“ ปวดข้อศอก เรื้อรัง “ รู้ทัน โรคข้อศอกเทนนิส

“ ปวดข้อศอก เรื้อรัง “ รู้ทัน โรคข้อศอกเทนนิส

 

 

นพ.สุนทร ศรีสุวรรณ์ อาจารย์แพทย์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลศูนย์หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา กล่าวถึง
โรคข้อศอกอักเสบ หรือที่รู้จักกันในชื่อ โรคข้อศอกเทนนิส [ ทางการแพทย์เรียกว่า Tennis Elbow หรือ Lateral Epicondylitis ] เป็นภาวะที่เกิดการอักเสบและการบาดเจ็บของเส้นเอ็นบริเวณข้อศอกด้านนอก ซึ่งมักเกิดจากการใช้งานแขนและข้อศอกซ้ำ ๆ จนทำให้เส้นเอ็นบริเวณนั้นเกิดการฉีกขาดขนาดเล็กและอักเสบตามมา
แม้ว่าโรคนี้จะเรียกว่า Tennis Elbow แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นนักเทนนิสเท่านั้นที่เป็นโรคนี้ คนที่ทำกิจกรรมที่ใช้ข้อศอกและแขนมาก ๆ ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน
สาเหตุ และปัจจัยเสี่ยงของโรค ได้แก่

1. การใช้ข้อศอกและแขนซ้ำ ๆ เช่น การเล่นกีฬา (เทนนิส แบดมินตัน กอล์ฟ) , อาชีพที่ต้องใช้แขนทำงานหนักซ้ำๆ เช่น ช่างไม้ ช่างซ่อม ช่างทำผม พ่อครัว

2. อายุ มักพบในช่วงอายุ 30-50 ปี เนื่องจากเส้นเอ็นมีการเสื่อมตามอายุ
3. การยกของหนักหรือใช้อุปกรณ์ไม่เหมาะสม เช่น การจับไม้เทนนิส หรือเครื่องมือด้วยแรงมากเกินไป
4. ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแขนและข้อมือ หากกล้ามเนื้อไม่แข็งแรงพอ อาจทำให้เส้นเอ็นรับแรงกระแทกมากขึ้น

อาการของโรค
อาการของ Tennis elbow จะเริ่มต้นด้วยความรู้สึกไม่สบายที่บริเวณด้านนอกของข้อศอก มีอาการหลักที่พบได้แก่
– ปวดบริเวณด้านนอกของข้อศอก ซึ่งอาจลามไปถึงแขนและข้อมือ
– มีอาการปวดมากขึ้นเมื่อจับหรือบิดสิ่งของ เช่น การกวาดขยะในท่าหลังมือ ( ท่าแบ็คแฮนด์) การถือถ้วยกาแฟ หรือจับปากกา
– ขยับข้อศอก หรือเหยียดแขนแล้วรู้สึกเจ็บ
– อาการปวดอาจเป็นเรื้อรังและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน
– ในรายที่มีอาการมานาน อาจมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ บริเวณข้อศอกร่วมด้วย

การวินิจฉัยโรค
แพทย์จะทำการวินิจฉัยโรคข้อศอกอักเสบ โดยวิธี ดังต่อไปนี้
1. ซักประวัติและตรวจร่างกาย แพทย์จะสอบถามอาการ ตรวจบริเวณข้อศอก และทดสอบการเคลื่อนไหวของแขน
2. XRAY เพื่อประเมินลักษณะกระดูกข้อศอก แนวข้อศอก และวินิจฉัยแยกโรคจากภาวะอื่นๆ อาทิเช่น หินปูนเกาะที่ข้อศอก เนื้องอกกระดูก การติดเชื้อใน

กระดูก
3. Ultrasound ใช้ตรวจดูการอักเสบของเส้นเอ็นที่ข้อศอก ประเมินความรุนแรงของอาการ
4. ในบางกรณีที่มีอาการรุนแรงหรือเป็นเรื้อรัง แพทย์อาจส่งตรวจ เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ MRI เพื่อตรวจดูโครงสร้างของข้อศอกโดยละเอียด และใช้วางแผนผ่าตัด

วิธีการรักษา
การรักษา Tennis Elbow สามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการ
1. การรักษาแบบไม่ผ่าตัด
– พักการใช้งานแขน หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เกิดอาการปวด
– การใช้ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เพื่อลดอาการปวดและอักเสบ อาจทานร่วมกับยาคลายกล้ามเนื้อ เพื่อลดการตึงตัวของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น

– การใช้ยาทานวดแบบเย็น เพื่อช่วยเสริมฤทธิ์ลดการอักเสบ
– การใช้สายรัดใต้บริเวณข้อศอก (Elbow Brace) เพื่อลดแรงกระแทกของเส้นเอ็น
– กายภาพบำบัด ฝึกการยืดกล้ามเนื้อและเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแขน พิจารณาเริ่มทำกายภาพ เมื่ออาการปวดทุเลาลง แล้วเท่านั้น
– การฉีดสเตียรอยด์เฉพาะจุด เพื่อลดการอักเสบ แนะนำในกรณีที่อาการรุนแรง และไม่ตอบสนองการรักษาวิธีอื่นๆ
– การฉีดเกล็ดเลือดปั่น [Platelet Rich Plasma – PRP] ใช้พลาสมาของตนเองเพื่อช่วยซ่อมแซมเส้นเอ็น เลือกพิจารณา การรักษาวิธีนี้เป็นเฉพาะรายไป หากอาการรุนแรงมากแล้ว อาจไม่ตอบสนองกับการรักษาวิธีนี้
2. การผ่าตัด
หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 6-12 เดือน อาจพิจารณาการผ่าตัดเพื่อเอาเนื้อเยื่อที่เสียหายออกและซ่อมแซมเส้นเอ็น โดยสามารถทำได้ทั้งแบบ ผ่าตัดเปิด (Open Surgery) และ ส่องกล้อง (Arthroscopic Surgery)
การดูแลตัวเองและป้องกันโรค
1. หลีกเลี่ยงการใช้งานแขนหนักเกินไป หากต้องทำงานที่ใช้กำลังแขนมาก ควรพักเป็นระยะ
2. ออกกำลังกายเพื่อเสริมความแข็งแรงของแขนและข้อศอก เช่น การฝึกยืดเหยียดกล้ามเนื้อและออกกำลังกายที่ช่วยเพิ่มความทนทานของเส้นเอ็น
3. ใช้เทคนิคที่ถูกต้องในการเล่นกีฬาและทำงาน เช่น การจับไม้เทนนิสอย่างเหมาะสมเพื่อลดแรงตึงของเส้นเอ็น
4. ประคบเย็นเมื่อรู้สึกปวด เพื่อช่วยลดอาการบวมและอักเสบ
5. ใช้สายรัดข้อศอกเมื่อจำเป็น โดยเฉพาะเวลาทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดอาการ
สรุป
โรคข้อศอกอักเสบ Tennis Elbow เป็นภาวะที่เกิดจากการใช้งานแขนและข้อมือมากเกินไป ทำให้เส้นเอ็นเกิดการอักเสบ อาการที่พบได้บ่อยคืออาการปวดบริเวณข้อศอกด้านนอก การรักษาสามารถทำได้ทั้งการพัก การทำกายภาพบำบัด และการใช้ยา ส่วนในกรณีที่อาการรุนแรงอาจต้องเข้ารับการผ่าตัด การดูแลตัวเองและป้องกันการเกิดโรคเป็นสิ่งสำคัญ เช่น การใช้แขนอย่างเหมาะสม และการออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแขน

 

นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา