เชียงใหม่-สธ. ชวนแอ่ว “Street Food” เชียงใหม่ การันตีด้วยมาตรฐาน SAN & SAN Plus

กระทรวงสาธารณสุข ชวนแอ่ว งานมหกรรม Chiang Mai Street Food Good Health from Local to Global พร้อมจับมือภาคีเครือข่ายพัฒนาและยกระดับอาหารริมบาทวิถี ให้ “สะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน”SAN & SAN Plus สู่สากล ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจและวัฒนธรรมในจังหวัดเชียงใหม่

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2567 นางจิตรา หมีทอง ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว ภายหลังการตรวจเยี่ยมเสริมพลังมหกรรม Chiang Mai Street Food Good Health from Local to Global พร้อมด้วย นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย แพทย์หญิงสิดาพัณณ์ ยุตบุตร รองผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ นายทวีศิลป์ ชัยชนะ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ นายพิศุทธ์ พิศุทธกุล รองนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่


คณะผู้บริหาร พี่น้องภาคีเครือข่ายถนนคนเดินเชียงใหม่ และผู้มีเกียรติร่วมกิจกรรม ณ ลานจัดกิจกรรมประตูท่าแพ ถนนคนเดินเชียงใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ว่า อาหารริมบาทวิถี หรือ “Street Food” ของไทย ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากทั้งจากชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ กระทรวงสาธารณสุข จึงมีนโยบายให้พัฒนาและยกระดับอาหารริมบาทวิถีให้ได้มาตรฐาน SAN & SAN Plus ทั้งสถานที่ อาหาร ภาชนะบรรจุอาหาร บุคคล สัตว์และแมลงนำโรค ที่จะต้อง “สะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน” สู่ระดับสากล เทียบเท่าเครื่องหมายมิชลิน  ที่ได้รับการยอบรับและเชื่อมั่นด้านความอร่อยจากทั่วโลก

โดยความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ที่จะช่วยกันสนับสนุนการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานอาหารริมบาทวิถีให้ดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ มีการสร้างระบบและกลไกภาคีเครือข่ายในการพัฒนาอาหารริมบาทวิถีในระดับพื้นที่ร่วมกันอย่างเข้มแข็ง ระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่สาธารณสุข คณะกรรมการชมรม สมาคมผู้ประกอบการอาหารริมบาทวิถีและหน่วยงานภาครัฐ – เอกชนที่เกี่ยวข้อง , มีมาตรฐาน SAN & SAN Plus ที่แสดงถึงสุขลักษณะและความปลอดภัยของอาหาร พร้อมเพิ่มมาตรการในการตรวจติดตามและเฝ้าระวังความปลอดภัยอาหารอย่างต่อเนื่อง รวมถึงส่งเสริมการบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางด้านโภชนาการ ,มีการส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมในพื้นที่ เช่น การจัดงานเทศกาลต่าง ๆ ส่งเสริมการจำหน่ายอาหารประจำถิ่น การแต่งกายพื้นเมือง เป็นต้นพร้อมฝากผู้บริโภคและผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับ SAN และ SAN Plus เพราะ “มี SAN ไม่มีเซ็ง” แน่นอน

นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวเพิ่มเติมว่า จากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อมและภาวะเศรษฐกิจ ประชาชนนิยมการรับประทานอาหาร
นอกบ้านมากขึ้น โดยเฉพาะ “Street Food” ได้รับความนิยมอย่างมาก กรมอนามัยจึงยกระดับมาตรฐานอาหารริมบาทวิถีไทยสู่สากล (Thailand Street Food Good Health from Local to Global) ผ่านมาตรฐานสุขาภิบาลอาหารภายใต้วิถีชีวิตปกติใหม่ “สะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน” SAN&SAN Plus

 

ประกอบด้วย 4 มิติ ได้แก่ มิติสุขภาพ 10 ข้อ การจัดการสุขาภิบาลอาหาร ผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหารผ่านการอบรม,มิติเศรษฐกิจ การแสดงป้ายราคา รายการเมนูหลายภาษา และการประชาสัมพันธ์ ,มิติสังคม สร้างความร่วมมือของผู้ประกอบการ ภาครัฐ ภาคเอกชน มีระบบรักษาความปลอดภัยนักท่องเที่ยว และ มิติวัฒนธรรม เป็นการสื่อสารอาหารพื้นถิ่นอันเป็นอัตลักษณ์ การแต่งกายประจำถิ่น เพื่อสร้างให้ประชาชนได้บริโภคอาหารที่สะอาด ไม่มีการปนเปื้อนของเชื้อโรคจุลินทรีย์ก่อโรค สารพิษ หรือสารเคมีอาจจะทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ

 

นอกจากนี้ “Street Food” ในแต่ละจังหวัดยังมีความเป็นเอกลักษณ์ของอาหารในแต่ละพื้นที่ ที่มีความโดดเด่นแตกต่างกัน เช่น จังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นศูนย์รวมของวัฒนธรรมท้องถิ่น ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว สนับสนุน กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน และแสดงออกถึงความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชนและภาคีเครือข่าย

นภาพร/เชียงใหม่