ยะลา-เบตง ตรวจปัสสาวะพนักงานรัฐวิสาหกิจป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด
![ยะลา-เบตง ตรวจปัสสาวะพนักงานรัฐวิสาหกิจป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด](https://www.khaothaitoday.com/wp-content/uploads/2025/02/IMG_4307_0.jpg)
เบตง ป.ป.ส.ภาค9 ร่วมสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดยะลา อำเภอเบตง ตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะ เจ้าหน้าที่ พนักงาน ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติด
วันที่ 6 ก.พ.68 ที่สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอเบตง และที่สำนักงานการประปาส่วนภูมิภาคอำเภอเบตง จ.ยะลา นายณรงค์ฤทธิ์ ไชยเสน นักสืบสวนสอบสวนชำนาญการ ป.ป.ส.ภาค 9 พร้อม เจ้าหน้าที่ ป.ป.ส.ภาค9, เจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดยะลา, เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอเบตง, อส.อำเภอเบตง ทำการสุ่มตรวจปัสสาวะหาสารเสพติด เจ้าหน้าที่ พนักงาน ลูกจ้าง สำนักงานการฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอเบตง และเจ้าหน้าที่ พนักงาน ลูกจ้าง การประปาส่วนภูมิภาคอำเภอเบตง จำนวนทั้งสิ้น 135 คน ตามที่รัฐบาลมีนโยบายในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติด ซึ่งจากการตรวจปัสสาวะหาสารเสพติด ไม่พบเจ้าหน้าที่ พนักงาน ลูกจ้างของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ทั้งสองหน่วยงานเกี่ยวข้องกับยาเสพติดแต่อย่างใด
นายณรงค์ฤทธิ์ ไชยเสน นักสืบสวนสอบสวนชำนาญการ ป.ป.ส.ภาค 9 เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติด โดยกำหนดให้มีแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดทั่วประเทศเพื่อควบคุมการสถานการณ์การแพร่ระบาดของยาเสพติดให้ลดลง จังหวัดยะลา โดยผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา หัวหน้าส่วนราชการ หัวหน้าหน่วยงาน หัวหน้าสถานศึกษา และนายอำเภอทุกอำเภอ ร่วมกันลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดจังหวัดยะลา เพื่อแสดงเจตจำนงร่วมกันขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดไปแล้วนั้น เพื่อให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และแสดงให้เห็นว่าจังหวัดยะลามีความมุ่งมั่นในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดอย่างจริงจัง ป้องกันข้อครหาว่ามีการเลือกปฏิบัติ
ในวันนี้ทางสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดยะลา จึงได้ร่วมกับอำเภอเบตง หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ในพื้นที่ และ ป.ป.ส.ภาค9 ทำการตรวจปัสสาวะหาสารเสพติดเจ้าหน้าที่ พนักงาน ลูกจ้างของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ในพื้นที่อำเภอเบตง ตามโครงการโรงงานสีขาวและระบบมาตรฐานการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานประกอบกิจการ มาเป็นกลไกในการดำเนินกิจกรรม โดยการค้นหาผู้เสพผู้ติดยาเสพติดในสถานประกอบกิจการ และหากพบผู้มีพฤติกรรมเสพยาหรือติดยาเสพติด จะต้องนำเข้าสู่กระบวนการบำบัด ฟื้นฟูสมรรถภาพ และสอดส่องดูแลพฤติกรรมมิให้ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอีก