ไปกราบขอพร “พระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง” พระคู่บ้านคู่เมืองของชาวอุบลฯ ที่วัดป่าใหญ่

ไปกราบขอพร “พระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง” พระคู่บ้านคู่เมืองของชาวอุบลฯ ที่วัดป่าใหญ่

 

วัดมหาวนาราม หรือ ที่ชาวเมืองอุบลราชธานี นิยมเรียกกันทั่วไปว่า “วัดป่าใหญ่” เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี มีพระเดชพระคุณหลวงพ่อ พระครูสารกิจโกศล เจ้าคณะอำเภอเมืองอุบลราชธานี เป็นเจ้าอาวาส ตั้งอยู่ถนนหลวง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี (ด้านหลังของวัดติดกับถนนสรรพสิทธิ์) มีเนื้อที่ 18 ไร่ เศษ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ซึ่งเป็นพระอารามหลวงแห่งแรกและแห่งเดียวของคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย

วัดมหาวนาราม หรือ วัดป่าใหญ่ แห่งนี้ เป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองอุบลราชธานี ที่ประชาชนให้ความเคารพศรัทธา มีนามว่า “พระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง” ซึ่งตามหลักศิลาจารึกที่ฝังอยู่แท่นข้างหลังองค์พระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง ปรากฏว่าสร้างหลังจากสร้างเมืองอุบลแล้ว 41 ปี สร้างโดยพระพรหมวรราชสุริยวงศ์ (ท้าวทิศพรหม สุวรรณกูฏ) เจ้าเมืองคนที่ 2 หลังจากสร้างวัดแล้ว 2 ปี พระมหาราชครูศรีสัทธรรมวงศา เจ้าอาวาส พร้อมด้วยศิษยานุศิษย์ ได้ร่วมกันสร้างพระพุทธรูปเป็นองค์ประธานและเป็นองค์แทนสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขนานนามว่า “พระเจ้าอินทร์แปลง” มีความหมายว่า “พระอินทร์จำแลงแปลงกายมา” ชาวอีสานเรียก “พระเจ้าใหญ่อินทร์แปง” มีความหมายอีกนัยหนึ่งว่า พระอินทร์สร้าง ซึ่งเป็นนามมงคลทั้งสองความหมาย

และจากหลักฐานศิลาจารึกวัดป่าใหญ่ ใจความก็ตรงกันคือ ผู้สร้างพระพุทธรูปพระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง คือ ท่านพระมหาราชครูศรีสัทธรรมวงศา พร้อมด้วยศิษยานุศิษย์ ได้พร้อมใจกันสร้างแล้วเสร็จ ทำพิธีพุทธาพิเษก และเบิกเนตร เมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 จ.ศ.1169 ปีเมิงเหม้า ตรงกับ พ.ศ.2350 นพศก เมื่อยามแถใกล้ค่ำ ช่วงเวลาประมาณบ่ายสามโมง

พระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง หรือ พระเจ้าใหญ่อินทร์แปง พระประธานในวิหารวัดมหาวนาราม เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่งดงาม มีขนาดหน้าตักกว้าง 6 ศอก สูงจากเรือนแท่นถึงเปลวพระโมลี 10 ศอก สร้างด้วยอิฐถือปูนลงรักปิดทอง และตามที่ปรากฏในศิลาจารึกที่ด้านหน้าองค์พระระบุว่า สร้างเสร็จเมื่อวันเพ็ญเดือนห้า ตรงกับวันอาทิตย์ เดือนเมษายน จ.ศ.1169 ปีเมิงเหม้า ตรงกับ พ.ศ.2350 นพศก ช่วงเวลาบ่ายสามโมง ทางวัดจึงกำหนดเอาวันเพ็ญเดือนห้าของทุกปีเป็นวันเฉลิมฉลองพระเจ้าใหญ่อินทร์แปง ประชาชนชาวจังหวัดอุบลราชธานี และผู้มาเยือนจะหลั่งไหลกันมากราบนมัสการพระเจ้าใหญ่อินทร์แปงเพื่อขอพรให้ท่านดลบันดาลให้ประสบสุขตลอดไป และ ในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ ทางวัดก็ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปสรงน้ำพระเจ้าใหญ่อินทร์แปงกันทุกปี

สำหรับคาถาบูชาพระเจ้าใหญ่อินทร์แปง (พระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง) ตั้งนะโม 3 จบ อิเมหิ นานาสักกาเรหิ อภิปูชิเตหิ ทีฆายุโก โหมิ อโรโค สุขิโต สิทธิกัจจัง สิทธิกัมมัง ปิยัง มะมะ ประสิทธิลาโภ ชโย โหตุ สัพพะทา อินทะพุทธะรูปัง อภิปาเลตุ มัง นะโมพุทธายะ ศรีสวัสดีเจริญสุข สารพัดทุกข์ให้เหือดหาย ลาโภอย่าขาดสาย นิรันตะรัง ประสิทธิเม พุทธัง สะระนัง คัจฉามิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ กายวาจาจิตประสิทธิเม

มีตำนานเล่าขานเกี่ยวกับการสร้างพระเจ้าใหญ่อินทร์แปงว่า มีช่างปั้นเป็นผู้ชายวัยกลางคน เวลาทำงาน ไม่พูดจากับใคร พอตกเย็นก็หายตัวไป พอเช้าก็ปรากฏตัว ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าเป็นใครมาจากไหน เมื่องานเสร็จ ก็หายไป โดยไม่ร่ำลา ไม่มีใครรู้ จึงเป็นที่กล่าวขานกันว่า พระอินทร์เป็นผู้ลงมาสร้างบารมี จึงมีความศักดิ์สิทธิ์มาก และมีเรื่องเล่าขานมากมาย โดยเฉพาะเรื่องการดื่มน้ำสาบานต่อหน้าพระเจ้าใหญ่อินทร์แปง คนทำผิดมีอันเป็นไปทุกราย ไม่เกิน 3 วัน บางรายยังไม่ก้าวพ้นวิหาร ก็ชักดิ้นชักงอภายในวิหาร มีพระเสี่ยงทายซึ่งศักดิ์สิทธิ์มาก เป็นแหล่งสร้างขวัญกำลังใจ ให้กับประชาชนได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ พระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง ยังได้แสดงอภินิหาร อยู่หลายครั้ง เช่น มีอภินิหารบันดาลหาเงินให้วัดมหาวนาราม (ป่าใหญ่) ได้วันละมากๆ (คนมาทำบุญ) และคนที่มีบุตรยาก หากไปกราบไหว้ขอก็จะสมปรารถนา คนที่ค้าขายไม่ดี ได้ไปกราบไหว้เพื่อความโชคชัยสวัสดี ปรากฏว่าได้ผลสมความปรารถนา เช่นกัน และอีกหนึ่งอภินิหารได้แก่ เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นก็ได้นำฝูงบินมาทิ้งระเบิดลงที่เมืองอุบลราชธานี และมีลูกระเบิดหลายลูกตกลงมาที่วัดมหาวนารามใกล้ๆ กับพระวิหารข้างหลังด้านทิศเหนือแต่ไม่มีลูกใดเกิดการระเบิดขึ้นเลย ลูกระเบิดบางลูกได้ระเบิดห่างจากพระวิหาร ประมาณ 80 เมตร ทำให้ทางวัดได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น นี่ก็คืออภินิหารของพระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง นั่นเอง


พระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง ยังมีตำนานการก่อสร้างบอกเล่าขานกันต่อมาว่า ขณะที่ก่อสร้างอยู่นั้น ก็ได้มีฝนตกฟ้าร้องอยู่ตลอดเวลา ใกล้จะแล้วเสร็จอยู่แล้วเพราะเหลือแต่การตกแต่งให้สวยงามเท่านั้น พอถึงตอนดึกก็ได้มีแสงสว่างเต็มบริเวณวัดไปหมดและสูงขึ้นสู่อากาศ ผู้คนต่างก็ตื่นตกใจและมาดูก็ไม่เห็นมีอะไร ต่างก็กลับสู่บ้านเรือนของตน พอรุ่งเช้าก็ปรากฏว่าพระพุทธรูปที่สร้างยังไม่เสร็จนั้นก็ได้สำเร็จเรียบร้อยสวยงามเป็นอย่างยิ่ง พอเห็นเป็นอย่างนั้นชาวบ้านต่างก็พูดว่าเทวดามาสร้าง พระอินทร์แปลงร่างลงมาสร้างแปลงร่างลงมาเป็นตาผ้าขาวมาสร้างจึงได้สวยงามอย่างนี้ ถ้าเป็นคนธรรมดามาสร้างจะไม่สวยงามได้เพียงนี้ แต่ประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังเชื่อว่าพระอินทร์แปลงร่างลงมาสร้างเสริม รูปร่างหน้าตาของพระพุทธรูปองค์นี้จึงได้สวยงดงามยิ่งนัก ด้วยเหตุฉะนี้จึงได้มีการขนานนามว่า “พระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง” และพี่น้องประชาชนก็ได้มีความเชื่อในเรื่องดังกล่าว มาจนตราบเท่าทุกวันนี้

นอกจากนี้ วัดมหาวนาราม (วัดป่าใหญ่) พระอารามหลวง ยังมีรูปปั้น ท้าวเวสสุวรรณ ให้พี่น้องประชาชนได้กราบไหว้ขอพร โดยคณะสงฆ์วัดมหาวนาราม พระอารามหลวง นำโดย พระเดชพระคุณหลวงพ่อ พระครูสารกิจโกศล เจ้าคณะอำเภอเมืองอุบลราชธานี นำศรัทธา คหบดี และพุทธศาสนิกชน ชาวจังหวัดอุบลราชธานี ประกอบพิธีบวงสรวงเบิกเนตรท้าวเวสสุวรรณ ณ ทับหลังพระวิหารพระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง วัดมหาวนาราม พระอารามหลวง ต.ในเมือง อ.เมืองอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี เมื่อวันเสาร์ที่ 26 มีนาคม พุทธศักราช 2565 เวลา 17.39 น. ที่ผ่านมา

ดังนั้น หากสาธุชนท่านใด มีโอกาสไปเยือนเมืองอุบลราชธานี ก็อย่าลืมแวะไปกราบขอพรจากพระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง และ ท้าวเวสสุวรรณ เพื่อเป็นศิริมงคลแก่ตัวท่านเอง แล้วท่านจะพบแต่ความสุข ความเจริญ และความรุ่งเรืองในทุกๆ ด้าน ตลอดไป

ทีมข่าวเฉพาะกิจ / ข่าว