ปทุมธานี โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยี นวัตกรรม สู่มวลชน เพื่อยกระดับบชุมชน สังคม และอุตสาหกรรม “เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี USR (University Social Responsibility)”

ปทุมธานี โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยี นวัตกรรม สู่มวลชน เพื่อยกระดับบชุมชน สังคม และอุตสาหกรรม “เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี USR (University Social Responsibility)”

 

 

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 14.00 น. ณ ปิ่นฟ้าฟาร์ม ลาดหลุมแก้ว ตำบลคูขวาง อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี
ปิ่นฟ้าฟาร์ม ลาดหลุมแก้ว จัดโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยี นวัตกรรม สู่มวลชน เพื่อยกระดับบชุมชน สังคม และอุตสาหกรรม “เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี USR (University Social Responsibility)”
โดยมีรองศาสตราจารย์ดร.วรินธร พูลศรี รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี พร้อมด้วย นายนพดล ลัดดาแย้ม อดีต สจ.ตุ้ย เจ้าของปิ่นฟ้าฟาร์ม และคณะครู-อาจารย์ นักเรียนนักศึกษา พ่อค้า ประชาชน เข้าร่วมโครงการคึกคัก

 

โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจ University Social Responsibility (USR) ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (RMUTT) ที่มุ่งมั่นในการเป็นศูนย์กลางของการพัฒนานวัตกรรม และการส่งเสริมศักยภาพของชุมชนผ่านกิจกรรมด้านบริการวิชาการที่มีความยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและลดความเหลื่อมล้ำของสังคม” ซึ่งมีเป้าหมายในการถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อช่วยพัฒนาชุมชน สังคม และผู้ประกอบการ โดยมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาของชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม สร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สู่ชุมชนเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์และบริการให้มีมูลค่า ในการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นฐาน

 

อีกทั้งเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนและ SMEs ให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล ซึ่งมหาวิทยาลัยฯ บูรณาการองค์ความรู้ของคณะวิชาชีพ ร่วมกับประธานกลุ่มนายนพดล ลัดดาแย้ม (ปิ่นฟ้าฟาร์ม-ลาดหลุมแก้ว) ในการพัฒนาตลาดนัดชุมชนในพื้นที่ปิ่นฟ้าฟาร์ม ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่เน้นการผสมผสานระหว่างการเกษตร การท่องเที่ยว และการเรียนรู้ ประกอบไปด้วย โซนร้านอาหารและคาเฟ่ โซนมินิซู (Mini Zoo) โซนท่องเที่ยวเชิงเกษตร และโซนของฝากร้านค้าจากชุมชน โดยนำเอาองค์ความรู้จากงานวิจัยสู่การบริการวิชาการที่นำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ขยายช่องทางจำหน่ายทั้งในรูปแบบตลาดนัดถาวรและแพลตฟอร์มดิจิทัล ตลอดจนพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการผ่านการอบรมและเครือข่ายความร่วมมือ โดยมีเป้าหมายให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเอง สร้างรายได้ที่ยั่งยืน และก้าวสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรวิถีที่สำคัญของพื้นที่

ภาพ/ข่าว ประภาพรรณ ขาวขำ/รายงาน