กาฬสินธุ์ ปกครองฝึกการใช้ไม้ง่ามผู้นำชุมชนปราบคนวิกลจริต

ฝ่ายปกครองจังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมกับสถานีตำรวจภูธรเมืองกาฬสินธุ์ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในเขตอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จัดฝึกยุทธวิธีใช้ไม้ง่ามให้กับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อนำทักษะไปใช้ในการระงับเหตุ กรณีบุคคลวิกลจริตก่อเหตุในระดับตำบล/ชุมชน ตามโครงการนาคาพิทักษ์รักษ์ประชา ของตำรวจภูธรภาค 4

วันที่ 8 เมษายน 2565 เวลา 13.30 น. ที่หอประชุมกองร้อยอาสารักกาดินแดน อ.เมืองกาฬสินธุ์ นายดาระใน ยี่ภู่ ปลัด จ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานฝึกอบรมชุดระงับเหตุกรณีบุคคลวิกลจริต ก่อเหตุในระดับตำบล/ชุมชน ตามโครงการฝึกอบรมชุดระงับเหตุ กรณีบุคคลวิกลจริตก่อเหตุในระดับตำบล-ชุมชน และตามโครงการนาคาพิทักษ์ รักประชา โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในเขต อ.เมืองกาฬสินธุ์ ร่วมงานและเข้ารับการฝึกอบรม
นายดาระใน ยี่ภู่ ปลัด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่าตามที่ตำรวจภูธรเมืองกาฬสินธุ์ ได้ดำเนินการจัดฝึกอบรมโครงการฝึกอบรมชุดระงับเหตุ

กรณีบุคคลวิกลจริตก่อเหตุในระดับตำบล-ชุมชน โดยผู้เข้ารับการอบรมประกอบด้วยตัวแทนประชาชนในเขตเทศบาลตำบล และ อบต.ทั้ง 4 แห่ง จำนวน 14 ทีมระงับเหตุ และตัวแทนประชาชนจากชุมชนในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ 38 ชุมชน จำนวน 6 ทีมระงับเหตุ รวมจำนวน 100 คน ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีทักษะ ประสบการณ์ สามารถระงับเหตุกรณีบุคคลวิกลจริต มีอาการคุ้มคลั่ง เพื่อเป็นการลดการสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน


นายดาระในกล่าวอีกว่า สำหรับสาเหตุที่มีบุคลวิกลจริตและเกิดอาการคุ้มคลั่ง สร้างความเดือดร้อน รำคาญในชุมชนนั้น มาจากสาเหตุหลายประการ ทั้งนี้ เนื่องจากสภาพสังคมเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผู้คนเกิดภาวะเครียด เกิดผู้ป่วยจิตเวชจำนวนมาก ประกอบกับสถานการณ์การระบาดของยาเสพติด ทำให้เกิดเหตุการณ์ผู้วิกลจริตก่อเหตุ ทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินบ่ เกิดความสูญเสียแก่ครอบครัวผู้บริสุทธิ์บ่อยครั้ง ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ซึ่งมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยมีน้อย ไม่เพียงพอในการปฏิบัติหน้าที่ระงับเหตุดังกล่าว จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องแสวงหาความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันอาชญากรรม


“ดังนั้น ตามที่สถานีตำรวจภูธรภาค 4 โดยตำรวจภูธร จ.กาฬสินธุ์ และ สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ได้จัดให้มีการอบรมชุดระงับเหตุ กรณีบุคคลวิกลจริต ก่อเหตุในระดับตำบล/ชุมชน ดังกล่าว โดยเป็นบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกหมู่บ้าน-ชุมชนนั้นเข้ารับการฝึกทักษะความอดทน อดกลั้น ทั้งสมรรถภาพร่างกาย จิตใจ และยุทธวิธีการใช้ไม้ง่าม ซึ่งเมื่อประสบเหตุการณ์จริง ก็จะสามารถแก้ไขเหตุการณ์ได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะสามารถลดความรุนแรงและความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินได้เป็นอย่างดี” นายดาระในกล่าว