กาฬสินธุ์เริ่มแล้วรวมสุดยอดของดีโคกหนองนา-ปลาร้าอีสานหนึ่งเดียวในโลก

กาฬสินธุ์เริ่มแล้วรวมสุดยอดของดีโคกหนองนา-ปลาร้าอีสานหนึ่งเดียวในโลก

เริ่มแล้วงาน “โคก หนอง นา ปลาร้าอีสาน” จัดใหญ่รวมผลิตของดีจาก โคก หนอง นา และรวมสุดยอดปลาร้าแซ่บนัวทั่วภาคอีสานแห่งเดียวในโลก พร้อม ชม ชิม ช๊อป ของดีเมืองกาฬสินธุ์ สนุกกับการแสดงของศิลปินมากมาย และเวทีเสวนา“ปลาร้าอีสานสู่ตลาดโลก” ซึ่งจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมกับเครือข่ายกลุ่มผู้ประกอบการโอทอป กลุ่มอาชีพ หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 30 กรกฎาคม – 3 สิงหาคม 2567 เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายและยอดขายผลิตภัณฑ์สินค้าครัวเรือน ชุมชน และสินค้าโอทอป


ที่บริเวณลานหน้าศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ (หลังเก่า) นายสนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ มอบหมายให้ นายธวัชชัย รอดงาม รองผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดงาน“โคก หนอง นา ปลาร้าอีสาน” ซึ่ง จ.กาฬสินธุ์ โดยสำนักงานพัฒนาชุมชน จ.กาฬสินธุ์ ร่วมกับเครือข่ายกลุ่มผู้ประกอบการโอทอป กลุ่มอาชีพ หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 กรกฎาคม – 3 สิงหาคม 2567 ที่บริเวณลานหน้าศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ (หลังเก่า) ซึ่งเป็นการรวมผลผลิตของดีจาก โคก หนอง นา รวมสุดยอดปลาร้าแซ่บนัวทั่วภาคอีสานไว้ที่เดียว

และเป็นแห่งเดียวในโลก เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่าย และเพิ่มยอดขายผลิตภัณฑ์สินค้าครัวเรือน ชุมชน และสินค้าโอทอป โดยมีนายรุจติศักดิ์ รังษี รองผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ นายอุทัย สิงห์ทอง พัฒนาการ จ.กาฬสินธุ์ นางเฉลิมขวัญ หล่อตระกูล นายกอบจ.กาฬสินธุ์ นายยุทธนา เกียรติดำเนินงาม นายกสมาคมนักข่าวกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ เครือข่ายโคก หนองนา ผู้ประกอบการปลาร้า พ่อค้า แม่ค้า และประชาชนร่วมงานจำนวนมาก


นายธวัชชัย รอดงาม รองผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า จ.กาฬสินธุ์ หรือ “เมืองน้ำดำ” ขึ้นชื่อเป็นเมืองดินดำ น้ำชุ่ม มีความอุดมสมบูรณ์ และถือเป็นแหล่งผลิตพืชผลทางการเกษตรหลักๆของภาคอีสาน นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์โอทอปที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์มากมาย ทั้งนี้ที่ผ่านมาได้พัฒนาสินค้าโอทอปทำให้ปัจจุบันมีผู้ประกอบการ 2,834 กลุ่ม มีตัวผลิตภัณฑ์ 5,046 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งล่าสุดมียอดจำหน่ายในปี 2566 ที่ผ่านมามากถึง 5,580 ล้านบาท และในปี 2567 นี้ ได้ตั้งเป้าที่ 6,950 ล้านบาท ซึ่งจะต้องมีกิจกรรมส่งเสริมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้


นายธวัชชัย กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ทางสำนักงานพัฒนาชุมชน จ.กาฬสินธุ์ ได้เสนอโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เข้าโครงการตามแผนปฏิบัติราชการประจำปี 2567 ของ จ.กาฬสินธุ์ และได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการ กบจ. นำโดยนายสนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ ให้ดำเนินโครงการดังกล่าว เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการตลาด และเพิ่มยอดการขายของผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน รวมทั้งเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ และเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือน ชุมชน และประชาชน


ด้านนายอุทัย สิงห์ทอง พัฒนาการ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนโครงการ โคก หนอง นา เป็นโครงการหนึ่งที่ จ.กาฬสินธุ์ และกรมการพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนเห็นผลเป็นรูปธรรม โดยการส่งเสริมให้ชุมชนน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจเพียงมาปรับใช้ และส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ทำให้ปัจจุบัน จ.กาฬสินธุ์ มีโคก หนอง นา อยู่ 2,897 แห่ง กระจายอยู่ทั้ง 18 อำเภอซึ่งปัจจุบันมีความอุดมสมบูรณ์ และมีผลผลิตเกิดขึ้นมากมายทั้งพืช ผัก และปลา และที่สำคัญใน จ.กาฬสินธุ์ เป็นแหล่งผลิตปลาร้าที่ใหญ่ และขึ้นชื่อที่สุด มีโรงงานใหญ่ๆหลายแห่ง นอกจากนี้ยังมีแบรนด์ปลาร้าที่ผลิตในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์มากถึง 152 แบรนด์


นายอุทัย กล่าวอีกว่า สำหรับงาน “โคก หนอง นา ปลาร้าอีสาน” จ.กาฬสินธุ์ โดยสำนักงานพัฒนาชุมชน จ.กาฬสินธุ์ได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย กลุ่มผู้ประกอบการโอทอป และกลุ่มอาชีพต่างๆ จัดขึ้น เป็นการหลอมรวมเอาผลผลิตของดีจาก โคก หนอง นา และ รวบรวมเอาสุดยอดปลาร้าจากจังหวัดต่างๆในภาคอีสานมารวมกันไว้ในงานนี้ที่เดียวแห่งเดียว ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกหนึ่งเดียวในโลก เป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดและเพิ่มยอดขายสินค้าโอทอป


อย่างไรก็ตามขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนชาว จ.กาฬสินธุ์ และ จังหวัดใกล้เคียง มาเที่ยวชมงาน ซึ่งตลอด 5 วัน 5 คืน มีกิจกรรมมากมาย เช่น การนำเสนอความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต, การจัดแสดงนิทรรศการศูนย์เรียนรู้ โคก หนอง นาโมเดล, การสาธิตและจำลองวิถีชุมชน, เวทีเสวนา “ก้าวต่อไปโคกหนองนา”, กิจกรรม Workshop“ การให้ความรู้และสาธิตการเพาะเห็ดจากคุณนิมิตร รอดภัย นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญเรื่องเห็ด


กิจกรรมการทำปลาร้า และเวทีเสวนา ปลาร้าอีสานสู่ตลาดโลก ซึ่งมีไมค์ ภิรมย์พร คุณแม่บุญล้ำ และผู้เชี่ยวชาญมาเป็นวิทยากร, กิจกรรมส่งเสริมการขาย นาที PR, การแสดงจากศิลปินที่มีชื่อเสียง, การประกวดอาหารถิ่น”แซ่บกาฬสินธุ์”, การประกวด “โคกหนองนาซิงกิ้งคอนเทส”ประเภททีมไม่เกิน 5 คน (อำเภอละ 1 ทีม), การประกวด “ลีลาสาวไหซอง” และการประกวด “เย็บขันหมากเบ็งเล็ก”