เปิดโลกแห่งความงดงามทางวัฒนธรรมของภูฏาน จากเทศกาลต่าง ๆ ที่จัดขึ้นตลอดทั้งปี
เปิดโลกแห่งความงดงามทางวัฒนธรรมของภูฏาน จากเทศกาลต่าง ๆ ที่จัดขึ้นตลอดทั้งปี
การแสดงศิลปะการต่อสู้ กิจกรรมดูนก การจัดแสดงพฤกษศาสตร์ การเต้นรำหน้ากากศักดิ์สิทธิ์ และการจัดแสดงศิลปะ วัฒนธรรม อาหาร และงานฝีมือ รอต้อนรับการมาเยือนของนักเดินทาง ภายใต้สโลแกน “Believe”
สภาการท่องเที่ยวภูฏานได้ประกาศแจ้งถึงปฏิทินเทศกาลแห่งชาติประจำปี ภายใต้สโลแกน ‘Believe‘ ซึ่งเน้นย้ำถึงองค์ประกอบสำคัญดั้งเดิมของชาติ ทั้งด้านจิตวิญญาณ และระบบนิเวศ ผสมผสานภูมิปัญญาของอดีตเข้ากับความเชื่อมั่นในอนาคต
ตลอดทั้งปี ประเทศภูฏานมีเทศกาลที่น่าสนใจถึง 7 เทศกาลแสดงให้เห็นถึงความรุ่มรวยแห่งวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติของภูฏาน และทุกคนที่ปรารถนาจะสัมผัสประสบการณ์ประเพณีการดำรงชีวิตประเทศนี้จะได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากชาวภูฏาน
“เรารู้สึกตื่นเต้นที่จะได้มีโอกาสต้อนรับนักเดินทางจากทั่วโลกที่ต้องการมีส่วนร่วมในประสบการณ์สุดพิเศษจากการเฉลิมฉลองเทศกาลอันมีสีสันต่าง ๆ ของภูฏานที่จะสร้างเสียงหัวเราะและความทรงจำไม่รู้ลืมให้กับคุณ ไม่ว่าเป็นเทศกาลเกี่ยวกับศาสนาอย่าง ปูนาคาเชชู (Punakha Tshechu) หรือเทศกาลสมัยใหม่อย่างเทศการดูนก” มร. ดอร์จี ดราดุล (Dorji Dhradhul) ผู้อำนวยการสภาการท่องเที่ยวแห่งภูฏานกล่าว
เทศกาลแรกของปี คือ Punakha Dromche จัดขึ้น ณ ลานกว้างในบริเวณป้อมปราการ Punakha Dzong ในเมือง Punakha (เมืองหลวงเก่าของภูฏาน) ตั้งแต่วันที่ 16 ถึง 18 กุมภาพันธ์ของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงที่ดอก Jacaranda หรือดอกศรีตรังเริ่มเบ่งบาน และเป็นเทศกาลเดียวในประเทศที่จำลองเหตุการณ์การต่อสู้กับกองทัพทิเบตในช่วงศตวรรษที่ 17 ได้อย่างน่าทึ่ง โดยจะมี ‘pazaps’ คือทหารอาสาในท้องถิ่นแต่งกายด้วยเครื่องราชกกุธภัณฑ์การต่อสู้แบบดั้งเดิมในสมัยนั้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ไม่มีกองกำลังติดอาวุธใด ๆ มีเพียง ‘tshochen‘ หรือกองกำลังพลจากหมู่บ้านใหญ่แปดแห่งจากเมืองทิมพูและพูนาคาออกมาสู้รบและขับไล่กองกำลังทิเบตที่บุกรุกเข้ามาเพื่อแย่งชิงพระธาตุรังจุง คารสะปะนี
หลังจากนั้นจะมีการสาธิต ‘โนบุชูชานี‘ (norbu chushani) คือการนำพระธาตุไปแช่ในแม่น้ำโมจู เพื่อตบตาผู้รุกรานชาวทิเบต กล่าวกันว่า Zhabdrung Rinpoche ผู้รวมอนาจักรภูฏานในศตวรรษที่ 17 ได้ทิ้งสิ่งที่เสมือนพระธาตุเป็นตัวล่อลงในแม่น้ำ การสาธิตริมแม่น้ำนี้จะมีผู้คนหลายร้อยคนมารวมตัวกันในป้อมปราการ และในวันสุดท้ายของเทศกาล Punakha Dromche จะมีการลากชามทองแดงขนาดใหญ่ที่ลงจารึกด้วยพระคัมภีร์ไปที่ใจกลางลาน ในชามบรรจุด้วยเหล้าจนเต็มซึ่งจากนั้นจะนำไปอวยพรและแจกจ่ายให้กับผู้ที่เข้าร่วมงานเทศกาล
ถัดมาจะเป็นเทศกาล Punakha Tshechu ซึ่งจัดขึ้นเป็นเวลาสามวันที่ลานของ Punakha Dzong เช่นกัน ตั้งแต่วันที่ 19 ถึง 21 กุมภาพันธ์ของทุกปี เทศกาล Punakha Tshechu จัดขึ้นเพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อ รินโปเช (Guru Rinpoche)ปรมาจารย์พุทธตันตระ (หรือมหายานตันตระ) เป็นหนึ่งใน Tshechus ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในประเทศ โดยจะมีการเต้นรำหน้ากากหรือ ‘cham‘ และการเต้นรำพื้นบ้านของชาวภูฏานแบบดั้งเดิม ผู้คนที่มาร่วมงานจะแต่งกายสวยงาม อีกทั้งยังนำอาหารกลางวันมาปิกนิก นั่งรับประทานและชมเทศกาลไปกับสมาชิกในครอบครัวไปด้วย
สำหรับเดือนมีนาคม จะมีเทศกาล Paro Tshechu จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 ถึง 25 ณ รินปุง ซอง (Rinpung Dzong) ที่แปลว่า “ปราการกองแก้วมณี” เป็นอารามกึ่งปราการอันสวยงามในเมือง Paro เทศกาลนี้มีการเต้นรำสวมหน้ากากและการเต้นรำพื้นบ้านของชาวภูฏานซึ่งแสดงโดยพระภิกษุและชาวบ้าน ไฮไลท์หลักของเทศกาลคือการคลี่ผ้าปักรูปของท่านรินโปเช (หรือ Throngdrel) ขนาดมหึมาในวันสุดท้าย ซึ่งบรรยายถึงการปรากฏองค์ทั้งแปดครั้งของท่าน โดยขนาดของผ้าปักนี้จะครอบคลุมทั้งกำแพงซึ่งมีความสูงเท่าตึกสามชั้น และจะมีผู้คนจำนวนมากเข้าคิวเพื่อชื่นชมและขอพรจาก Throngdrel ทุกปี
เดือนเมษายน ระหว่างวันที่ 13-14 จะมีเทศกาล Rhododendron (กุหลาบพันปี) จัดขึ้น ที่อุทยานหลวงพฤษศาสตร์ (Royal Botanical Park) แห่งเมือง Lamperi ซึ่งอยู่ห่างจากทิมพูประมาณ 35 กม. เทศกาล 2 วันนี้ถือเป็นการเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ และอวดโฉมกุหลาบพันปีหลากสายพันธุ์ภายในอุทยานที่บานสะพรั่งครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 50 ตารางกิโลเมตร วัตถุประสงค์หลักของเทศกาล Rhododendron คือการเฉลิมฉลองพืชพรรณ วัฒนธรรม อาหารอันอุดมสมบูรณ์ของภูฏาน และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ปัจจุบันกุหลาบพันปี (Rhododendron) มีถึง 46 สายพันธุ์ โดยอุทยานหลวงพฤษศาสตร์ในเมือง Lamperi มีถึง 29 สายพันธ์ รวมถึง 4 สายพันธุ์ที่ถือกำเนิดที่ภูฏาน ได้แก่ Rhododendron kesangiae, Rhododendron pogonophyllum, Rhododendron Bhutanese และ Rhododendron flinckii
ในเทศกาลจะมีเกม การแสดงวัฒนธรรมและการละเล่นต่าง ๆ รวมถึงการเต้นรำสวมหน้ากาก การแสดงดนตรีพื้นเมืองของภูฏาน และการเต้นรำโดยเด็กนักเรียนและชาวบ้าน มีแผงขายสิ่งทอและของที่ระลึก รวมถึงแผงขายอาหารรวมถึงอาหารและเครื่องดื่มที่ทำจากกุหลาบพันปี ซึ่งทั้งหมดนี้จัดขึ้นโดยชุมชนท้องถิ่น ผู้มาเยือนที่รักธรรมชาติสามารถไปอาบน้ำในป่า ตามเส้นทางเดินป่า Lungchutse ซึ่งใช้เวลาเดินจาก Dochula Pass ประมาณ 2 ชั่วโมง เป็นเส้นทางที่ร่มรื่นสวยงาม และในช่วงเทศกาลจะมีดอกกุหลาบพันปีบานสะพรั่งเต็มที่
เทศกาลนกกระเรียนคอดำประจำปีจัดขึ้นในวันที่ 11 พฤศจิกายนในหุบเขา Gangtey ซึ่งใช้เวลาเดินทางโดยรถยนตร์จากทิมพูไม่ถึงสี่ชั่วโมง เทศกาลนี้เป็นการเฉลิมฉลองการกลับมาภูฏานของนกกระเรียนคอดำ ที่บินมาจากทิเบต จีน และอรุณาจัลประเทศ (อินเดีย) มาอาศัยอยู่ในหุบเขาแห่งนี้ในช่วงฤดูหนาว ผู้ร่วมเทศกาลจะมีโอกาสพิเศษได้ชมนกที่ยิ่งใหญ่เหล่านี้อย่างใกล้ชิด และยังจะได้รับชมการเต้นรำสวมหน้ากาก เช่น Drametse Ngachham (เต้นและตีกลองไปด้วย) Pachham (การเต้นรำของวีรบุรุษ) และ ZhanaNgachham (ระบำหมวกดำ) ในเทศกาลนี้ยังมีการแสดงทางวัฒนธรรมต่าง ๆ โดยนักเรียน เพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อนกกระเรียนคอดำทั่วโลกที่เสี่ยงกับการใกล้จะสูญพันธ์ นอกจากนั้นผู้มาร่วมงานยังสามารถสำรวจวัด GangteyGoenpa เดินตามแนวป่าไปยังหุบเขาตอนล่าง และเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตในท้องถิ่นได้อย่างลึกซึ้ง
อีกหนึ่งเทศกาลดูนกประจำปีของภูฏาน จะจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 13 ถึง 15 พฤศจิกายนที่ Tingtibi ในเขต Zhemgang ซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะเมืองหลวงแห่งการท่องเที่ยวเชิงนิเวศของภูฏาน ใช้เวลาขับรถประมาณ 6 ชั่วโมงจากทิมพู ที่นี่เป็นที่อยู่ของนกมากกว่า 500 สายพันธุ์ รวมถึงนกอินทรีทะเลหัวนวล (Pallas’s Fish Eagle), ไก่ฟ้าเขาแดง (Satyr Tragopan), นกเงือกคอแดง (Rufous-necked Hornbill), นกจู๋เต้นลายจุด(Spotted Elachura), นกกระเบื้องผา (Blue-capped Rock Thrush), นกคัคคูมรกต (Emerald Cuckoo), นกไต่ไม้ (Nuthatch) และนกกระสาท้องขาว (White-bellied Heron) ที่ใกล้จะสูญพันธุ์อย่างยิ่ง
เทศกาลดูนกเป็นเวลาสามวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการดูนกและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่หรูหราในภูมิภาค และเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่น ในเทศกาลจะมีการแสดงทางวัฒนธรรมและดนตรีบรรเลงโดยวงดนตรี นักเต้นและนักร้องท้องถิ่น การเต้นรำสวมหน้ากาก และการแสดงดนตรีพื้นเมืองของภูฏาน มีแผงขายอาหารที่นำเสนออาหารท้องถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ เช่น kharang (โจ๊กข้าวโพด) ปลารมควัน หน่อไม้ ผักดอง ผลไม้และซีเรียล และ tongpa – เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ทำจากข้าวสาลี – เสิร์ฟในภาชนะไม้ไผ่ ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของคนในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก
ภายในงานยังมีการจัดแสดงชิ้นงานทอจากอ้อยและไม้ไผ่ ประเภทของใช้ในครัวเรือน ภาชนะใส่สิ่งของ ซองใส่ธนูจานชามและภาชนะใส่เครื่องประดับ ผู้เยี่ยมชมยังสามารถเข้าร่วมการแข่งขันวาดภาพและเล่นเกมแบบดั้งเดิม และเพลิดเพลินกับการเดินป่าไปตามเส้นทางดูนกที่สวยงาม นอกจากนั้นยังเลือกไปแช่บ่อน้ำพุร้อนเพื่อการบำบัดและตกปลาเพื่อความบันเทิง (จับและปล่อย) โดยใช้กับดักในท้องถิ่นหรืออุปกรณ์ฟลายฟิชชิ่ง และยังสามารถไปล่องแก่งในลุ่มน้ำ Mangde Chhu และ Drangme Chhu ได้อีกด้วย
ถัดจากเทศกาลดูนก จะมีเทศกาล Druk Wangyel Tshechuซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 13 ธันวาคมของทุกปี ที่ Dochula Pass ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองทิมพูเพียง 45 นาทีทางรถยนต์ ท่ามกลางฉากหลังอันน่างดงามอย่างน่าทึ่งของเทือกเขาหิมาลัย มีการเต้นรำอันศักดิ์สิทธิ์มากมายในเทศกาลนี้ เพื่อบอกเล่าถึงความกล้าหาญและความเสียสละของกองทัพหลวงภูฏาน เทศกาลนี้มีการเต้นรำหน้ากากและการเต้นรำพื้นบ้านของชาวภูฏาน ในช่วงเทศกาลจะมีการเต้นรำอันเป็นเอกลักษณ์หลายอย่าง ซึ่งแตกต่างจากเทศกาลทางศาสนาอื่น ๆ ทั่วประเทศ รวมถึง Gadpo และ Ganmo ถือเป็นเต้นรำที่ได้รับความนิยมมากที่สุดอย่างหนึ่งในเทศกาลนี้ เป็นการเต้นรำของชายและหญิงสูงอายุ การเต้นรำของวีรบุรุษ และการเต้นรำของเทพผู้พิทักษ์ ซึ่งจัดแสดงเพื่อแสดงความเคารพต่อผู้พิทักษ์หลักเทพแห่งธรรม
สามารถศึกษาข้อมูลอื่น ๆ เพิ่มเติมเกี่ยวกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศภูฏานได้ที่เว็บไซต์ https://bhutan.travel/ และติดตามข่าวสารอีกมากมายได้ที่ Facebook และ Instagramของกรมการท่องที่ยวแห่งประเทศภูฏาน
เกี่ยวกับสภาการท่องเที่ยวแห่งประเทศภูฏาน
สภาการท่องเที่ยวแห่งประเทศภูฏานมีหน้าที่รับผิดชอบในการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในภูฏาน เป็นองค์กรซึ่งทำหน้าที่เผยแพร่ความงดงามของสถานที่ ผู้คน และประสบการณ์ในราชอาณาจักรแห่งนี้ ให้กับนักท่องเที่ยวโดยยึดหลักการรับนักท่องเที่ยวปริมาณน้อย เพื่อให้ได้สัมผัสคุณค่าและประสบการณ์สูงสุด
ภูฎาน “บีลีฟ” (Bhutan Believe)
ภูฎาน “บีลีฟ” เป็นแบรนด์และสโลแกนใหม่ของประเทศภูฏาน เน้นย้ำความเชื่อของประเทศเรื่องอนาคตที่ดีกว่าน้อมนำโดยภูมิปัญญาจากคนรุ่นเก่า “บีลีฟ” เป็นเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อในอนาคตของภูฏาน เช่นเดียวกับศักยภาพ ความเป็นไปได้ และโอกาสที่ภูฏานนำเสนอให้กับโลกที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังเกี่ยวกับการเชื่อในคุณค่า ความสามารถ การมีส่วนร่วมและศักยภาพของพลเมืองของประเทศ
ผู้มีโอกาสมาเยือนประเทศภูฏานต่างสรุปความหมายของ ภูฎาน “บีลีฟ” ด้วยใจความว่า: “เราเห็นอนาคตที่สดใส และเราเชื่อในความสามารถและความรับผิดชอบในการบรรลุเป้าหมายร่วมกันของเรา ซึ่งส่องประกายเป็นสัญญาณแห่งความเป็นไปได้ภายใต้โลกใบนี้”
ความหวังคือการเป็นในสิ่งที่เราเชื่อ เราถูกขอให้เชื่อมั่นในตนเอง คุณค่าของเรา ในอนาคตของภูฏาน ด้วยความหวังและความเชื่อมั่น
วีซ่าและค่าธรรมเนียมเพื่อการพัฒนาความยั่งยืน
การยื่นขอวีซ่าหรือใบอนุญาตไปภูฏานนั้นสามารถทำได้ง่ายดาย นักท่องเที่ยวทุกคนจะต้องมีวีซ่าและใบอนุญาตก่อนเดินทางไปภูฏานโดยสมัครทางออนไลน์หรือผ่านทางบริษัททัวร์ภูฏาน โดยใช้เวลาประมาณ 5 วันในการดำเนินการ ยกเว้นนักท่องเที่ยวจากอินเดีย มัลดีฟส์และบังคลาเทศที่สามารถยื่นขอ ณ วันที่เดินทางมาถึงได้
ผู้มาเยือนทุกคนจะต้องชำระค่าธรรมเนียมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Fee – SDF) ของภูฏานเป็นจำนวน 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อคืน (มีอัตราลดหย่อนสำหรับเด็ก) และค่าธรรมเนียมในการขอวีซ่าจำนวน 40 ดอลลาร์สหรัฐ จะใช้ได้เพียงหนึ่งครั้ง และไม่สามารถขอคืนได้ สำหรับชาวอินเดียจะต้องชำระค่า SDF เป็นจำนวน 1,200 รูปีต่อคนต่อคืน
ค่าธรรมเนียมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDF) จะถูกนำมาใช้เป็นทุนสนับสนุนโครงการด้านวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการศึกษาทั่วประเทศภูฏาน ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: www.bhutan.travel
สำหรับสื่อมวลชนที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
คาริสสา นีมาห์ (Carissa Nimah)
ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด
สภาการท่องเที่ยวแห่งประเทศภูฏาน
อีเมล: [email protected]