เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าโต้กลับ WHO อวยแบนทิพย์บุหรี่ไฟฟ้าในไทยชี้พบเยาวชนไทยใช้บุหรี่ไฟฟ้าสูงกว่าในประเทศที่มีกฎหมายควบคุมอย่างถูกต้อง
เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าโต้กลับ WHO อวยแบนทิพย์บุหรี่ไฟฟ้าในไทยชี้พบเยาวชนไทยใช้บุหรี่ไฟฟ้าสูงกว่าในประเทศที่มีกฎหมายควบคุมอย่างถูกต้อง
เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าโต้กลับ WHO อวยแบนทิพย์ในไทย ทั้ง ๆ ที่มีขายเกลื่อนพบเห็นได้ทั่วไป เชื่อมั่นการนำบุหรี่ไฟฟ้าขึ้นมาบนดินควบคุมด้วยกฎหมายอย่างเหมาะสมจะช่วยลดการเข้าถึงของเยาวชนได้ พร้อมเผยสถิติพบเยาวชนใช้บุหรี่ไฟฟ้าในประเทศที่แบน มากกว่าในประเทศที่มีกฎหมายควบคุมอย่างถูกต้อง
สืบเนื่องจากแถลงการณ์ของผู้แทนองค์การอนามัยโลก (WHO) ในประเทศไทย จากงานเสวนาการแถลงการณ์องค์การอนามัยโลก เรื่องบุหรี่ไฟฟ้าภัยคุกคามต่อเด็กและเยาวชน เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2566 ที่สนับสนุนให้ไทยคงมาตรการห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าต่อไปเพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพของผู้ใช้และคนรอบข้างรวมถึงปกป้องเด็กและเยาวชนเป็นสำคัญ เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า นำโดยเพจ “ลาขาดควันยาสูบ (ECST)” และเพจ “มนุษย์ควัน” ร่วมย้ำจุดยืนที่ต้องการกฎหมายควบคุมการขาย การตลาด การกำหนดอายุผู้ซื้อผู้ขาย การควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ รวมถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อปกป้องผู้บริโภค และป้องกันผู้ใช้หน้าใหม่ที่เป็นเด็กและเยาวชน
นายมาริษ กรัณยวัฒน์ ตัวแทนจากเพจลาขาดควันยาสูบ กล่าวว่า “บุหรี่ไฟฟ้ามีอยู่ทั่วไปในสังคมไทย และปัญหาเยาวชนไทยเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเรื่องจริงในปัจจุบันที่คงไม่มีใครปฏิเสธได้ แม้เราจะมีมาตรการแบนบุหรี่ไฟฟ้ามาเกือบ 10 ปีแล้วก็ตาม คงเป็นไปไม่ได้แล้วที่จะทำให้ไม่มีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเลย การคงมาตรการห้ามขายทำให้เกิดคำถามที่น่ากังวลว่าสินค้าที่อยู่ใต้ดินเข้าถึงง่ายเหล่านี้มีคุณภาพและความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน การไม่ควบคุมเลยจะทำให้เกิดอันตรายมากกว่ากับทุกฝ่ายในรูปแบบที่คาดไม่ถึง ดังนั้น ทางออกเดียวคือจำเป็นต้องมีกฎหมายเข้ามาควบคุมอย่างเหมาะสม อยากถามกลับว่า ถ้าแบนแล้วดีจริงทำไม WHO ไม่ไปร้องเรียกให้สหรัฐฯ อังกฤษ ประเทศกลุ่มอียู เกาหลีใต้ ญี่ปุ่นหันมาแบนบุหรี่ไฟฟ้าบ้าง มาเชียร์แต่ประเทศไทย”
นายสาริษฏ์ สิทธิเสรีชน จากเพจมนุษย์ควัน ให้ข้อมูลเสริมว่า “สถิติเยาวชนใช้บุหรี่ไฟฟ้าในไทยของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากร้อยละ 3.3 ในปี 2558 ในช่วงเริ่มต้นการแบนในไทย เป็นร้อยละ 9.1 ในปี 2566 ขณะที่ประเทศที่มีการแบนบุหรี่ไฟฟ้าอื่น ๆ เช่น ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ ก็เจอกับปัญหาเดียวกัน โดยออสเตรเลียภายหลังการมีคำสั่งให้มีใบสั่งยาสำหรับการใช้และการขายบุหรี่ไฟฟ้าในปี 2564 จำนวนเยาวชนที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าก็สูงขึ้นจากร้อยละ 9.8 เป็นร้อยละ 14.5 ในปี 2566 ขณะที่ประเทศที่มีการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าอย่างถูกกฎหมาย เช่น แคนาดา นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ มีสถิติเยาวชนที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าอยู่ที่ร้อยละ 8 ร้อยละ 6 ร้อยละ 5 และร้อยละ 3.7 ตามลำดับ ซึ่งน้อยกว่าประเทศที่มีการแบนอยู่”
“จริง ๆ แล้ว WHO ไม่เคยกำหนดให้ทุกประเทศห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า เพราะหากห้ามจริงบุหรี่ไฟฟ้าคงไม่ถูกกฎหมายแล้วในกว่า 80 ประเทศทั่วโลก ความหวังที่อยากให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นศูนย์ในไทยคงยากที่จะเป็นจริงได้ สิ่งที่ไทยควรทำและทำได้ตอนนี้คือเปิดโอกาสให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยได้ทำงานโดยพิจารณาเหตุและผลอย่างรอบด้าน ไม่ใช่เพียงด้านสุขภาพเท่านั้น ต้องคำนึงถึงบริบทของสังคมไทยตอนนี้ด้วย เราเคยลดจำนวนเยาวชนที่สูบบุหรี่มวนลงได้ด้วยกฎหมายกำหนดอายุผู้ซื้อและผู้ขาย เหตุใดจึงไม่เชื่อว่ากฎหมายจะสามารถช่วยป้องกันเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้าได้เช่นเดียวกัน ดีกว่าปล่อยให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าที่ไม่มีการควบคุมทั้งด้านคุณภาพและความปลอดภัยได้อย่างอิสระแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน” นายสาริษฏ์ กล่าวปิดท้าย