“นิพนธ์” ย้ำ กรมที่ดิน-จนท.ที่ดินจังหวัดทั่วประเทศ เร่งเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินให้ประชาชน ตามนโยบายกระจายถือครองที่ดิน แก้ปัญหาความยากจน-ลดความเหลื่อมล้ำ ยึดหลัก ถูกกฎหมาย รวดเร็ว สุจริต เน้นทำ6 ข้อให้เป็นรูปธรรม

“นิพนธ์” ย้ำ กรมที่ดิน-จนท.ที่ดินจังหวัดทั่วประเทศ เร่งเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินให้ประชาชน ตามนโยบายกระจายถือครองที่ดิน แก้ปัญหาความยากจน-ลดความเหลื่อมล้ำ ยึดหลัก ถูกกฎหมาย รวดเร็ว สุจริต เน้นทำ6 ข้อให้เป็นรูปธรรม


ที่ห้องประชุมคอนเวนชั่น โรงแรมรามา การ์เดนส์ กรุงเทพฯ นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย(รมช.มท.) เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการสัมมนาผู้บริหารกรมที่ดิน พร้อมมอบนโยบายตามโครงการพัฒนาระบบสารสนเทศที่ดิน (ระยะที่ 2) โดยมีนายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมที่ดิน พร้อมรองอธิบดีกรมที่ดิน ที่ปรึกษา ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการกอง เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเข้าร่วมพร้อมเพรียง
โดยนายนิพนธ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ที่ดินเป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานที่จำเป็นของประชาชน ที่จะต่อยอดไปสู่การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเฉพาะการมีที่ดินทำกิน เพราะหมายถึงความมั่นคงในชีวิตของประชาชน เป็นการสร้างฐานความเข้มแข็งให้กับประชาชน นำไปสู่การบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชน ทั้งนี้เพื่อให้การทำงานมีความสอดคล้องและเป็นไปในแนวทางเดียวกันทั่วประเทศ จึงขอเน้นย้ำการทำงานต่อเจ้าพนักงานที่ดินทั่วประเทศ ซึ่งเป็นกลไกหลักในการดูแลพี่น้องประชาชนดังนี้

1.การเดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน เป็นหนึ่งในนโยบายการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ที่ส่งผลต่อการเข้าถึงในการมีเอกสารสิทธิในที่ดินของตัวเองเกิดความมั่นคงในกรรมสิทธิ์ ความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนกับภาครัฐ และให้ทราบถึงความต้องการของประชาชนภายใต้โครงการบอกดิน โดยเป็นการรับแจ้งตำแหน่งที่ดินของประชาชน ที่ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินโดยมีหลักฐาน และที่ดินที่ไม่มีหลักฐาน เพื่อกรมที่ดินนำข้อมูลไปตรวจสอบ และหากที่ดินอยู่นอกเขตที่ดินของรัฐ ก็จะถูกบรรจุเข้าสู่แผนการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินระยะ 10 ปี ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้แผนการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน ที่ได้มีการกำหนดเป้าหมาย ขอให้มีการเร่งรัดดำเนินการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน ให้กับประชาชน ด้วยความรวดเร็ว และถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะให้มีมาตรการในการตรวจสอบความถูกต้องเพื่อให้เจ้าหน้าที่ใช้ความระมัดระวัง ละเอียดรอบคอบ อย่าเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่กระทำทุจริต เชื่อว่าภารกิจนี้ จะเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน สร้างโอกาสการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามโครงการที่หน่วยงานภาครัฐได้จัดทำขี้น เป็นการสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาความยากจนลดเหลื่อมล้ำของสังคมได้


“2. การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) เป็นกลไกสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายและแผนบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนผู้ยากไร้ไม่มีที่ดินทำกิน โดยการจัดสรรที่ดินของรัฐประเภทต่างๆ ให้กับผู้ด้อยโอกาสอย่างทั่วถึงเป็นธรรม ด้วยการนำที่ดินของรัฐมาจัดให้กับประชาชนผู้ยากไร้ไม่มีที่ดินทำกินหรือที่อยู่อาศัย โดยไม่ให้กรรมสิทธิ์ แต่เป็นการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินเป็นกลุ่มหรือชุมชนตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่ คทช.กำหนด ในรูปแบบสหกรณ์ หรือรูปแบบอื่นที่เหมาะสม จึงขอให้เจ้าพนักงานที่ดินในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัด (คทช.จังหวัด) ดำเนินงานให้เป็นไปตามกระบวนการจัดที่ดินให้ชุมชน ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทยด่วนที่สุด 3.การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง(น.ส.ล.) เพื่อให้ทราบถึงแนวเขตที่ดินของรัฐที่แน่นอนชัดเจน โดยเฉพาะนำไปจัดที่ดินทำกินให้กับประชาชนกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ ซึ่งผมได้กำชับ ในการประชุมกระทรวงทุกครั้ง ให้มีการแจ้งหน่วยราชการผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย สำรวจข้อมูลที่ดินสาธารณประโยชน์เป็นข้อมูลเบื้องต้น และเมื่อพบว่าที่ดินแปลงใดยังมิได้ออก น.ส.ล. ขอให้มีการเร่งรัดออกหนังสือสำคัญดังกล่าว สำหรับแปลงที่เสื่อมสภาพ ให้พิจารณานำมาดำเนินการภายใต้โครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) ต่อไป” รมช.มท. กล่าว


นายนิพนธ์ กล่าวต่อว่า 4. การเร่งรัดงานค้างในภารกิจสำคัญ ที่กล่าวมา ล้วนมีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่กรมที่ดินจำเป็นต้องเร่งทำ เพื่อเป็นเป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน โดยเฉพาะในเรื่องที่ดินทำกิน จึงขอให้เจ้าพนักงานที่ดินให้ความสำคัญ และเร่งรัดงานค้างดำเนินการให้เกิดการขับเคลื่อน 5.การขุดลอกแหล่งน้ำสาธารณประโยชน์ที่ตื้นเขิน เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาการ ขาดแคลนน้ำในแหล่งน้ำสาธารณประโยชน์ ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการตรวจสอบ โครงการขุดลอกแหล่งน้ำสาธารณประโยชน์ที่ตื้นเขินในพื้นที่ ให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย พิจารณาดำเนินการ “ดินแลกน้ำ” ตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่และสอดคล้องกับสถานการณ์ โดยให้ปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด


และ 6. การพัฒนางานบริการของกรมที่ดินสู่การเป็นองค์กรดิจิทัล ในช่วงที่ผ่านมากรมที่ดิน มีการเปลี่ยนผ่านรูปแบบการทำงานมีการพัฒนาระบบสารสนเทศด้านที่ดินอย่างเป็นระบบ ซึ่งขณะนี้กรมที่ดินสามารถนำร่องการจดทะเบียนออนไลน์ต่างสำนักงานที่ดินได้แล้วในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และมีแผนในการขยายพื้นที่ดำเนินการออกไปอย่างเป็นระบบ ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงงานบริการได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยให้บริการผ่าน Application มือถือ ประชาชนเกิดความสะดวก รวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่าย สิ่งสำคัญที่จะทำให้การดำเนินงานประสบความสำเร็จ ต้องอาศัยการสื่อสารที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างกัน สำนักงานที่ดินเปรียบเสมือนกำลังส่วนหน้าของกรมที่ดิน และเป็นกลไกที่สำคัญที่จะส่งภารกิจต่าง ๆ ของกรมที่ดินขับเคลื่อนไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นองค์กรที่เป็นที่พึ่งให้กับประชาชนได้อย่างแท้จริง

นายปรีชา สถิตเรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา
/////