“ตลาดนัดสื่อกีฬา” เปิดแล้วที่เอ็มบีเคเซ็นเตอร์ วงเสวนาคึก “ต๋อง” หวัง กกท.จ้างโค้ชนอกเสริมวอนให้โอนเงินเดือนเข้าบัญชีนักกีฬาโดยตรง อดีตตำนานยิมชี้ “วัฒนธรรมซีเกมส์” ไม่เปลี่ยน

“ตลาดนัดสื่อกีฬา” เปิดแล้วที่เอ็มบีเคเซ็นเตอร์ วงเสวนาคึก “ต๋อง” หวัง กกท.จ้างโค้ชนอกเสริมวอนให้โอนเงินเดือนเข้าบัญชีนักกีฬาโดยตรง อดีตตำนานยิมชี้ “วัฒนธรรมซีเกมส์” ไม่เปลี่ยน

 

เปิดแล้ว “ตลาดนัดสมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทย” ตั้งแต่วันนี้จนถึง 11 มิ.ย.นี้ ณ ลานปทุมวัน ฮอลล์ ชั้น G เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ด้านวงเสวนา “ทิศทางกีฬาไทยหลังซีเกมส์” คึกคัก “ต๋อง ศิษย์ฉ่อย” เสนอไอเดียให้ “กกท.” ช่วยจัดสรรงบจ้าง “โค้ชนอก” มาช่วยติวเข้มนักกีฬาพูล-แคมรอม โดยให้นักกีฬาสอยคิว ได้มีส่วนในการตัดสินใจเลือกโค้ชด้วย พร้อมขอให้ “กกท.” โอนเงินเดือนค่าเบี้ยเลี้ยงฝึกซ้อม มาที่บัญชีของนักกีฬาโดยตรง ด้าน “ธีรัช โพธิ์พานิช” อดีตนักยิมตำนานทีมชาติไทย ระบุ “วัฒนธรรมซีเกมส์” ที่ไม่เคยเปลี่ยนคือการที่เจ้าภาพมุ่งเน้นบรรจุกีฬาพื้นบ้าน เพื่อเป้าหมายการครองเจ้าเหรียญทอง ยกมือเชียร์ “กกท.” หัวหอกทะลวงฟัน เน้นจัดกีฬาสากล ในซีเกมส์ ครั้งที่ 33 ที่ไทย จะเป็นเจ้าภาพในปี 2025

เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ร่วมกับ สมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทย จัดงาน “ตลาดนัดสมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทย” ซึ่งจัดขึ้นที่ลานปทุมวัน ฮอลล์ ชั้น G ระหว่างวันที่ 9-11 มิ.ย. โดยมี “บิ๊กก้อง” ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย น.ส.ศตกมล วรกุล ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) นายวรวุฒิ พงษ์ธีระพล นายสมาคมฯ คณะกรรมการบริหารสมาคมฯ และสื่อมวลชนสายกีฬา ร่วมงานอย่างคับคั่ง

การจัดงานดังกล่าวนั้น สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจไทยถดถอย ความเป็นอยู่และการดำรงชีพของผู้คน แต่ละคนแต่ละครอบครัว เป็นไปด้วยความยากลำบาก สมาคมฯ ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวและพยายามหาแนวทางให้ความช่วยเหลือผู้สื่อข่าวกีฬา สมาชิกและครอบครัว สามารถมีแนวทางในการดำรงชีพที่ดีต่อไป จึงร่วมกับ เอ็ม บี เค จัดกิจกรรมตลาดนัดผู้สื่อข่าวกีฬาขึ้น เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้สมาชิกที่หลายครอบครัว มีการประกอบอาชีพเสริม ได้มีพื้นที่ในการจำหน่ายสินค้าของตนเองอีกทาง รวมทั้งยังเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทางหนึ่งด้วย

ภายในงานยังมีการจัดเสวนาในหัวข้อ “ทิศทางกีฬาไทยหลังซีเกมส์” โดยมี ดร.ก้องศักด ยอดมณี, “ต๋อง ศิษย์ฉ่อย” วัฒนา ภู่โอบอ้อม นักสนุกเกอร์ขวัญใจชาวไทย เจ้าของเหรียญทอง ซีเกมส์ ครั้งที่ 31, นายธีรัช โพธิ์พานิช ผู้สื่อข่าวกีฬา และ รศ.ดร.วรรณชลี โนริยา นายกสมาคมการจัดการกีฬาแห่งประเทศไทย ร่วมการเสวนา

ดร.ก้องศักด กล่าวในงานเสวนาครั้งนี้ว่า เนื่องจากเรามีเวลาที่กระชั้นชิด ดังนั้นหลังจบซีเกมส์ ครั้่งที่ 31 กกท. จึงได้อนุมัติให้ทุกสมาคมกีฬา เดินหน้าเก็บตัวฝึกซ้อมต่อเนื่องทันที เพื่อเตรียมทีมเข้าร่วมศึกซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่กัมพูชา ช่วงกลางปีหน้า ส่วนเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 19 ที่จีน ได้เลื่อนแข่งขันไม่มีกำหนดนั้น แต่เชื่อว่าน่าจะกลับมาจัดได้ในช่วงปลายปีหน้า โดยทั้งหมดนี้เรามีเป้าหมายสูงสุดร่วมกันคือทำผลงานให้ดีที่สุดในโอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่ฝรั่งเศส และโอลิมปิกเกมส์ 2028 ที่สหรัฐอเมริกา โดย กกท. จะสนับสนุนด้านต่างๆ ทุกสมาคมกีฬาอย่างเต็มที่

ขณะที่ “ต๋อง ศิษย์ฉ่อย” กล่าวว่า ในส่วนของกีฬาคิวสปอร์ตนั้น อยากฝากให้ กกท. ช่วยจัดสรรงบประมาณจ้างโค้ชต่างชาติ เข้ามาฝึกสอนนักกีฬาพูลและแครอม เพราะว่ากำลังได้รับความนิยม โดยเฉพาะแครม ที่ในซีเกมส์ คว้ามาได้ถึง 8 ทองแดง หากได้โค้ชนอกที่มีฝีมือมาคุมทีม เชื่อว่าจะทำได้ดีกว่านี้แน่นอน ทั้งนี้ การเลือกโค้ชนอก ควรให้นักกีฬามีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วย เพราะโค้ชต้องอยู่กับนักกีฬาเป็นเวลานาน หากไม่เป็นที่ยอมรับซึ่งกันและกัน การฝึกซ้อมก็คงไม่เกิดประโยชน์อันใด นอกจากนี้ยังอยากให้ กกท. โอนเงินเดือน (ค่าเบี้ยเลี้ยงฝึกซ้อม) ในช่วงการเก็บตัวฝึกซ้อมรายการต่างๆ มาที่บัญชีของนักกีฬาโดยตรง ไม่ต้องผ่านสมาคมกีฬา นักกีฬาเองก็จะได้รู้ว่าจริงๆ แล้วพวกเขาได้เงินเท่าไหร่กันแน่ เรื่องนี้นักกีฬาทุกคนไม่กล้าพูด จึงฝากตนเองมานำเรียน ผู้ว่าฯ กกท.ด้วย

ส่วน นายธีรัช โพธิ์พานิช อดีตนักยิมนาสติกระดับตำนานทีมชาติไทย กล่าวว่า ชีวิตตนอยู่กับซีเกมส์มาตั้งแต่อายุ 13 ขวบ เล่นกีฬาซีเกมส์มาครั้งแต่ครั้งที่ 13 จนถึงครั้งที่ 17 จากนั้นก็มาเป็นนักข่าวกีฬา รวมกว่า 29 ปีแล้ว ตนมองว่าปัจจุบันซีเกมส์เปลี่ยนแปลงไปมาก แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยเลยก็คือ วัฒนธรรมซีเกมส์ ที่ชาติเจ้าภาพมุ่งเน้นการครองเจ้าเหรียญทอง จึงบรรจุกีฬาพื้นบ้าน เป็นจำนวนมาก ส่วนตัวเห็นด้วยอย่างยิ่งกับแนวคิดของ ดร.ก้องศักด ที่จะมีการบรรจุกีฬาสาลกที่มีแข่งขันในโอลิมปิกเกมส์ ไว้ในซีเกมส์ ครั้งที่ 33 ที่ไทย จะเป็นเจ้าภาพในปี 2025 ซึ่งจะเป็นการพัฒนานักกีฬาทั้งของไทยและอาเซียนไปสู่มาตรฐานสากล

ทางด้าน “ดร.วาว” รศ.ดร.วรรณชลี โนริยา กล่าวว่า ในมุมมองนักวิชาการนั้นการจะสร้างนักกีฬาไทย ก้าวไปข้างหน้าอย่างมีมาตรฐานและเป็นนักกีฬาอาชีพระดับโลก มีองค์ประกอบสำคัญอยู่ 3 ประการ คือ 1 เพลย์เยอร์ (นักกีฬา) ที่จะต้องมีศักยภาพ, 2 สตาฟฟ์ (บุคคลากรทางการกีฬา) อาทิ ผู้ฝึกสอน, นักวิทยาศาสตร์การกีฬา, สื่อมวลชน ที่จะคอยสนับสนุนและส่งเสริม และ 3 ลีดเดอร์ (ผู้บริหารองคืกรกีฬา) ที่จะต้องเข้ามาเติมเต็มให้กับนักกีฬาอย่างเต็มที่

นอกจากนี้ในบทบาทของสื่อมวลชนกีฬานั้น จะต้องมีการนำเสนอภาพความสำเร็จของการเป็นนักกีฬาอาชีพด้วยว่ากว่าที่นักกีฬาจะมีวันนี้ได้จะต้องเสียสละและลงทุนอะไรมาบ้าง ขณะที่ หลังเลิกเล่นกีฬาแล้วจะสามารถต่อยอดจากการเล่นกีฬาไปสู่การสร้างอาชีพหรือไปสู่ธุรกิจใดได้บ้าง เพราะเส้นทางอาชีพของนักกีฬามีความสำคัญ สื่อมวลชนจะต้องสื่อสารออกไปให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ผู้ปกครองและน้องๆ เยาวชน ได้เข้าใจและเข้าถึงอย่างถูกต้องให้มากที่สุด

อนึ่ง สำหรับกิจกรรมในวันที่ 10 มิ.ย.นี้ นายนริส สิงหวังชา ประธานมวยหลายองค์กร และผู้ก่อตั้งชมรมวีรบุรุษแชมป์โลกชาวไทย ร่วมกับ “WBC มวยไทย” โดย พ.อ.ธนพล ภักดีภูมิ เลขานุการบริหารฯ สนับสนุนชมรมวีรบุรุษแชมป์โลกชาวไทยและฮีโร่มวยชาวไทย จัดกิจกรรม “เสวนาสร้างแรงบันดาลใจและการทำตนเป็นฮีโร่ช่วยเหลือสังคม” รวมทั้งแจกของที่ระลึกแชมป์โลก เวลา 16.30 – 18.30 น. นำโดย เขาทราย แกแล็คซี่, ฉัตรชัย สาสะกุล, เพชรมณี ซีพีเอฟ, ศิริมงคล สิงห์วังชา, ยอดสนั่น ศิษย์ยอดธง, วรพจ เพชรขุ้ม เป็นต้น