“สพฐ.ตร.”เตือน ซื้อทองราคาถูกเกินจริง ระวังของปลอม พบมีการส่งตรวจพิสูจน์โลหะทองคำต่อเนื่อง

“สพฐ.ตร.”เตือน ซื้อทองราคาถูกเกินจริง ระวังของปลอม พบมีการส่งตรวจพิสูจน์โลหะทองคำต่อเนื่อง

“ทองคำ” เป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูง หลายคนเก็บออมเงินด้วยการซื้อทองคำแท่ง หวังเก็บไว้ให้ลูกหลาน ลงทุนเพื่อเก็งกำไรในอนาคต หรือซื้อเป็นทองรูปพรรณไว้สวมใส่ ปัจจุบันราคาทองคำซื้อขายบาทละกว่า 30,000 บาท ทำให้พบการฉ้อโกงในลักษณะ “ทองคำยัดไส้” หรือ “ทองคำปลอม” โดยมิจฉาชีพจะใช้วิธีการ “นำทองคำมาสอดไส้โลหะชนิดอื่นๆ เช่น ทองแดง หรือตะกั่ว แล้วหลอกขายในราคาถูก” มีคนตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก เข้าแจ้งความร้องทุกข์กับตำรวจในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ


เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2565 ที่สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) พล.ต.ต.วาที อัศวุตมางกุร โฆษกสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ เปิดเผยว่า พล.ต.ท.วีระ จิรวีระ ผบช.สพฐ.ตร.มีความห่วงใยประชาชน หลังพบคดีที่เกี่ยวกับการฉ้อโกงเพิ่มมากขึ้น สวนทางกับภาวะเศรษฐกิจที่แย่ลง โดยเฉพาะร้านค้าออนไลน์ ที่มักโฆษณาชวนเชื่อว่าเป็นทองคำแท้ แต่ราคาถูกกว่าท้องตลาดนับพันบาท เป็นสิ่งล่อตาล่อใจให้คนหลงเชื่อ ยอมจ่ายเงินไปหวังจะได้ของแท้ราคาถูก แต่สิ่งที่ได้มากลับเป็นทองคำปลอมที่ไม่สามารถดูออกด้วยตาเปล่า

พล.ต.ต.วาทีฯ ย้ำว่า การเลือกซื้อทองคำแท่งหรือทองรูปพรรณ ควรซื้อกับร้านขายทอง               ที่น่าเชื่อถือ ระมัดระวังการซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์ เพราะง่ายต่อการถูกหลอกลวง และไม่ควรใส่ทองคำมูลค่าสูงแล้วเดินในสถานที่เปลี่ยว เพราะเป็นสิ่งล่อตาล่อใจให้มิจฉาชีพก่อเหตุ     ได้ง่าย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.สุวัฒน์  แจ้งยอดสุข ผบ.ตร.มีความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชน ขอให้ร่วมกันป้องกันเหตุร้าย เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของทุกคน

ด้าน พ.ต.อ.หญิง วิภาวดี  เกษมวรภูมิ นวท.(สบ4) กคม.พฐก.กล่าวว่า ที่ผ่านมา       มีการร้องขอจากพนักงานสอบสวนให้ตรวจพิสูจน์โลหะทองคำของกลาง ที่ร้านค้านำมาแจ้งความดำเนินคดี โดยกลุ่มงานตรวจทางเคมี ฟิสิกส์ กองพิสูจน์หลักฐานกลาง จะนำมาตรวจสอบอย่างละเอียด เพราะการกระทำความผิดเกี่ยวกับทองคำ ส่วนใหญ่ที่พบบ่อยจะมีลักษณะเป็น ทองหุ้ม ทองผสม ทองชุบ พ่นสีทอง และแบบผสมผสาน ซึ่งมาตรฐานทองคำเมืองไทยจะอยู่ที่ 96.5% หมายความว่า มีทองคำบริสุทธิ์อยู่จริงๆ 96.5% ส่วนที่เหลืออีก 3.5% คือ ส่วนประกอบอื่นๆ เช่น แร่เงินกับแร่ทองแดงหรือโลหะต่าง ๆ ทั้งนี้ การการตรวจพิสูจน์โลหะทองคำ จะมี 4 วิธีคือ 1) วิธีทางกายภาพ 2) วิธีทางเคมี 3) วิธีการเผา และ 4) วิเคราะห์โดยใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์
กรณีที่วัตถุพยานเป็นโลหะทองคำ เมื่อนำไปวิเคราะห์ด้วยวิธีทางกายภาพ โดยการเปิดพื้นผิวด้วยกระดาษทราย เนื้อโลหะชั้นในจะมองเห็นเป็นเนื้อเดียวกัน เมื่อนำไปทดสอบทางเคมีด้วยกรด เช่น กรดไนตริก รวมถึงการทำปฏิกิริยาทางเคมี เพื่อให้ทราบเป็นโลหะชนิดใด

หากนำไปทดสอบด้วยการเผาไฟทองคำแท้ จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะแตกต่างจากโลหะผสม ที่เมื่อนำไปเผาไฟจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทันที หากนำวัตถุพยานมาวิเคราะห์หาชนิดของธาตุโดยใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ เช่น เครื่อง x-ray fluorescence spectrometer (XRF) หลังจากนำวัตถุพยานเข้าเครื่อง XRF เพื่อวิเคราะห์หาชนิดของธาตุ พบว่าโลหะทองคำแท้เปอร์เซ็นต์ทองของทั้งบริเวณก่อนและหลังเปิดพื้นผิวจะต่างกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น