ข่าวดีรับสงกรานต์..พญาแร้งตัวที่ 3 ลืมตาดูโลกที่ห้วยขาแข้ง

องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย เผยข่าวดีต้อนรับเทศกาลสงกรานต์ พญาแร้งตัวที่ 3 ของเอเชีย เกิดในกรงเพาะเลี้ยงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เป็นลูกพญาแร้งภายใต้โครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย
8 เมษายน 2568 นางจงกลนี แก้วสด รองผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย เผยว่า มีข่าวดีจากโครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย ได้ประสบความสำเร็จในการเพาะขยายพันธุ์พญาแร้งอีกครั้ง ที่หน่วยพิทักษ์ป่าซับฟ้าผ่า จากบ้านของพ่อป๊อกและแม่มิ่ง ซึ่งได้ฟักไข่เป็นตัวสำเร็จแล้วในช่วงเช้าของวันนี้ สร้างความปลื้มปิติดีใจให้กับทีมงานของโครงการฯ และชาวองค์การสวนสัตว์แห่งประทศไทยฯ เป็นอย่างมาก นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญ หลังจากที่พญาแร้งจะสูญพันธุ์ไปจากผืนป่าของประเทศไทยนานหลายทศวรรษ แต่ปัจจุบันได้มีการดำเนินโครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย ภายใต้ความร่วมมือของ 4 องค์กร ได้แก่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เพื่อฟื้นฟูและขยายพันธุ์พญาแร้งที่อาศัยอยู่ในกรงเลี้ยง โดยหวังว่าในวันหนึ่งจะสามารถปล่อยพญาแร้งกลับไปโบยบินเหนือผืนป่าธรรมชาติได้อีกครั้ง
ที่ผ่านมา การดำเนินโครงการฯ สามารถขยายพันธุ์จำนวนพญาแร้งได้แล้ว 2 ตัว โดยตัวแรกเกิดที่สวนสัตว์นครราชสีมา และอีกตัวหนึ่งเกิดในกรงเพาะเลี้ยงของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งตั้งอยู่ที่หน่วยพิทักษ์ป่าซับฟ้าผ่า
โดยตัวแรกชื่อว่า “ต้าวเหม่ง” (พญาแร้งเพศเมีย) ลูกพญาแร้งตัวแรกที่เกิดภายใต้โครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย ฟักออกจากไข่ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 ที่สวนสัตว์นครราชสีมา จากการจับคู่ของพญาแร้งแจ๊ค (เพศผู้) และพญาแร้งนุ้ย (เพศเมีย) ปัจจุบัน พญาแร้งนุ้ยเสียชีวิตแล้ว
ตัวที่ 2 ชื่อว่า “51” (พญาแร้งเพศเมีย) ลูกพญาแร้งเกิดวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 ในกรงเพาะเลี้ยงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เป็นลูกพญาแร้งตัวที่ 2 ภายใต้โครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย ถือเป็นลูกพญาแร้งตัวแรกที่เกิดกลางป่าห้วยขาแข้ง หลังจากพญาแร้งสูญพันธุ์จากผืนป่าแห่งนี้ไปนานกว่า 30 ปี จากการจับคู่ของพญาแร้งป๊อก (เพศผู้) และพญาแร้งมิ่ง (เพศเมีย) หมายเหตุ 51 เป็นรหัสเรียกหน่วยซับฟ้าผ่า ที่ตั้งกรงเพาะพันธุ์
ลูกพญาแร้งตัวล่าสุดเกิดวันนี้ 8 เมษายน 2568 ในกรงเพาะเลี้ยงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เป็นลูกพญาแร้งตัวที่ 3 ภายใต้โครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย ถือเป็นลูกพญาแร้งตัวที่ 2 ที่เกิดกลางป่าห้วยขาแข้ง จากคู่ของพญาแร้งป๊อก (เพศผู้) และพญาแร้งมิ่ง (เพศเมีย)
ทั้งนี้ พญาแร้ง ถูกจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง Critically Endangered (CR) จากการประเมินสถานภาพความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต โดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ International Union for Conservation of Nature (IUCN) หรือ IUCN Red List และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)