“ทส.” ลงพื้นที่ดอยตุง ชื่นชมผลสำเร็จฟื้นฟูป่าได้กว่า 60% ยืนยันการพัฒนาตามแนวทาง “คนอยู่ร่วมกับป่า”

“ทส.” ลงพื้นที่ดอยตุง ชื่นชมผลสำเร็จฟื้นฟูป่าได้กว่า 60% ยืนยันการพัฒนาตามแนวทาง “คนอยู่ร่วมกับป่า”

 

เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) พร้อมด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) พร้อมผู้บริหารระดับสูง ลงพื้นที่การดำเนินงานโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ พระตำหนักดอยตุง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ติดตามการดำเนินงานฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมในพื้นที่ “ปลูกป่า ปลูกคน” ซึ่งดำเนินงานร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง โดยมี หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วย นายวราดิศร อ่อนนุช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ให้การต้อนรับ และบรรยายสรุปผลการดำเนินงาน พร้อมนำเยี่ยมชมพื้นที่การดำเนินงานโครงการพัฒนาดอยตุงฯ

โอกาสนี้ รมว.ทส. ได้กล่าวชื่มชมการดำเนินงานของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ที่ได้ร่วมกับกรมป่าไม้ ดำเนินงานร่วมกับประชาชนในพื้นที่ จนกระทั่งสามารถฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม จาก 20% ได้เป็น 60% ช่วยเพิ่มพื้นที่ป่ากลับคืนมาให้กับประเทศไทยได้ ตามนโยบายของรัฐบาล ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่กำหนดให้ประเทศไทย ต้องมีพื้นที่สีเขียวไม่น้อยกว่า 55% ของพื้นที่ประเทศ ภายในปี 2580 โดยเป็นพื้นที่ป่าธรรมชาติ 35% พื้นที่ป่าเศรษฐกิจ 15% และพื้นที่สีเขียวในเมือง 5% ซึ่งหัวใจสำคัญของการดำเนินงานนับจากนี้ คือ การทำอย่างไรให้มีการใช้พื้นที่เท่าเดิม ในขณะมีจำนวนคนเพิ่มขึ้น และสามารถเพิ่มพื้นที่ป่าให้มากขึ้นด้วย โดยขอให้องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เป็นศูนย์กลางในการประเมินคาร์บอนเครดิต ที่สามารถกักเก็บได้จากพื้นที่ป่าที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายของโครการฯ ในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎร ตลอดจนเป็นเครื่องยืนยันการดำเนินงานว่า “คนอยู่กับป่า” ได้

โดยโครงการพัฒนาดอยตุง ได้รับการอนุญาตการเข้าใช้ประโยชน์พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ครอบคลุมเนื้อที่ 91,779 ไร่ 2 งาน 48 ตารางวา และมีดำเนินงานด้านการฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมร่วมกันระหว่างกรมป่าไม้ และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง โดยมีการน้อมนำแนวพระราชดำริฯ มาเป็นแนวทางในการพัฒนาพื้นที่และคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนยึดระเบียบ หลักเกณฑ์ และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาเป็นหลักในการดำเนินงาน โดยผลจากการดำเนินงานที่ผ่านมาสามารถร่วมกันจัดตั้งป่าชุมชนร่วมกับราษฎรในพื้นที่จังหวัดเชียงราย แม่ฮ่องสอน และพะเยา จำนวน 8 แห่ง รวมพื้นที่ 10,929 ไร่ สามารถกักเก็บปริมาณคาร์บอนได้ 5,306 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และเตรียมการจัดตั้งป่าชุมชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่อีกจำนวน 7 แห่งต่อไป