ผู้ประกอบการร้อง รัฐบาลบริหาร”สุดห่วย” ปล่อยน้ำมันขาดแคลนรับปีใหม่”ปั๊มแบรนด์” ต้อง”ปันส่วน”ปั้มอิสระ”ปิดตัว”

ผู้ประกอบการร้อง รัฐบาลบริหาร”สุดห่วย” ปล่อยน้ำมันขาดแคลนรับปีใหม่”ปั๊มแบรนด์” ต้อง”ปันส่วน”ปั้มอิสระ”ปิดตัว”


ผู้สื่อข่าวจาก จ.สงขลารายงาน รายงานวันนี้ 10 ธ.ค.2565 ว่าได้เกิดภาวะน้ำมันเชื้อเพลิง ทั้งดีเซล และแก๊ซโซฮอลล์ 95 ใน คลังน้ำมันในภาคใต้ ทั้งคลังน้ำมันที่ อ.สิงหนคร จ.สงขลา ซึ่งเป็นคลังร่วมของบริษัท เอสโซ่,คาลเท็กซ์,เชลล์ และของ ปตท. ซึ่งจ่ายน้ำมันให้กับ ปั๊มน้ำมันใน 7 จังหวัดภาคใต้ และ คลังที่ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งจ่ายน้ำมันให้กับ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ซึ่งได้มีการแจ้งให้กับ ลูกค้าที่เป็น”ปั๊มแบรนด์” ของตนเอง และ”จ็อบเบอร์” ที่เป็น ตัวแทนการค้าส่ง ให้ทราบว่า เกิดการขาดแคลนน้ำมัน และมีราคาที่สูงขึ้น โดยเฉพาะราคา”ค้าส่ง” ที่ บริษัทผู้ผลิตน้ำมันขายให้กับ”จ็อบเปอร์” ต้องขายในราคาที่แพงกว่าราคาหน้าปั๊ม และต้องมีการ”ปันส่วน” น้ำมันชนิดต่างๆ แบบ “วันต่อวัน” ตาม สต๊อก ของน้ำมันในคลัง ที่ต้องดูปริมาณของน้ำมัน
โดย เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ คลังน้ำมัน ใน อ.สิงหนคร เปิดเผยถึงสาเหตุที่น้ำมันขาดแคลนในห้วงของปลายปีว่า

เกิดสภาวะของการขาดแคลนน้ำมันที่เรียกว่า “สต็อกต่ำ” มาตั้งแต่เดือน พ.ย.ที่ผ่านมา เนื่องจากมี วิกฤติน้ำมัน เกิดขึ้นตั้งแต่ สงครามรัสเซีย-ยูเครน และกลายเป็นปัญหาที่เรื้อรังในวงการค้าน้ำมันมาเรื่อยๆ ที่ทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงมีราคาแพง และถูก รัฐบาล ตรึงราคาขายของดีเซลเอาไว้ที่ ลิตรละ 35 บาท ไม่เป็นไปตามกลไก การขึ้นลงของราคาน้ำมันโลก และรัฐบาลก็ยังเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันทุกวัน ทำให้ราคาน้ำมันในประเทศไม่เป็นไปตามความเป็นจริง แต่ก็ไม่ได้ทำให้น้ำมันขาดแคลน เพียงแต่โรงกลั่นและคลังมีการขายน้ำมันในราคาที่แพง โดยเฉพาะบัญชีค้าส่ง ที่ขายให้กับ”จ็อบเบอร์” ซึ่งมีการนำไปขายต่อให้กับ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม โลจิสติกส์ และ ปั้มน้ำมันอิสระ มีราคาสูงกว่าราคาหน้าปั๊มที่เป็นแบรนด์ของบริษัท ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรม และธุรกิจที่ต้องใช้น้ำมัน ต้องซื้อน้ำมันในราคาที่แพงกว่าหน้าปั๊ม และปั๊มอิสระได้รับผลกระทบ ต้องปิดตัวเป็นจำนวนมาก


ส่วนปัญหาที่ น้ำมันขาดแคลนในขณะนี้ ตั้งแต่ต้นเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา เรื่องจาก กระทรวงพลังงาน มีการอนุญาตให้ โรงกลั่นปิดซ่อมบำรุงประจำปีทีเดี่ยว 3 โรง เป็นเหตุให้เกิดการขาดแคลนน้ำมัน หรือคลังมี สต๊อกต่ำ ต้องมีการบริหารจัดการ ในการขาย โดยขายให้กับปั๊มแบรนด์ของบริษัทก่อน แต่ด้วยปริมาณน้ำมันที่มีอยู่จำกัด จึงต้องแบ่งปันโดยมีกำหนดโควต้าในการขาย เช่น ปั๊ม ก สั่งน้ำมันดีเซล 15,000 ลิตร ก็ตัดเหลือ 9,000 ลิตร ส่วน แก๊สโซฮอลล์ 95 ก็มีการ จำกัดปริมาณ ให้ปั๊มละ 3,000 ลิตร เป็นต้น ทำให้ ปั๊มจำนวนมาก มีน้ำมันไม่พอขายให้กับลูกค้าในแต่ละวัน และไม่ขายให้กับลูกค้า ที่ต้องการซื้อใส่ถัง หรือ แกลลอน เพื่อนำไปใช้ในการเกษตร ซึ่งสร้างความเดือดร้อน ให้กับเจ้าของปั๊ม และประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ซึ่งไม่มีปั๊มที่มีแบรนด์เพราะปั๊มอิสระปิดตัว เนื่องจากแบกรับราคาน้ำมันที่แพงไม่ไหวและยังประสพกับปัญหาที่คลังไม่ยอมขายน้ำมันให้กับ”จ็อบเปอร์”
ซึ่ง “จ็อบเบอร์”รายใหญ่ของภาคใต้กล่าวว่า คลังมีโควต้าให้กับ”จ็อบเบอร์”ในจำนวนจำกัดที่น้อยมาก จาก 100,000 ลิตรต่อ ผลิตภัณฑ์ เหลือเพียง 10,000 ลิตรต่อผลิตภัณฑ์ ทำให้ลูกค้าจำนวนมากไม่ได้น้ำมันไปขายในปั๊ม รวมทั้งราคาขายส่งที่กำหนดโดยคลัง เป็นราคาที่กำหนดเพียงไม่ต้องการขาย เช่น แก๊สโซฮอลล์ 95 ซึ่ง ปั้มที่มีโลโก้ของบริษัทขายอยู่ที่ลิตรละ 35.50 แต่คลังขายส่งในราคาค้าส่งลิตรละ 39 บาท ซึ่งเป็นการตั้งราคาเพื่อไม่ขาย


ผู้สื่อข่าวรานงานว่า จากการตรวจสอบพบว่า การขาดแคลนน้ำมัน ไม่ได้เกิดเฉพาะในภาคใต้ แต่มีการขาดแคลนทั้งประเทศ เช่น คลังน้ำมันที่ จ.อยุธยา มีการแจ้งให้ลูกค้าทราบว่า มีโควต้าน้ำมันดีเซล 350,000 ลิตร แก๊สโซฮอลล์ 95 หยุดจ่าย, แก๊สโซฮอลล์ 91 เหลือ 30,000 ลิตร คลังน้ำมันที่ระยองน้ำมันดีเซล บี 7 เหลือ 780,000 ลิตร แก็สโซฮอลล์ 95 เหลือ 140,000 ลิตร หรือบางวันก็จะส่งข้อความว่า คลังอยุธยา น้ำมันหมดแล้ว ขออภัยในความไม่สะดวก หรือ or ที่แจ้งลูกค้าว่า เนื่องจากปริมาณน้ำมันมีอยู่จำกัด จึงจำเป็นต้องชะลอการขาย ขอให้ลูกค้าตรวจสอบราคาก่อนรับน้ำมัน หรือการส่งข้อความจาก คลัง หรือจาก บริษัทมา” จ็อบเบอร์” ว่า ขณะนี้สถานน้ำมันในประเทศถือว่า “ซัพพลาย”ตึงตัวเนื่องจากโรงกลั่นน้ำมัน ไทยออยล์ ,ไออาร์พีซี ยังไม่สามารถดำเนินการได้ จึงทำให้น้ำมันออกสู่ตลาดน้อย สถานการณ์อย่างนี้น่าจะอยู่ถึงสิ้นปี เป็นต้น
นอกจากนั้น ยังพบว่าโรงกลั่น รายงานข้อเท็จจริงเรื่อง ค่าการตลาด ที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงเช่น ปั๊มได้ค่าการตลาดจาก แก๊สโซฮอลล์ 95 ลิตรละ 4 บาท ซึ่งข้อเท็จจริงค่าการตลาดของปั๊มได้ลิตรละไม่ถึง 1 บาท ค่าการตลาดดีเซล ลิตรละ 60 สตางค์ ไม่ได้เป็นไปตามตารางที่โรงกลั่นแจ้งให้กับกระทรวงพลังงาน
ผู้ประกอบการรายหนึ่ง ได้เปิดเผยว่า การบริหารเรื่องน้ำมันของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ กระทรวงพลังงาน ล้มเหลว เพราะไม่เคยทราบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ฟังแต่การรายงานของโรงกลั่น และบริษัทผู้ค้าน้ำมัน ที่ปกปิดข้อเท็จจริง รวมทั้งไม่มีผู้รับผิดชอบเรื่องของคลังน้ำมันในภูมิภาคต่างๆ เพราะทุกอย่างขึ้นตรงกับ กรมธุรกิจน้ำมันเชื้อเพลิงที่ ส่วนกลาง ส่วนสำนักงานพลังงานจังหวัด ในพื้นที่ซึ่งมีคลังน้ำมันตั้งอยู่ ไม่ได้มีหน้าที่ในการกำกับดูแล คลังน้ำมันในพื้นที่แต่อย่างใด เป็นเหตุให้ ผู้ประกอบการปั้มน้ำมัน และผู้ประกอบการอุตสาหกรรม รวมทั้งประชาชน ได้รับความเดือดร้อน จากการบริการที่ผิดพลาดของรัฐบาล

นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา