เลขาธิการ ศอ.บต. พบปะ สื่อมวลชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมแถลงนโยบายแผนการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้

เลขาธิการ ศอ.บต. พบปะ สื่อมวลชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมแถลงนโยบายแผนการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้


ในห้วงที่ผ่านมาและที่จะดำเนินต่อไปในปี 66 เน้นยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชนมีความกินดี อยู่ดี และอยู่ร่วมกันในวิถีพหุวัฒนธรรม
ที่ โรงแรมริเวอร์ ปัตตานี อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธานเปิดกิจกรรมเสวนาสร้างการรับรู้การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้แก่สื่อมวลชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยมี นายศรัทธา คชพลายุกต์ รองเลขาธิการ ศอ.บต. ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. ตลอดจนสื่อมวลชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าร่วม


ในการนี้ พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. ได้พบปะเพื่อขอบคุณสื่อมวลชนในการทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการสื่อสารการทำงานของ ศอ.บต. ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมีส่วนสำคัญมากต่อการทำให้บ้านเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้สงบสุขเพราะพี่น้องสื่อมวลชนถือว่าเป็นกลไกหลักที่สร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจในเรื่องราวที่สำคัญของบ้านเมืองให้กับพี่น้องประชาชนที่จะทำให้เกิดทัศนคติที่ดี พร้อมกันนี้ พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. ได้แถลงนโยบายแผนการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในห้วงที่ผ่านมาและที่จะดำเนินต่อไปในปีงบประมาณ 2566 ที่เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชนมีความกินดี อยู่ดี และอยู่ร่วมกันในวิถีพหุวัฒนธรรม อาทิ

ในเรื่องของการพัฒนาคุณภาพชีวิตซึ่งต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนตามฐานข้อมูล TPMAP ทั้ง 5 มิติ ประกอบด้วย มิติด้านสุขภาพ การศึกษา รายได้ ความเป็นอยู่ และการเข้าถึงสวัสดิการแห่งรัฐ และยังรวมไปถึงกลุ่มเปราะบาง ซึ่ง ศอ.บต. กำลังเดินหน้าในการแก้ไขปัญหา นอกจากนี้ยังมีในเรื่องของการแก้ไขปัญหาความยากจน ศอ.บต. ได้ขับเคลื่อนโครงการ 1 ข้าราชการ 1 ครัวเรือนยากจน ซึ่งเป็นการจัดเจ้าหน้าที่ข้าราชการประกบครัวเรือนยากจนโดยประสานกับชุดข้าราชการตำบลทุกภาคส่วนโดยข้าราชการจะทำหน้าที่เฝ้า ประกบ ติดตาม รายงาน เพื่อแก้ไขปัญหา ที่ผ่านมาได้มีการนำร่องแล้ว 400 ครัวเรือน ปี 66 จะขยับขึ้นอีก 1,200 ครัวเรือน

โดยเลขาธิการ ศอ.บต. เน้นย้ำว่า การแก้ไขปัญหาภาคใต้ต้องตอบโจทย์และต้องยั่งยืน นอกจากนี้ ยังมีในเรื่องของเศรษฐกิจฐานราก ไม่ว่าจะเป็นภาคการเกษตร มีการส่งเสริมการผลิตจากพืชเศรษฐกิจใหม่ ที่สอดคล้องกับศักยภาพพื้นที่และความต้องการของตลาด เช่น มะพร้าว ข้าว กาแฟ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมการปลูกกาแฟโรบัสต้าสายพันธุ์พื้นถิ่น ซึ่งเป็นพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ได้มีพระประสงค์ให้มีการอนุรักษ์พันธุ์กาแฟพื้นถิ่น และพัฒนากระบวนการผลิตให้เป็นกาแฟที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ การส่งเสริมอาชีพปศุสัตว์ ภาคการท่องเที่ยว ส่งเสริมศักยภาพของวิสาหกิจท่องเที่ยวชุมชน ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก โดยเน้นการสร้างอัตลักษณ์เฉพาะของแหล่งท่องเที่ยว


การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ วางกรอบดำเนินงานในทุกช่วงวัย เช่น ช่วงปฐมวัย เน้นพัฒนาสุขภาพ ปลูกฝังการอ่านหนังสือ เสริมทักษะด้านภาษา ดำเนินการโดยหลายหน่วยงาน ศอ.บต. จัดโครงการเสริมช่องว่าง เช่น โครงการมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์และการอ่านเพื่อเด็กปฐมวัยชายแดนใต้ ธนาคารสื่อสร้างสรรค์ เป็นต้น ในวัยการศึกษา มุ่งพัฒนาพร้อมกับแก้ปัญหาที่เป็นจุดอ่อนของนักเรียนในพื้นที่ เช่น ปัญหาทักษะการใช้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนที่มุ่งศึกษาในสายวิทยาศาสตร์ ได้เตรียมการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในระดับชั้น ม.ปลาย ใน ๓ จังหวัด จังหวัดละ 6 ห้องเ รียน รวม ๑๘ ห้องเรียน ส่งเสริมการดำเนินชีวิตตามความเชื่อหลักศาสนา และอัตลักษณ์โดยไม่เลือกปฏิบัติ

มีการดำเนินงานที่สำคัญ เช่น ประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลาม ส่งเสริมการประกอบศาสนกิจในช่วงเดือนรอมฎอน การกำหนดให้มีวันหยุดราชการในวันสำคัญทางศาสนา / การอำนวยความสะดวก ให้กับประชาชนที่ไปประกอบพิธีฮัจญ์และอุมเราะห์ ณ ประเทศซาอุดีอาระเบีย การสนับสนุนค่าอาหารกลางวัน สำหรับนักเรียนและครูผู้สอนในศูนย์ศึกษาศาสนาอิสลาม ประจำมัสยิดหรือตาดีกา จำนวนกว่า ๒,๐๐๐ แห่ง ศาสนาพุทธมีการการพัฒนาฟื้นฟูบูรณะวัดและศาสนสถานต่างๆ การสนับสนุนการศึกษาธรรมทายาทและศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ การสนับสนุนให้ประชาชนที่ได้รับการคัดเลือกไปประกอบศาสนกิจที่ประเทศอินเดียและเนปาล การสนับสนุนให้ตัวแทนชาวพุทธไปกราบนมัสการสมเด็จพระสังฆราช และพระเถระชั้นผู้ใหญ่


นอกจากนี้ภายในงานมีการสานเสวนา โดยมีวิทยากรร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สะท้อนมุมมอง เพื่อให้การสื่อสารสร้างความเข้าใจระหว่างภาครัฐและสื่อมวลชนในพื้นที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และสร้างการรับรู้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ