ประธานวุฒิสภาให้การรับรองรองประธานสภาผู้แทนระดับภูมิภาค สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และคณะ ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทย

ประธานวุฒิสภาให้การรับรองรองประธานสภาผู้แทนระดับภูมิภาค สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และคณะ ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทย

วันที่ 20 สิงหาคม 2567 เวลา 10.00 นาฬิกา ณ ห้องรับรองพิเศษ 204 ชั้น 2 อาคารรัฐสภา (ฝั่งวุฒิสภา) นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ให้การรับรอง ดร. มาห์ยูดิน (Dr. H. Mahyudin, St., MM.) รองประธานสภาผู้แทนระดับภูมิภาค (DPD) สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และคณะ ในโอกาสเดินทางเยือนไทย ระหว่างวันที่ 19 – 23 สิงหาคม 2567 โดยมี พลเอก เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง และนางสาวนภาภรณ์ ใจสัจจะ เลขาธิการวุฒิสภา ร่วมให้การรับรอง โอกาสนี้ นายระห์หมัต บูดีมัน (H.E. Mr. Rachmat Budiman) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินโดนีเซียประจำประเทศไทย เข้าร่วมด้วย

ประธานวุฒิสภา กล่าวต้อนรับรองประธานสภาผู้แทนระดับภูมิภาคสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญของรัฐสภาต่างประเทศคณะแรกที่ได้ให้การรับรอง ที่ผ่านมาไทยและอินโดนีเซียมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดมาอย่างยาวนาน ยินดีที่ปีนี้ครบรอบ 74 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน สำหรับความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติทั้งสองประเทศมีความใกล้ชิด มีการจัดตั้งกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาซึ่งมีการแลกเปลี่ยนการเยือนและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกันอยู่เสมอ และสำหรับความร่วมมือพหุภาคี สมาชิกรัฐสภาของทั้งสองประเทศให้การสนับสนุนและทำงานอย่างใกล้ชิดในประเด็นที่อยู่ในความสนใจสำคัญร่วมกัน เชื่อมั่นว่าการพบปะกันระหว่างสมาชิกรัฐสภาทั้งสองประเทศจะช่วยกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ประธานวุฒิสภากล่าวแสดงความยินดีกับอินโดนีเซียในการสร้างเมืองหลวงแห่งอนาคต “นูซันตารา” (Nusantara) ให้เป็นเมืองหลวงใหม่ที่ทันสมัยด้วยความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเป็นศูนย์กลางของเทคโนโลยีและนวัตกรรมซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ประธานวุฒิสภาเชื่อมั่นว่าไทยและอินโดนีเซียสามารถทำงานร่วมกันเพื่อผลักดันการท่องเที่ยวภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียน และการเปิดเส้นทางบินใหม่ระหว่างกันจะทำให้ประชาชนได้มีการเดินทางไปมาหาสู่กันมากขึ้น

รองประธานสภาผู้แทนระดับภูมิภาค (DPD) กล่าวแสดงความยินดีในโอกาสที่ได้รับเลือกเป็นประธานวุฒิสภา การพบปะกันในวันนี้จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศกระชับความสัมพันธ์กันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทั้งนี้ สภาผู้แทนระดับภูมิภาคมีหน้าที่และอำนาจในการปกครองตนเองในระดับท้องถิ่น รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางกับส่วนภูมิภาค การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การพิจารณาพระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับงบประมาณของประเทศ ภาษี การศึกษา ศาสนา ด้วยหน้าที่และอำนาจที่มีความเป็นอิสระและมีความท้าทาย สภาผู้แทนระดับภูมิภาคของอินโดนีเซียและวุฒิสภาไทยสามารถมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นด้านนิติบัญญัติร่วมกัน เชื่อมั่นในการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับนิติบัญญัติจะนำมาซึ่งความร่วมมือ ผลักดันการพัฒนาที่ยั่งยืนครอบคลุมและใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้นต่อไป