‘ดีอี – สธ.’ จับมือพัฒนาระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุข เชื่อมต่อข้อมูลสุขภาพประชาชนไว้บนระบบเดียวกัน ยกระดับ ‘30 บาท

‘ดีอี – สธ.’ จับมือพัฒนาระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุข เชื่อมต่อข้อมูลสุขภาพประชาชนไว้บนระบบเดียวกัน ยกระดับ ‘30 บาท

 

 

วันที่ 29 มีนาคม 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันเปิดโครงการ ‘พัฒนาระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุขของประเทศไทย’ ภายใต้กิจกรรมที่ 1 ‘การพัฒนาบริหารจัดการการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพทั่วประเทศ’ โดยมีนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอี พร้อมด้วยนายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนายธีรวุฒิ ธงภักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตลอดจนคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่กระทรวงดีอีและกระทรวงสาธารณสุข พร้อมผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงาน ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ โดยภายในงานได้มีการเสวนา ในหัวข้อ ‘ความเป็นมาของโครงการ เป้าหมาย การใช้บริการ Cloud การ Exchange ข้อมูล’ ซึ่งมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นายธีรวุฒิ ธงภักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนายแพทย์สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ กระทรวงสาธารณสุข

นายประเสริฐ กล่าวว่า กระทรวงดีอี โดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) มุ่งมั่นที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุขเป็นสิ่งสำคัญและมุ่งมั่นให้บริการแก่ประชาชน โดยจัดให้มีระบบคลาวด์กลาง GDCC เพื่อให้บริการด้านการประมวลผลและจัดเก็บข้อมูลที่ปลอดภัยสำหรับหน่วยงานภาครัฐ สนับสนุนบริการภาครัฐตามยุทธศาสตร์ชาติ ทั้งนี้ การพัฒนาระบบสารสนเทศแพลตฟอร์มกลางบนคลาวด์มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับ รพ.สต.ทั่วประเทศ ที่ขาดแคลนบุคลากรด้านคอมพิวเตอร์และงบประมาณ ซึ่งระบบนี้จะได้รับการดูแล ปรับปรุงและพัฒนาจากหน่วยงานส่วนกลางแบบออนไลน์ เป็นการลงทุน สำหรับการพัฒนาและดูแลระบบที่มีต้นทุนต่ำ แต่สามารถเชื่อมโยงการดูแลสุขภาพทุกระดับ ระบบสารสนเทศจะมีระบบประมวลผลแบบกลุ่มเมฆ (Cloud Computing) ในรูปแบบ Private Cloud ที่มีความยืดหยุ่นในการใช้งาน มีการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ช่วยลดงบประมาณให้กับภาครัฐ ในระยะยาวได้ โดยกระทรวงดีอีจะดำเนินการจัดหา พัฒนา ดูแลระบบคลาวด์กลางสำหรับข้อมูลสุขภาพที่มีความปลอดภัย พร้อมกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล


“สดช. และ สธ. ในฐานะหน่วยงานรัฐผู้ดำเนินงานให้บริการโครงการคลาวด์กลาง เชื่อมั่นว่าระบบนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการดูแลสุขภาพของประชาชน และเป็นการขับเคลื่อนสู่ Health 4.0 อย่างเป็นระบบ ซึ่งโครงการนี้ไม่เพียงแค่เป็นการปรับปรุงการบริหารจัดการข้อมูลสุขภาพเท่านั้น แต่ยังเป็นการลงทุนที่สำคัญในการเดินหน้าของประเทศไทยสู่ Health 4.0 ที่จะช่วยสร้างพื้นที่ในการพัฒนาและส่งเสริมนวัตกรรมในด้านสุขภาพอย่างยั่งยืน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวย้ำ


ขณะที่ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีนโยบายเร่งผลักดันการพัฒนาระบบสุขภาพระดับชาติ เพิ่มขีดความสามารถด้านสาธารณสุข สร้างบทบาทของนวัตกรรมด้านสุขภาพ รวมถึงสร้างสภาพแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพดิจิทัล เพื่อให้ประชาชนทุกคน ทุกพื้นที่ มีโอกาสเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีการพัฒนาระบบสุขภาพดิจิทัลมาอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคือ ‘แอปพลิเคชันหมอพร้อม’ แพลตฟอร์มสุขภาพดิจิทัลที่มีผู้ใช้งานกว่า 25.4 ล้านคน รวมถึงการพัฒนาโรงพยาบาลในสังกัดให้เป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะ นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการให้บริการ มีการเชื่อมต่อข้อมูลสุขภาพของประชาชนบนฐานข้อมูลที่มีความปลอดภัย ช่วยให้ประชาชนเข้ารับบริการได้อย่างสะดวก รวดเร็วลดการรอคอยและลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้


“สำหรับโครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางฯ ซึ่งเป็นความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุข โดยศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และ กระทรวงดีอี โดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ริเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2565 เป้าหมายสำคัญคือ การพัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูลสุขภาพของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั้งปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ และส่วนกลาง
ให้อยู่บนระบบเดียวกัน รวมทั้งยกระดับการทำงานหน่วยงานรัฐด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย พร้อมระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ตามมาตรฐานสากล ISO 27001 ช่วยป้องกันไม่ให้ข้อมูลรั่วไหลหรือถูกโจรกรรม และสามารถนำข้อมูลสำคัญมาวิเคราะห์เพื่อวางแผนในการบริหารจัดการด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทยได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งยังรองรับการขับเคลื่อนนโยบายยกระดับ 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ที่ต้องมีการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพจากโรงพยาบาลภาครัฐ โรงพยาบาลเอกชน คลินิก ร้านยา ร้านแล็บที่เข้าร่วมโครงการ ทำให้ผู้ให้บริการทางการแพทย์ทราบข้อมูลสุขภาพชุดเดียวกัน เช่น ประวัติการแพ้ยา แพ้อาหาร การรักษาที่ผ่านมา ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ สามารถให้การรักษาผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว

////////////