กลุ่มองค์กรประชาชน “คัดค้าน” กฏหมายควบคุมองค์กรฯ
กลุ่มองค์กรประชาชน “คัดค้าน” กฏหมายควบคุมองค์กรฯ
วันที่ 25 ก.พ.2565 กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เปิดเวทีผ่านระบบZOOM รับฟังความคิดเห็น “ร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. ….” มีคนพิการและครอบครัว องค์กรด้านคนพิการ และเครือข่ายคนพิการ กว่า 300 องค์กร เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น
โดยความเห็นผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เกือบ 100% “คัดค้าน”และ ต้องการให้รัฐบาล “ยกเลิก” ร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว เนื่องจากมีหลากหลายประเด็นที่ไม่สอดคล้องกับการทำงานเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ สังคม ประเทศชาติ อาทิเช่น
1. ร่างพรบ.ดังกล่าว ขัดต่อรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะหลักสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค การส่งเสริมและการมีส่วนร่วมของประชาชน
2. ร่างพรบ.ดังกล่าว ไม่มีมิติใดที่ส่งเสริมองค์กรไม่แสวงหากำไร ทั้งด้านงบประมาณ กลไก และวิธีการส่งเสริม เขียนกฎหมายแบบ”ลอย”หรือ”ลวง” ไม่มีความชัดเจนใด แต่อย่างใด
3. ร่างพรบ.ดังกล่าว มุ่งที่จะควบคุมแบบเหมาเข่ง ทั้งองค์กรเล็กใหญ่ทุกรูปแบบ ทั้งที่องค์กรเหล่านั้นไม่ได้แสวงหากำไรหรือทำงานเชิงพาณิชย์ ทำงานด้วยจิตอาสาไม่มีเงินเดือน หรือค่าตอบแทนใดๆ ทำงานอย่างเป็นหุ้นส่วนกับภาครัฐมาโดยตลอด
4. ร่างกฎหมายสร้างภาระอันเกินควรแก่ภาคประชาสังคม ใช้กฎหมายซ้ำซ้อน ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายจ้างผู้ตรวจสอบบัญชี ฯลฯ โดยเฉพาะองค์กรขนาดเล็ก เช่น ชมรม กลุ่ม ฯลฯ ทำให้ภาคประชาชนที่ทำงานแทนรัฐ หรือทำงานให้ภาครัฐอาจต้องถอนตัว และตายจากไป ซึ่งจะทำให้กระทรวงพม.และหน่วยงานภาครัฐอื่นทำงานลำบากขึ้น
5. บทลงโทษและคำสั่งต่างๆที่เขียนในกฎหมายเป็นการใช้ดุลยพินิจเกินสมควรแก่เหตุ คำสั่งให้องค์กรไม่แสวงหากำไรหยุดและยุติการทำงาน รวมถึงบทกำหนดโทษรุนแรงไม่เป็นธรรม เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ตัดสินใจอย่างกว้าง ทั้งที่สามารถใช้กฎหมายอื่นในการกำกับดูแลได้อยู่แล้ว เช่น ป.แพ่ง ป.อาญา พรบ.ปปง. เพียงแต่ให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายต่างๆ ให้เข้มข้นขึ้น
6. ร่างพรบ.ดังกล่าว ไม่มีประโยชน์ต่อคนพิการ ครอบครัวคนพิการ และองค์กรด้านคนพิการแต่อย่างใด เพราะคนพิการมีกฎหมายต่างๆ ได้แก่ พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 มีกลไกและโครงสร้าง คือคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติและคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการประจำจังหวัด ที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
7. องค์กรคนพิการทำงานเชิงบวกกับภาครัฐมาโดยตลอดอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกันร่าง พรบ. นี้อาจสร้างความขัดแย้งในอนาคต
8. การส่งเสริมและพัฒนาองค์กรคนพิการ มีมาตรฐานองค์กรด้านคนพิการ (ISO) กำกับอยู่แล้ว ทุกคนรับรู้ร่วมกัน
9. องค์กรคนพิการในชุมชน ฐานรากกังวลว่า ร่างพรบ.ดังกล่าว จะทำให้องค์กร ล่มสลาย จึงไม่เข้าใจว่านักกฎหมายที่ยกร่างฯ เข้าใจ งานชุมชน หรือไม่ อย่างไร คิดมุมเดียว สะท้อนถึง ประสิทธิภาพในการคิดสร้างสรรค์