ปทุมธานี มรภ.วไลยอลงกรณ์ จัดพิธีวางพวงมาลา พระราชปิตุจฉาเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ 2568

ปทุมธานี มรภ.วไลยอลงกรณ์ จัดพิธีวางพวงมาลา พระราชปิตุจฉาเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ 2568

 

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์  ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี นายสมคิด จันทมฤก ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ประธานในพิธีวางพวงมาลา พระอนุสาวรีย์สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร องค์ประทานกำเนิดมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์  โดยมี รศ.ดร.สมบัติ คชสิทธิ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวรายงาน ซึ่งมีหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกเข้าร่วมพิธีวางพวงมาลาในครั้งนี้ เพื่อเป็นการสำนึกในพระกรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ซึ่งภายในงานได้จัดพิธีทำบุญเพื่ออุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ พร้อมทั้งถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุ สงฆ์ จำนวน 10 รูป

     

สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ทรงเป็นพระราชธิดา ลำดับที่ 43 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ประสูติวันพุธที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2427 และพระองค์ทรงสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 ท่ามกลางความเศร้าโศกเสียใจของพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพาร ตลอดจนผู้ใกล้ชิด
พระกรุณาธิคุณของพระองค์นั้น ทรงมีพระเมตตาต่อการศึกษาของกุลสตรีไทย จัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2475 ปัจจุบันคือ เลขที่ 153 ถนนเพชรบุรี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร โดยย้ายนักเรียนฝึกหัดครูและนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.7-8) มาจากโรงเรียนเบญจมราชาลัย อาจารย์ใหญ่คนแรกคือ อาจารย์นิลรัตน์ บรรณสิทธิ์วรสาสน์ โรงเรียนใช้ชื่อย่อว่า พ เป็นสัญลักษณ์ และสีเขียว เป็นสีประจำโรงเรียนเนื่องจากเป็นสีประจำวันประสูติของพระองค์

       

โดยในปัจจุบันมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ มีการเปิดการเรียนสอนทั้งหมด 7 คณะ และ 1 วิทยาลัย ทั้งระดับปริญญาตรี – ปริญญาเอก รวมทั้งประกาศนียบัตรวิชาชีพครู เป็นสถานศึกษาที่ให้ความรู้ สร้างคน สร้างอาชีพ และรายได้ เพื่อการพัฒนาชุมชน ท้องถิ่น ให้มีความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ซึ่งมหาวิทยาลัย ได้คำนึงถึง SDGs (Sustainable Development Goals) เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” คือการพัฒนาที่สมดุลกันใน 3 เสาหลักของมิติความยั่งยืน (Three Pillars of Sustainability) นั่นคือ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยได้รับการรับรอง ISO 30401:2018  Knowledge Management Systems จากบริษัท บีเอสไอ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นสถาบันมาตรฐานอังกฤษ British Standard Institute (BSI) เป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามมาตรฐานของ ISO และพัฒนาให้มีความก้าวหน้าต่อไป.

ภาพ/ข่าว วะจะนะชัย วาจาพารวย/ รายงาน