กาฬสินธุ์เกษตรกรเร่งสำรวจปลาหมอคางดำป้องกันหลุดเข้าในบ่อเลี้ยงกุ้งก้ามกราม ยังบ่มี!

กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามในอำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ระดมแรงงานใช้อวนลากสำรวจหาปลาหมอคางดำ และปริมาณกุ้งก้ามกรามในบ่อ ป้องกันปลาหมอคางดำขยายพันธุ์และจับกินกุ้งก้ามกรามหมดบ่อ ขณะที่ผลการสำรวจในพื้นที่ใช้น้ำชลประทานลำปาว ยังไม่พบว่ามีปลาหมอคางดำ

วันที่ 23 กรกฎาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพเลี้ยงกุ้งก้ามกราม เขต ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ แหล่งใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน เกษตรกรต่างพากันตื่นตัวกับข่าวช่วงของการขยายพันธุ์ และแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ทำให้เกิดความเสียหายต่อสัตว์น้ำตามแหล่งน้ำทั่วไป รวมถึงบ่อเลี้ยงกุ้ง บ่อปลา ของเกษตรกรในหลายจังหวัด ซึ่งหลายหน่วยงานกำลังประชาสัมพันธ์ทั่วประเทศ เพื่อแจ้งเตือน และทำลายปลาหมอคางดำด้วยกรรมวิธีต่างๆอยู่ในขณะนี้ โดยเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งใน จ.กาฬสินธุ์ได้ระดมแรงงานใช้อวนลากสำรวจหาปลาหมอคางดำ และปริมาณกุ้งก้ามกรามในบ่อ รวมทั้งล้างบ่กุ้ง เพื่อป้องกันปลาหมอคางดำหลุดรอดเข้ามา ซึ่งเบื้องต้นยังไม่พบ

   
นายชูศักดิ์ ภูพาดหิน อายุ 55 ปี เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกราม หมู่ 4 บ้านตูม ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์กล่าวว่า ตั้งแต่มีข่าวเกี่ยวกับปลาหมอคางดำ และหลายหน่วยงานกำลังทำการกวาดล้างทำลายในพื้นที่หลายจังหวัดในภาคกลางและภาคใต้ ตนและเพื่อนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามและเลี้ยงปลา ทั้งในพื้นที่ ต.บัวบาน ต.เขาพระนอน ต.นาเชือก ต.คลองขาม ต.ดอนสมบูรณ์ อ.ยางตลาด และ ต.ลำพาน ต.ลำคลอง อ.เมืองกาฬสินธุ์ ก็พากันตื่นตัวและเฝ้าติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันก็ระดมแรงงานลงสำรวจ เพื่อตรวจเช็คปริมาณกุ้งในบ่อเป็นประจำ โดยการใช้อวนลากและบางคนจับกุ้งจำหน่ายให้หมด ล้างบ่อ แล้วตากบ่อให้แห้ง ป้องกันปลาหมอคางดำจะบุกรุกหลุดรอดเข้ามาพื้นที่ จับกุ้งก้ามกรามกินหมด และเข้ามาขยายพันธุ์เหมือนจังหวัดอื่นๆ

     
นายชูศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากการสำรวจในบ่อเลี้ยงกุ้งของตน รวมทั้งสอบถามเพื่อนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา รวมทั้งชาวบ้านที่หาปลาตามห้วย หนอง คลองบึง หลายหมู่บ้าน ในพื้นที่ใช้น้ำชลประทานลำปาวหรือเขื่อนลำปาว และแหล่งน้ำตามธรรมชาติก็ยังไม่พบปลาหมอคางดำ ที่เป็นศัตรูสำคัญ ที่จะเข้ามากินกุ้งก้ามกรามและปลาในบ่อ ส่วนที่ตรวจพบก็มีเพียงกุ้งก้ามกราม กุ้งฝอย หอยเชอรี่ หอยขม ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อกุ้งก้ามกรามและปลาในบ่อ ส่วนแหล่งน้ำธรรมชาติก็พบแต่ปลาหมอนา หรือที่ชาวบ้านทางภาคอีสานเรียกปลาเข็ง อย่างไรก็ตามตนก็จะหมั่นสำรวจหาปลาหมอคางดำในบ่อเลี้ยงกุ้งอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ซึ่งหากพบก็จะแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที