กาฬสินธุ์ รวมใจไทยปลูกต้นไม้เพื่อแผ่นดิน

มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ร่วมกับ บริษัท กระท่อม อินโนเวชั่น จำกัด จัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ปลูกป่า เนื่องในโอกาสมหามงคล พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ภายใต้ชื่อ “รวมใจไทย ปลูกต้นไม้ เพื่อแผ่นดิน” สืบสานสู่ 100 ล้านต้น พร้อมนำต้นกระท่อมมาปลูก เพื่อการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเพิ่มมูลค่าพืชเศรษฐกิจตัวใหม่

ที่วิทยาลัยกาฬสินธุ์ (เขตนามน) นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานพิธีเปิดโครงการปลูกต้นไม้ประจำปีของชาติ พ.ศ. 2565 และบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เกี่ยวกับการศึกษาพืชกระท่อม โดยมี รศ.จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ นายนพดล โปธิตา ประธานบริษัท กระท่อม อินโนเวชั่น จำกัด พร้อมด้วยบุคลากร นักศึกษา ร่วมงาน


นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี มีมติกำหนดวันต้นไม้ประจำปีของชาติขึ้น ถือเป็นแนวทางที่สามารถช่วยเพิ่มพูนทรัพยากรป่าไม้ของชาติ ซึ่งหน่วยงานราชการและภาคเอกชนได้จัดกิจกรรมวันต้นไม้ประจำปีของชาติมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการกระตุ้นจิตสำนึก ให้เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ของชาติ อีกทั้งป้องกันและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ลดมลภาวะเป็นพิษ จากฝุ่นและหมอกควัน การจัดโครงการปลูกต้นไม้ประจำปีของชาติ พ.ศ. 2565 ของมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ในครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้ชื่อ “รวมใจไทย ปลูกต้นไม้ เพื่อแผ่นดิน” สืบสานสู่ 100 ล้านต้น เพื่อให้มนุษย์เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ของชาติ


ด้านรองศาสตราจารย์จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ กล่าวว่าโครงการปลูกต้นไม้ประจำปีของชาติในครั้งนี้ ยังได้ร่วมกับบริษัท กระท่อม อินโนเวชั่น จำกัด นำพืชเศรษฐกิจตัวใหม่อย่างต้นกระท่อมมาปลูก เพื่อการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องการเพิ่มมูลค่าให้กับพืชกระท่อม ซึ่งการดำเนินการจัดงานในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษามหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ในการวางแผน เตรียมงาน และดำเนินงานให้สำเร็จลุล่วง ทั้งนี้ ได้มีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเกี่ยวกับการศึกษาพืชกระท่อม เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับพืชกระท่อม นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้เกษตรกรมีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องในการปลูกกระท่อม เพื่อนำผลผลิตจากกระท่อมมาใช้ประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ของกระท่อมในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อไป


ด้านนายนพดล โปธิตา ประธานบริษัท กระท่อม อินโนเวชั่น จำกัด กล่าวว่า สำหรับการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) กับมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ครั้งนี้ ถือเป็นความสำเร็จอีกขั้นหนึ่ง ในการผลักดันและส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่จ.กาฬสินธุ์ ได้หันมาปลูกพืชกระท่อม เพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืน เพราะอย่างไรก็ตามพืชกระท่อมในตอนนี้กำลังได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลาย หลังจากที่ถูกปลดล็อคจากยาเสพติด เชื่อว่าเกษตรกรที่ปลูกระท่อมจะมีรายได้1,000-2,000 บาท/ไร่ อย่างแน่นอน สำหรับพื้นที่ปลูกท่อมในประเทศไทยตอนนี้ จ.กาฬสินธุ์ ถือเป็นที่พื้นที่ที่ปลูกกระท่อมใหญ่ที่สุดจุดเเรกคือไร่กระท่อมภูมะตูมนาไคร้ อ.กุฉินารายณ์ จำนวน 50 ไร่ รองลงมาคือมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์