กอ.รมน.จังหวัดสมุทรปราการพิสูจน์ข้อมูล กว่า ๒๐๐ ปี “ดวงเมืองสมุทรปราการ”

ประชาชนชาวไทยต่างทราบกันดีว่าจังหวัดสมุทรปราการ เป็นเมืองที่มีความสำคัญกับผืนแผ่นดินไทย เป็นเมืองท่าเมืองเศรษฐกิจ เมืองอุตสาหกรรม ที่มีอารยธรรมทางประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน กว่า ๒๐๐ ปี แต่ยังคงไม่ปรากฎ ฤกษ์ผานาที ที่จะระบุ ดวงเมืองจังหวัดสมุทรปราการ ได้อย่างแน่ชัด
๓๑ มีนาคม ๒๕๖๘
กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดสมุทรปราการ ได้บูรณาการจัดการประชุม เพื่อพิสูจน์ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ กรณี วัน เวลา เหตุการณ์สร้างเมือง ลงเสาหลักเมือง ดวงชันษาเมืองสมุทรปราการ ด้วยปัจจุบันข้อมูลในแหล่งข้อมูลต่างๆ มีความขัดแย้งต่อกันที่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้อย่างแน่ชัด พร้อมเล็งเห็นถึงประโยชน์อย่างยิ่งกับชาวจังหวัดสมุทรปราการ ด้านขนบจารีตประวัติศาสตร์ที่จะนำไปสู่ความภาคภูมิใจ ในการดำเนินวิถีชีวิต สร้างความสมัครสมานสามัคคีของประชาชนบุคคลในสังคม และอาจนำไปสู่วันสำคัญจากเหตุการณ์สำคัญของจังหวัดสมุทรปราการ
ณ ห้องประชุม กอ.รมน.จังหวัด ส.ป.
โดยการประชุมมี พันเอก ยุทธพล ประทีปอุษานนท์เป็นประธานการประชุม พันเอก กฤษภาณุ จำนงค์วงศค์เป็นเลขาธิการการประชุม พร้อมได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้แทน ๑๒ ท่าน ได้แก่ นายอำเภอเมืองสมุทรปราการ, วัฒนธรรมจังหวัดสมุทรปราการ, ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสมุทรปราการ, ประชาสัมพันธ์จังหวัดสมุทรปราการ, ผอ.สนง.ททท.ฉะเชิงเทรา, นายกเทศบาลนครสมุทรปราการ, นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทรงคนอง, นายหมวดตรีไพศาล เติมวรรธนภัทร์, ประธานคณะกรรมการศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรปราการ, ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดสมุทรปราการ, นายกสมาคมสื่อสร้างสรรค์เพื่อสังคม, และผู้จัดการพิพิธภัณฑ์ครุฑ โดยธนาคารทหารไทยธนชาต เป็นคณะเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้
ซึ่งในการประชุม อาจารย์อุตมะ ปภาภูธนะนันต์ โหราจารย์ ได้เป็นผู้ให้ข้อมูล ตาม พงศาวดาร รัชกาลที่ ๒, หมายรับสั่ง รัชกาลที่ ๒ จ.ศ.๑๑๘๔, ตำราพระราชพิธีนครฐาน เอกสารโบราณทางประวัติศาสตร์ที่ได้ขออนุญาตใช้จากหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร
ซึ่งได้เทียบข้อมูล ตามพระราชบัญญัติ ต่างๆ ที่ได้มีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงเกี่ยวเนื่องกับวันเวลา การเปลี่ยนนับศักราชของกรุงรัตนโกสินทร์ พร้อมคำนวณ วัน เวลา ตามปีปฏิทิน สุริยยาตร์คติไทยและปฏิทินลาหิริ เพื่อให้เกิดข้อมูลที่แน่ชัดอันนำไปสู่สมผุสดวงชันษาเมืองสมุทรปราการ ในวาระการประชุมครั้งนี้
โดยในคณะการประชุมมีความเห็นตรงกันว่าข้อมูลที่ปรากฏอยู่มีความขัดแย้ง จากแหล่งข้อมูลต่างๆ พร้อมมีมติเสนอให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสมุทรปราการเป็นผู้ดำเนินการขับเคลื่อน เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางด้านประวัติศาสตร์ สู่ความภาคภูมิใจของชาวจังหวัดสมุทรปราการ ต่อไป