กาฬสินธุ์-รันทดครอบครัวเหยื่อโควิดรับจ้างเลี้ยงควายสู้ชีวิตกินข้าวก้นบาตร

สุดรันทด พบครอบครัวเหยื่อโควิด-19 ตา-ยาย วัยกว่า 60 ปี ชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ ต้องเช่าบ้านอยู่ ยังชีพด้วยการกินข้าวก้นบาตรพระ รับจ้างเลี้ยงควาย เลี้ยงหลานสาวหลานชายวัย 8 ขวบและ 2 ขวบ เนื่องจากลูกสาวที่เป็นแม่ของหลานทั้ง 2 คน ซึ่งเป็นเสาหลักหาเลี้ยงครอบครัว ติดเชื้อโควิดและเสียชีวิตเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เผยถึงลำบากยากจนก็ไม่ท้อ ขอแค่ไม่ป่วยไข้ มีเรี่ยวแรงเลี้ยงหลาน และดูภาพถ่ายลูกสาวเป็นแรงฮึดสู้ชีวิตให้ผ่านพ้นไปวันๆ

วันที่ 14 ธันวาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนกลุ่มเปราะบาง ใน จ.กาฬสินธุ์ รายครอบครัวนางพูนสุข มะลาด อายุ 60 ปี บ้านเลขที่ 70/98 คุ้มสุขสบาย ซอยวิโรจน์รัตน์ ถนนถีนานนท์ เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ที่ถือได้ว่าเป็นครอบครัวที่ได้รับผลกระทบรุนแรง จากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากลูกสาวคือนางธิดารัตน์ มะลาด อายุ 35 ปี ซึ่งไปทำงานที่ จ.สมุทรปราการ ติดเชื้อโควิดก่อนที่จะเสียชีวิตในเวลาต่อมา ซึ่งเป็นผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิดรายแรกของ จ.กาฬสินธุ์


โดยประเด็นที่สังคมชาว จ.กาฬสินธุ์ให้ความสนใจมากคือ นางธิดารัตน์ติดเชื้อโควิดขณะตั้งครรภ์ได้ 8 เดือน เพื่อความปลอดภัยของเด็กที่อยู่ในครรภ์ คุณหมอจึงได้ผ่าคลอด “น้องเลม่อน” ออกมาอย่างปลอดภัยเมื่อวันที่ 2 ส.ค.64 ก่อนที่นางธิดารัตน์จะเสียชีวิตในวันที่ 5 ส.ค.64 ทิ้งลูกกำพร้าแม่ไว้ 4 คน ปัจจุบันคนโตเป็นชายอายุ 18 ปี คนรองเป็นหญิงอายุ 14 ปี คนที่สามเป็นหญิงอายุ 8 ปี และคนที่ 4 น้องเลม่อน อายุ 2 ปี 2 เดือน โดยปัจจุบัน 2 คนแรกลูกเขยหรือสามีนางธิดารัตน์ รับไปอุปการะที่กรุงเทพฯ เนื่องจากไปทำงานรับจ้างที่นั่น ส่วนคนที่ 3 น้องหมิวและน้องเลม่อน นางพูนสุขผู้เป็นยายเลี้ยงดูอยู่ที่บ้าน โดยนายพินธุ เพียรภายลุน ลูกเขยจะส่งเงินมาช่วยค่าเลี้ยงดูเดือนละ 3,000 บาท


นางพูนสุข กล่าวว่า ตนกับนายวิชัย มะลาด สามีวัย 66 ปี รับน้องเลม่อนหลานชายกำพร้าแม่มาเลี้ยงตั้งแต่แรกเกิด ถึงแม้น้องเลม่อนจะอยู่ในครรภ์แม่ไม่ครบ 9 เดือน แต่สุขภาพก็สมบูรณ์ดีทุกประการ เลี้ยงง่าย ไม่งอแง แต่ก็กำลังกินกำลังนอน สิ้นเปลืองนมผง แพมเพิร์ส ของเล่น ขณะที่น้องหมิวพี่สาวน้องเลม่อน ซึ่งกำลังเรียนอยู่ชั้น ป.2 ก็กำลังเติบโตตามวัย รายจ่ายในครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น รวมค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ เฉลี่ยเดือนละ 6,000 บาท เงินที่ลูกเขยส่งมาให้จึงไม่เพียงพอ


นางพูนสุขกล่าวอีกว่า ช่วงแรกที่รับหลานกำพร้ามาเลี้ยง ก็มีส่วนราชการ เหล่ากาชาด สมาคมสตรี เข้ามาให้ความช่วยเหลือด้านเงินสดและถุงยังชีพบ้าง แต่ทุกวันนี้ไม่มี บางครั้งก็อยากจะไปขอกู้เงินกองทุนต่างๆ จากพัฒนาสังคมบ้าง เทศบาลบ้าง เพื่อเป็นทุนประกอบอาชีพเล็กๆ น้อยๆ พอได้ค่านม ค่าขนมให้หลาน แต่ก็ไม่มีกองทุนไหนให้กู้ เพราะไม่มีคนค้ำประกันให้ ที่ทำกินก็ไม่มี ยังดีที่มีเบี้ยยังชีพตนกับสามีคนละ 600 บาท เงินแรกเกิดน้องเลม่อนอีกเดือนละ 600 และค่ารับจ้างเลี้ยงควายวันละ 200 บาท บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2 คนเดือนละ 600 บาท ก็พอมีเหลือซื้อข้าวสารบ้าง แต่บางครั้งก็ไม่มีจะซื้อข้าวสารกรอกหม้อ เพื่อนบ้านที่ไปทำบุญที่วัดเขาสงสาร ก็ขอข้าวก้นบาตรพระและขนมมาให้ พอได้ป้อนหลาน อยู่กินอย่างประหยัดสุดๆ ข้าวเหนียวบางครั้งก็อุ่น 2-3 รอบ ขณะที่อาหารก็พอหาได้จากแถวๆนี้ ส่วนใหญ่นายวิชัยสามีไปหาเก็บผักปูปลา ตามแหล่งน้ำธรรมชาติมาทำกิน กินตามมีตามเกิด พอประทังชีวิตไปวันๆ


“เสื้อผ้าตัวใหม่สักตัว ทั้งตนเองกับสามีและหลาน ก็ไม่มีเงินจะซื้อหรอก ที่มีสวมใส่ทุกวันนี้ก็อาศัยจากคนใจบุญนำมามอบให้ สำหรับนายวิชัยสามีนั้น ร่างกายก็ไม่ค่อยจะแข็งแรง เนื่องจากเคยถูกควายขวิดจนสำไส้แตก ชีวิตประจำวันตนกับสามีก็เฝ้าแต่เลี้ยงน้องเลม่อน พร้อมๆกับดูภาพถ่ายลูกสาวแม่น้องเลม่อน ที่เสียชีวิตไปด้วยความคิดถึง อดไม่ได้ที่จะคร่ำครวญโหยหาว่าถ้าไม่ติดเชื้อโควิด คงเป็นเสาหลักเลี้ยงครอบครัวไม่ลำบากเหมือนทุกวันนี้ ถือเป็นความโชคดีอยู่บ้างที่สุขภาพยังดี มีรายได้จากการรับจ้างเลี้ยงควายวันละ 200 บาท รวมทั้งเบี้ยยังชีพ บัตรสวัสดิการ และอาศัยข้าวก้นบาตรพระ ถึงความเป็นอยู่จะลำบากยากจนอย่างไรก็จะไม่ท้อ เห็นหน้าหลาน มองภาพถ่ายลูกสาวที่เสียชีวิตไปก็เกิดแรงฮึดสู้ ทุกคืนก่อนนอนก็ภาวนาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอให้ตนกับสามีมีสุขภาพแข็งแรง ไม่เจ็บไม่ไข้ จะได้มีเรี่ยวแรงเลี้ยงหลานต่อไป” นางพูนสุขกล่าวในที่สุด


ด้านนายกังวาน แสนอุดม ปลัดเทศบาลตำบลกุดสิม อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่าตนเลี้ยงควายพ่อพันธุ์และอนุรักษ์ควายพื้นบ้านไว้ฝูงหนึ่ง โดยทำคอกเลี้ยงในพื้นที่เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ใกล้ชุมชนที่นางพูนสุขและครอบครัวเช่าบ้านอยู่ ทั้งนี้ ทราบปัญหาความเดือดร้อนของครอบครัวนางพูนสุขมาตั้งแต่ต้น รู้สึกเห็นใจ จึงได้จ้างให้ช่วยเลี้ยงควาย เพื่อที่จะมีรายได้เลี้ยงหลาน และช่วยเหลือเจือจานกันไปตามความเหมาะสม


อย่างไรก็ตาม ครอบครัวนางพูนสุข ถือเป็นอีกครอบครัวหนึ่ง ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งระบาดรุนแรงระหว่างปี 2563-64 ถึงขนาดผู้เป็นเสาหลักหาเลี้ยงครอบครัว ต้องเสียชีวิตไปก่อนวัยอันควร ทิ้งลูกๆอีกหลายชีวิตไว้ข้างหลัง ต้องอยู่อย่างอดๆอยากๆ บางคนเป็นปัญหาสังคม และยังมีผู้สูงอายุอีกหลายคน ที่ต้องกัดฟันสู้ชีวิตต่อไปแม้ในวัยที่ควรจะพักผ่อน เพื่อการดำรงอยู่ของชีวิตบริสุทธิ์น้อยๆ ที่อาจเรียกว่า “เหยื่อโควิด” ซึ่งกำลังเจริญเติบโต อย่างเช่นครอบครัวนางพูนสุข ที่เข้าสู่วัยชราภาพแต่ยังต้องรับจ้างเลี้ยงควาย เพื่อหาเงินเลี้ยงหลาน 2 คน สำหรับผู้มีจิตศรัทธา ต้องการช่วยเหลือค่าเล่าเรียนแก่น้องหมิวและค่านมน้องเลม่อน สามารถบริจาคเข้าบัญชีนางพูนสุข มะลาด ธนาคาร ธ.ก.ส.สาขากาฬสินธุ์ บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ 020093480943