั้งที่ 20 ประจำปี 2566” โดยกำหนดจัดขึ้น ณ วันที่ 11-14 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ที่ว่าการอำเภอสะเมิง ตำบลสะเมิงใต้ จังหวัดเชียงใหม่

นายเจริญ พิมพ์ขาล เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่ มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการปลูกสตรอว์เบอร์รี มีพื้นที่ปลูกในปี2566 ทั้งสิ้น 6,977 ไร่ มีพื้นที่มีปลูกในอำเภอสะเมิง กัลยานิวัฒนา แม่วาง แม่แจ่ม ฝาง และแม่ริม โดยพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 23.62 (1,333 ไร่) ผลผลิตรวมทั้งจังหวัด 19,049 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 21.92 (3,425 ตัน) ซึ่งอำเภอสะเมิงมีพื้นที่ปลูกมากที่สุด 4,010 ไร่ เกษตรกร 660 ครัวเรือน ผลผลิต 10,025 ตัน

ส่วนปัจจัยที่ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากพื้นที่การปลูกเพิ่มมากขึ้น และมีการส่งเสริมจากภาครัฐและเอกชน ในด้านการรวมกลุ่ม สนับสนุนปัจจัยการผลิตรวมถึงการอบรมให้ความรู้ต่างๆ ปัจจุบันมีหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอ รวมถึงหน่วยงานบูรณาการต่างๆ และเกษตรกรผู้ปลูกสตรอว์เบอร์รีร่วมมือในการผลิตสตรอว์เบอร์รีปลอดภัย เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และได้มีการส่งเสริมการปลูกสตรอว์เบอร์รีในรูปแบบแปลงใหญ่ในพื้นที่ตำบล บ่อแก้ว เพื่อเป็นการยกระดับการแข่งขันในระบบธุรกิจเกษตร

นายวิทยา นาระต๊ะ ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรอำเภอสะเมิง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าการปลูกสตรอว์เบอร์รีเป็นไม้ทรงพุ่มขนาดเล็ก เติบโตโดยการแตกกอ ดอกสีขาว ผลมีสีแดง เป็นมัน มีเมล็ดติดอยู่ที่ผิวด้านนอกของผล มีกลิ่นหอมเมื่อผลสุก ต้องการอุณหภูมิต่ำในช่วงพัฒนาตาดอก และการติดผล ปลูกได้ในดินร่วนซุย มีการระบายน้ำดี พื้นที่ควรมีระดับความสูงจากน้ำทะเลตั้งแต่ 800 เมตรขึ้นไป อุณหภูมิ 10-25 องศาเซลเซียส (มีอากาศเย็นตลอดปี)

โดยเริ่มปลูกในช่วงเดือนปลายสิงหาคม – ปลายตุลาคม เริ่มเก็บเกี่ยวช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงช่วงเดือนเมษายนของปีถัดไป มักจะเก็บเกี่ยวเมื่อผลสุกประมาณ 75-80 เปอร์เซนต์ โดยพิจารณาจากสีผลที่เปลี่ยนเป็นสีชมพูอมแดง พันธุ์ที่นิยมปลูกในเชียงใหม่ คือ พันธุ์พระราชทาน 80 มีลักษณะผลเป็นรูปทรงกรวย ปลายแหลม น้ำหนักผลเฉลี่ย 30-35 กรัม มีความหวานเฉลี่ย 12.85 องศาบริกซ์ ซึ่งนิยมรับประทานผลสด ทนทานต่อโรคแอนแทรคโนส และราแป้ง ผลผิตต่อไร่ประมาณ 3,000 กก./ไร่

ด้านนายณฐกร ภัทรวนนท์ นายอำเภอสะเมิง กล่าวว่า ในปีนี้ได้ร่วมกันจัดงาน“สตรอว์เบอร์รี และของดีอำเภอสะเมิง ครั้งที่ 20 ประจำปี 2566” ชาวอำเภอสะเมิงขอเชิญชวนเที่ยวงานสตรอว์เบอรี และของอำเภอสะเมิงครั้งที่ 20 ปี 2566ภายในงาน มี กิจกรรมมากมาย อาทิ การจำหน่าย
สตรอว์เบอร์รีและพีชผลทางเกษตร สินค้า OTOP อำเภอสะเมิง การประกวดของดีประเภทผลผลิตทางการเกษตร การประกวดผลิตภัณฑ์แปลรูปสตรอว์เบอร์รี

การประกวดผลิตภัณฑ์ชุมชนและอาหารท้องถิ่นการประกวดหนูน้อยสตรอว์เบอร์รี พิธีเปิดงานสตรอว์เบอร์รี การประกวดชุดแฟนซี การประกวดธิดาชนเผ่า การแข่งขันลูกทุ่งแดนเซอร์ ออกรางวัลสลากการกุศล การประกวดธิดาสตรอว์เบอร์รี นิทรรศการจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ชมพืชผลทางเกษตรโครงการหลวง และโครงการตามแนวพระราชดำริ กาดหมั้วคัวฮอม ตลาดสีเขียว การแสดงมหรสพ เช่น มวย รำวง สวนสนุก และอื่นๆนอกจากนี้ ยังได้สัมผัสกับบรรยากาศอันหนาวเย็น และแหล่งปลูกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

พัฒนชัย/เชียงใหม่