“วราวุธ” เปิดแผนรับมือไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 66 ผนึกกำลังทุกภาคส่วน ยกระดับการป้องกัน มุ่งนโยบาย “3 พื้นที่ 7 มาตรการ”

“วราวุธ” เปิดแผนรับมือไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 66 ผนึกกำลังทุกภาคส่วน ยกระดับการป้องกัน มุ่งนโยบาย “3 พื้นที่ 7 มาตรการ”


วันนี้ (7 พฤศจิกายน 2565) เวลา 16.00 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เป็นประธานมอบนโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2566 แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน รวมถึงผู้แทนจากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด 76 จังหวัด โดยมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เข้าร่วมรับฟัง ณ ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) กรมควบคุมมลพิษ และผ่านระบบการประชุมทางไกล Video Conference เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ในปี 2566 ที่คาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากสภาพอากาศในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีแนวโน้มที่จะมีสภาวะแห้งแล้งมากขึ้น จากสภาพอากาศที่หนาวเย็น มีปริมาณฝนน้อย และปรากฏการณ์ “ลานีญา” ที่เริ่มน้อยลง


นายวราวุธ เปิดเผยว่า สำหรับเมืองใหญ่ อย่างเช่น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 มีสาเหตุหลักมาจากการจราจร ซึ่งนอกจากแผนเฉพาะกิจฯ แล้ว ยังได้เสริมมาตรการร่วมกับผู้ประกอบการค้าน้ำมัน ที่จะนำน้ำมันที่มีปริมาณกำมะถันต่ำมาจำหน่ายให้กับพี่น้องประชาชนในราคาปกติ ในช่วง 3 เดือน ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เพื่อช่วยคุณภาพอากาศในเมืองใหญ่ให้ดีขึ้น รวมถึงยังได้รับความร่วมมือจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยประสานงานกับผู้ประกอบการยานยนต์กว่า 11 บริษัท เปิดให้ประชาชนนำรถเข้าทำความสะอาดเครื่องยนต์และเปลี่ยนไส้กรองในราคาพิเศษ นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้เข้มงวดกับรถยนต์ของส่วนราชการ ที่ต้องมีมาตรฐานเข้มงวดกว่ามาตรฐานที่มีต่อประชาชน ซึ่งหากตรวจพบและไม่มีการแก้ไขภายใน 30 วัน จะมีการติดตามผลไปยังหน่วยงานเจ้าของยานพาหนะนั้นด้วย


ในส่วนของต่างจังหวัด สาเหตุหลักของปัญหาไฟป่า หมอกควัน ยังคงมาจากการเผาไหม้ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และพื้นที่เกษตร ในปีนี้ จึงได้ขอความร่วมมือไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ทำความเข้าใจกับพี่น้องเกษตรกรเพื่อลดปริมาณการเผาในพื้นที่ ทั้งการเคาะประตูบ้านแจ้งข่าวทำความเข้าใจ การประชาสัมพันธ์เชิงรุก และการแจ้งเตือนล่วงหน้า ตลอดจนยังคงกำชับให้มีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในแต่ละพื้นที่แบบครบวงจร ทั้งการชิงเก็บ ลดเผา และการใช้แอปพลิเคชัน Burn Check เพื่อลงทะเบียนและจองเวลาในการเผาล่วงหน้า เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองในแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ ยังคงมีการประสานงานผ่านกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อขอให้ประสานงานเรื่องหมอกควันข้ามแดน กับสำนักเลขาธิการอาเซียนอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนจากประเทศใกล้เคียง


โดย แผนเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ให้มุ่งเน้นยกระดับความเข้มงวดใน 3 พื้นที่ ได้แก่ 1) พื้นที่เมือง 2) พื้นที่ป่า และ 3) พื้นที่เกษตรกรรม ภายใต้ 7 มาตรการ ตามกรอบ “สื่อสารเชิงรุก ยกระดับปฏิบัติการ สร้างการมีส่วนร่วม” ประกอบด้วย 1) เร่งรัดการประชาสัมพันธ์เชิงรุกและแจ้งเตือนล่วงหน้า 7 วันทุกพื้นที่ 2) ยกระดับมาตรการการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และแผนอื่นที่เกี่ยวข้อง 3) ยกระดับการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบครบวงจร (ชิงเก็บ ลดเผา และ Burn Check) 4) กำกับดูแลการดำเนินการในทุกระดับอย่างเข้มงวด ติดตามผลการดำเนินการและประเมินสถานการณ์เป็นระยะอย่างต่อเนื่อง 5) ลดจุดความร้อน ป้องกันและควบคุมการเกิดไฟในทุกพื้นที่ และพัฒนาระบบพยากรณ์ความรุนแรงและอันตรายของไฟ (Fire Danger Rating System : FDRS) 6) ผลักดันกลไกระหว่างประเทศ เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนมีประสิทธิภาพสูงสุด และ 7) ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนและดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าและฝุ่นละออง