บสย. – SMI สภาอุตสาหกรรมฯ ร่วมต่อยอดช่วยเหลือกลุ่มสมาชิก ส.อ.ท.

บสย.-สถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมหาแนวทาง จัดหาหลักสูตรและจัดคลินิคพิเศษ แบ่งตามเซกเม้นท์ เร่งช่วยเหลือสมาชิกกลุ่ม ระบุ ที่ผ่านมา บสย. F.A. Center มีการอบรมให้แล้วกว่า 400 ราย


นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ร่วมหารือกับ นายชนิตร ชาญชัยณรงค์ รองประธานสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต (SMI) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) พร้อมด้วยทีมคณะกรรมการสถาบัน SMI เพื่อสานต่อกิจกรรมหลังจากการลงนามความร่วมมือระหว่าง บสย. และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะด้านคลินิคให้คำปรึกษาทางการเงิน ซึ่งในปี 2565 ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs (บสย. F.A. Center) ได้มีการจัดอบรมกลุ่มสมาชิก ส.อ.ท. ไปแล้วกว่า 400 ราย และได้มีการส่งสมาชิกลงทะเบียนขอเข้ารับคำปรึกษาเพื่อเตรียมตัวในการขอสินเชื่อกว่า 150 ราย


พร้อมจัดอบรมพิเศษเฉพาะผู้ประกอบการของสภาอุตฯในหลักสูตร “SMEs รวย…ด้วยบัญชีเดียว” โดย 1 คอร์สมีถึง 3 หลักสูตร พร้อมกันนี้ ยังมีการต่อยอดความช่วยเหลือเพิ่มเติม เช่น การจัดคลินิคพิเศษสำหรับสมาชิกหรือกลุ่มที่มีปัญหา ไม่สามารถขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินได้ การให้ความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) และการพัฒนา SMEs จาก บสย. ก่อนที่จะส่งให้กับสถาบันการเงิน แนวทางการจัดทำหลักสูตรต่าง ๆ เพื่อให้ตรงกับสมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย


รวมทั้งการจัดแบ่งการให้บริการตาม segment โดยจะเน้นไปที่ภาคอุตสาหกรรมและการผลิต ซึ่งการแบ่งตาม segment เพราะแต่ละกลุ่มมีความต้องการที่แตกต่างกัน ถ้ารู้ถึงความต้องการแล้วจะทำให้ ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs (บสย. F.A. Center) จัดหาหลักสูตรเฉพาะที่ตรงกับความต้องการของแต่ละกลุ่มสมาชิกได้อย่างเหมาะสม โดยปัจจุบัน ส.อ.ท.มีการจัดแบ่งเป็น 4 segment 1.กลุ่ม Smart SMEs คือกลุ่มที่มีความพร้อมและต้องการขยายตลาด 2.กลุ่ม SMEs Regular เป็นธุรกิจแบบเดิม ๆ ทั่วไป ต้องการเงินทุนหมุนเวียน เสริมสภาพคล่อง 3.กลุ่ม SMEs for BCG กลุ่มที่ต้องการปรับธุรกิจรองรับ BCG เพิ่ม Productivity 4.กลุ่ม Small SMEs กลุ่มธุรกิจที่มีขนาดเล็ก ขาดทักษะความรู้ด้านการเงิน และเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน


นอกจากนี้ ในการร่วมหารือครั้งนี้ บสย. ยังได้นำเสนอโครงการค้ำประกันสินเชื่อ ภายใต้ พ.ร.ก.ฟื้นฟู ระยะที่ 2 อีกจำนวน 50,000 ล้านบาท ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำ 3% ใน 2 ปีแรก วงเงินสูงสุดไม่เกิน 150 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงิน ซึ่งช่วยผู้ประกอบการได้รับประโยชน์ถึง 3 ต่อ ต่อที่ 1 อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อ 2% ใน 2 ปีแรก (รัฐชดเชยดอกเบี้ย 6 เดือนแรก) ต่อที่ 2 ค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อ 1% ใน 2 ปีแรก และ ต่อที่ 3 บสย. พร้อมค้ำประกันสินเชื่อ แบบเต็มวงเงิน โดยระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2565 – วันที่ 9 เมษายน 2566 (ตามกรอบระยะเวลาของธนาคารแห่งประเทศไทย)