พิจิตร-ชลประทานพิจิตรยกบานประตูฝายไฮดรอลิคพับได้ในแม่น้ำยมกักเก็บน้ำช่วยชาวนาแก้ภัยแล้ง

ชลประทานพิจิตรเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำยมด้วยการยกบานประตูฝายไฮดรอลิคพับได้ ซึ่งเป็นหนึ่งเดียวในแม่น้ำยมที่เป็นตัวช่วยในการกักเก็บและชะลอการไหลของน้ำ ซึ่งในเร็ววันนี้คาดปี 67/68 กรมชลประทานจะสร้างประตูระบายน้ำแบบขั้นบันไดในแม่น้ำยม 5 แห่ง แล้วเสร็จ ซึ่งจะช่วยนาข้าวได้หลายแสนไร่

วันที่ 3 ธันวาคม 2565 นายเอกฉัตร เอี่ยมตาล ผอ.โครงการชลประทานพิจิตร, นายวัชรินทร์ แทนจำรัส เลขาและตัวแทน นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมกันลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำยม ซึ่งหลังจากฤดูฝนหมดลงตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ต.ค. 65 ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำยมเริ่มลดลงดังนั้นเพื่อเป็นการชะลอการไหลของน้ำและกักเก็บน้ำในแม่น้ำยม ซึ่งไม่มีเขื่อนขนาดใหญ่แต่ในพื้นที่จังหวัดพิจิตรกรมชลประทานได้สร้างประตูระบายน้ำสามง่ามหรือฝายไฮดรอลิกพับได้ในแม่น้ำยม ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านจระเข้ผอม ต.รังนก อ.สามง่าม จ.พิจิตร ซึ่งถือเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในแม่น้ำยม ซึ่งสร้างเสร็จและใช้งานมาตั้งแต่ปี 2563

ดังนั้นวันนี้ นายเอกฉัตร เอี่ยมตาล ผอ.โครงการชลประทานพิจิตร ประเมินสถานการณ์แล้วว่าระดับน้ำเริมลดลงจึงได้ดำเนินการยกบานประตูของฝายไฮดรอลิกพับได้ เพื่อชะลอการไหลของน้ำในแม่น้ำยม อีกทั้งเพื่อเป็นการกักเก็บน้ำเตรียมพร้อมรับมือฤดูแล้ง โดยการยกบานประตูฝายไฮดรอลิคพับได้ในครั้งนี้ ทำให้มีระดับน้ำในแม่น้ำยมสูงประมาณ 5 เมตร และกักเก็บน้ำช่วยชาวนาพื้นที่ลุ่มน้ำยมในเขต ต.รังนก ต.สามง่าม ต.กำแพงดิน อ.สามง่าม เพื่อให้มีน้ำทำนาปรังในฤดูกาลที่จะถึงนี้และคาดว่าน้ำที่กักเก็บไว้นี้จะสามารถ มีพอใช้ได้ถึงประมาณเดือน เม.ย. 66

นายเอกฉัตร เอี่ยมตาล ผอ.โครงการชลประทานพิจิตร กล่าวเพิ่มเติมอีกว่าอนาคตของแม่น้ำยมที่กรมชลประทานกำลังดำเนินการสร้างประตูระบายน้ำแบบขั้นบันไดเริ่มต้นตั้งแต่ที่ปตร.บ้านท่านางงาม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก , ส่วนในเขตพิจิตร ที่ ปตร.บ้านท่าแห ต.กำแพงดิน อ.สามง่าม , ที่ ปตร.บ้านวังจิก อ.โพธิ์ประทับช้าง , ที่ ปตร.โพธิ์ประทับช้าง อ.โพธิ์ประทับช้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 67/68 โดยถ้าแล้วเสร็จจะสามารถกักเก็บน้ำได้ ประมาณ 38.91 ล้าน ลบม. พื้นที่ได้รับประโยชน์ 198,746 ไร่ รวมถึง ปตร.สามง่าม ฝายไฮดรอลิคพับได้พื้นที่ที่ได้รับประโยชน์กว่า 2 หมื่นไร่ ซึ่งก็จะทำให้ชาวนาลุ่มน้ำยมได้มีน้ำเพาะปลูกรวมถึงช่วยชะลอน้ำในฤดูน้ำหลากไม่ให้น้ำไหลท่วมภาคกลางและ กทม.ได้ระดับหนึ่ง อีกด้วย

สำหรับโครงการชลประทานพิจิตรดูแลอาคารชลประทานขนาดกลาง 17 แห่ง อยู่ริมแม่น้ำน่าน 14 แห่ง ริมแม่น้ำยมและในแม่น้ำยมมี 3 แห่ง ตลอดจนมีสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าทั้งหมด 62 แห่ง แบ่งออกเป็นแม่น้ำน่าน 37 สถานี แม่น้ำยม 25 สถานีรวมพื้นที่รับประโยชน์ 401,243 ไร่ ที่พร้อมใช้ปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรแล้วด้วยเช่นกัน

สิทธิพจน์ พิจิตร