เชียงใหม่-เปิดกิจกรรม “ADVOCATE 2025”และมอบรางวัลเชิดชูเกียรติ 14 ตำบลต้นแบบ
เชียงใหม่-เปิดกิจกรรม “ADVOCATE 2025”และมอบรางวัลเชิดชูเกียรติ 14 ตำบลต้นแบบ
https://youtu.be/HQsRVrSE8Dg
วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 16.00 น. วิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดกิจกรรม “ADVOCATE 2025” โดยได้รับเกียรติจากนายกู้เกียรติ นิ่มเนียม หัวหน้าผู้ตรวจราชการ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นประธานเปิดกิจกรรม และมอบรางวัลเชิดชูเกียรติ 14 ตำบลต้นแบบ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับผู้ร่วมงาน และคุณศิรินทร์พร เดียวตระกูล ผู้อำนวยการกองบริหารทรัพยากรการวิจัยและนวัตกรรม สำนักงานการวิจัยเเห่งชาติ ร่วมกล่าวแสดงความยินดีต่อผลสำเร็จการดำเนินงาน  ณ ลานประตูท่าแพ
กิจกรรม “ADVOCATE 2025”  มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงผลสำเร็จจากการดำเนินโครงการการยกระดับศักยภาพผู้นำชุมชนต้นแบบ ADVOCATE และนวัตกรรมการเรียนรู้มีดี เพื่อสร้างกลไกการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงวัยในชุมชนแบบมีส่วนร่วม โดยสร้างความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 14 แห่งในภาคเหนือตอนบน สู่การพัฒนาทักษะด้าน Soft Skills และ Management Skills แก่บุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่นำร่อง พร้อมฝึกปฏิบัติเสริมทักษะการทำงานและบริหารโครงการของบุคลากรผู้เข้าร่วมโครงการ ผ่านกิจกรรมส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้สูงวัยในชุมชน และระบบหนุนเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการตลาดของสินค้าชุมชน
นายกู้เกียรติ นิ่มเนียม  หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมระดับฐานราก โดยบุคลากรท้องถิ่นเป็นผู้ขับเคลื่อนหลักร่วมกับภาคีเครือข่าย ความสำเร็จของโครงการจะช่วยเสริมความเข้มแข็งให้ท้องถิ่นไทย พร้อมส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชนทุกวัย เพื่อพัฒนาทักษะการใช้ชีวิตในยุคใหม่ ต่อสู้กับความยากจน และขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
ศาสตราจารย์ ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มุ่งมั่นผลักดันวิสัยทัศน์การเป็น “มหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยนวัตกรรม” โดยวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิตเป็นหน่วยงานสำคัญในการริเริ่มและเปิดโอกาสทางการศึกษา “โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เน้นการส่งมอบองค์ความรู้และพัฒนาทักษะให้แก่คนทุกช่วงวัย ผ่านความร่วมมือแบบบูรณาการระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม”
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.นัทธี สุรีย์ รองผู้อำนวยการวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความสำคัญยิ่งในการพัฒนาและดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่น โดยเฉพาะการสนับสนุนและส่งเสริมการดูแลผู้สูงอายุ ทางวิทยาลัยจึงสร้างความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. ในการพัฒนาทักษะด้าน Soft Skills และ Management Skills แก่บุคลากรและผู้นำชุมชนของ อปท. จำนวน 140 คน ใน 14 พื้นที่นำร่อง จาก 8 จังหวัด ภาคเหนือตอนบน ด้วยกระบวนการฝึกปฏิบัติเสริมทักษะการทำงาน และการบริหารโครงการที่ส่งเสริมธุรกิจและผลิตภัณฑ์จากผู้สูงวัยในชุมชน เพื่อสร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชนอย่างยั่งยืน
การทำงานร่วมกันนี้ ก่อให้เกิดการหนุนเสริมกันและกันระหว่างบุคลากร อปท. กับผู้สูงวัยในการทำกิจกรรมร่วมกันผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน  อาทิ ในจังหวัดเชียงใหม่ เทศบาลตำบลป่าป้องพัฒนาข้าวแต๋นและข้าวเกรียบ เทศบาลตำบลเชิงดอยพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสมุนไพรชาสามสหาย ขิงผง และหัวปลีผง ส่วนเทศบาลตำบลท่าวังตาลเน้นผลิตภัณฑ์กล้วยหนึบและโคมล้านนา
ในจังหวัดเชียงราย เทศบาลตำบลแม่คำพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร ทั้งถุงหอม ลูกประคบ และยาดมสมุนไพร เทศบาลตำบลโยนกพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผ้าไหม และเทศบาลตำบลเวียงเน้นการพัฒนากระเป๋าและผลิตภัณฑ์จากผ้าที่หลากหลาย จังหวัดลำพูนโดดเด่นด้านผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมดินจากเทศบาลตำบลป่าไผ่ และผลิตภัณฑ์ถ่านรักษ์โลกจากเทศบาลตำบลวังดิน เทศบาลตำบลวังผางพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร ทั้งถุงหอม ลูกประคบ และยาดมสมุนไพร
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นอื่น ๆ ได้แก่ ผ้าปักลายอัตลักษณ์จากเทศบาลนครลำปาง ผลิตภัณฑ์จักสานและน้ำพริกจากเทศบาลตำบลป่าแมต จังหวัดแพร่ ผลิตภัณฑ์จากทางมะพร้าวจากเทศบาลตำบลบ้านใหม่ จังหวัดพะเยา ด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอน เทศบาลตำบลแม่ลาน้อยได้พัฒนาผลิตภัณฑ์จากไม้กวาดและกุ๊บไต ส่วนองค์การบริหารส่วนตำบลฝายแก้ว จังหวัดน่าน ต่อยอดผลิตภัณฑ์ผ้าพิมพ์ลายสีธรรมชาติสู่ของฝากอัตลักษณ์ท้องถิ่น
ผลจากการร่วมโครงการนี้ มีผู้สูงอายุเข้าร่วมโครงการมากกว่าสองพันคน พัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนรวม 69 ชิ้น สามารถสร้างรายได้รวมให้กับชุมชนทั้งหมดมากกว่า 2 ล้านบาท  การจัดกิจกรรมยังมี “ตลาดนัดสินค้าผู้สูงวัย” หรือ “MEDEE MARKET” ที่บริเวณลานประตูท่าแพ
ภายในงานมีร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของผู้สูงวัยจำนวนมากกว่า 60 รายการจากพื้นที่ที่เข้าร่วมและหน่วยงานความร่วมมือของโครงการฯ กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ (WORKSHOP) ระบายสีพวงกุญแจกุ๊บไตจากแม่ลาน้อย การสานดอกไม้จากไผ่ตอกบ้านป่าบง อ.สารภี จ.เชียงใหม่ และกิจกรรมแต่งหน้าข้าวแต๋น จาก ต.ป่าป้อง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ให้ผู้เข้าร่วมงานได้ร่วมกิจกรรมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย พร้อมชมการแสดงร่วมสมัยจากศิลปินค่ายคนเมืองเรคคอร์ด และการแข่งขันประกวดร้องเพลงไทยลูกทุ่งพร้อมหางเครื่องจากนักเรียนในจังหวัดเชียงใหม่
นอกจากนี้ในช่วงเช้าของวันเดียวกัน ณ โรงแรมอโมรา ท่าแพ จ.เชียงใหม่ วิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังได้จัดเวทีแบ่งปันประสบการณ์และผลการนำความรู้ไปใช้ในพื้นที่ของผู้นำ ADVOCATE ทั้ง 140 คนจาก 14 ตำบล ใน 8 จังหวัดภาคเหนือ พร้อมนำเสนอโครงการเพื่อเสริมสร้างทักษะและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของผู้สูงวัยในชุมชน และมอบประกาศนียบัตรสำหรับผู้ผ่านหลักสูตรนี้
ปัจจุบัน “โครงการการยกระดับศักยภาพผู้นำชุมชนต้นแบบ ADVOCATE และนวัตกรรมการเรียนรู้มีดี เพื่อสร้างกลไกการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงวัยในชุมชนแบบมีส่วนร่วม” ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)  เพื่อสร้างความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการพัฒนาทักษะแก่บุคลากร เพื่อการพัฒนากิจกรรมพัฒนาธุรกิจและผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากผู้สูงวัยในชุมชนแบบมีส่วนร่วม สร้างรายได้หรือเกิดการสนับสนุนรายได้ให้กับกลุ่มวัยก่อนสูงอายุ (Pre-aging) และผู้สูงอายุ อันนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยในชุมชนอย่างยั่งยืน
สำหรับผู้ที่สนใจผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่เข้าร่วมโครงการฯ สามารถติดต่อได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ Advocate CMU (www.facebook.com/AdvocateCMU) หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ร่วมโครงการฯ