เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าชำแหละนโยบายแบนบุหรี่ไฟฟ้าล้มเหลวเกือบ 10 ปี พร้อมเสนอรายงานคู่ขนานชี้ไทย “เพิกเฉย” ต่อหลักการลดอันตรายตามอนุสัญญาควบคุมยาสูบของ WHOทำคนไทยเสียชีวิตกว่า 70,000 คนต่อปี
เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าชำแหละนโยบายแบนบุหรี่ไฟฟ้าล้มเหลวเกือบ 10 ปี พร้อมเสนอรายงานคู่ขนานชี้ไทย “เพิกเฉย” ต่อหลักการลดอันตรายตามอนุสัญญาควบคุมยาสูบของ WHOทำคนไทยเสียชีวิตกว่า 70,000 คนต่อปี
เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเดินหน้าสนับสนุน “บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย” เต็มสูบพร้อมเสนอรายงานคู่ขนานเกี่ยวกับการไม่ดำเนินการตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบในบางข้อ หวังไทยกำหนดท่าทีประเทศไทยในการประชุมเวทียาสูบระดับโลก FCTC COP 10 โดยสะท้อนความล้มเหลวของการแบนบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศ
นายมาริษ กรัณยวัฒน์ ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าและเพจ “บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร” ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 100,000คน ได้เปิดเผยเรื่องการเข้าร่วมประชุมของคณะผู้แทนไทยในการประชุมสมัชชารัฐภาคีกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลกครั้งที่ 10 (COP10) พร้อมด้วยร่างระเบียบวาระการประชุม COP10 และรายงาน (Shadow Report) เกี่ยวกับการไม่ดำเนินการตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ มาตรา 1 (d) ว่าด้วยยุทธศาสตร์การลดอันตราย (Harm Reduction) ของประเทศไทย รวมทั้งความล้มเหลวของการแบนบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยว่า
“มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าการเพิกเฉยต่อการดำเนินการตามมาตรา 1 (d) ที่ไม่ยอมรับทางเลือกในการลดอันตรายโดยการแบนบุหรี่ไฟฟ้านั้นล้มเหลว เพราะการใช้บุหรี่ไฟฟ้าสูงขึ้นในกลุ่มวัยรุ่นในกลุ่มประเทศที่มีการแบนบุหรี่ไฟฟ้าเช่น ไทย สิงคโปร์ ออสเตรเลีย อินเดีย เมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกา อังกฤษ แคนนาดา นิวซีแลนด์ ที่มีการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกต้องตามกฎหมาย และถึงแม้ประเทศเหล่านี้จะมีวัยรุ่นที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าแต่ก็ไม่มีนโยบายที่จะแบนโดยสิ้นเชิงแบบในประเทศไทย”
รายงานดังกล่าวได้มีการกล่าวถึงการประชุมสมัชชารัฐภาคีกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบหรือ WHO Framework Convention on Tobacco Control (WHO FCTC) ครั้งที่ 10 (COP10) ซึ่งจัดขึ้นโดยองค์การอนามัยโลก ในวันที่ 20 ถึง 25 พฤศจิกายน 2566 นี้ ณ กรุงปานามา ซิตี้ ประเทศปานามา โดยใจความสำคัญของรายงานดังกล่าวพูดถึงอัตราการสูบบุหรี่ในไทยไว้ว่า “ประเทศไทยแม้จะได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำด้านการควบคุมยาสูบจากการประเมินล่าสุดขององค์การอนามัยโลก แต่ทว่ากลับไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในการลดอัตราการสูบบุหรี่ของประชากรถึง 2 ครั้งติดต่อกันคือ 18.7% ในปี 2557 และ 16.7% ในปี 2562 ตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติเพื่อการควบคุมยาสูบ”
นอกจากนี้ยังมีการระบุว่า “ประเทศไทยวัดผลความสำเร็จในการควบคุมยาสูบจากจำนวนกฎระเบียบที่ออกมาแทนที่จะพิจารณาว่าอันที่จริงแล้วกฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งในการช่วยลดอัตราการสูบบุหรี่ แม้ว่าไทยจะมีการออกระเบียบข้อบังคับมากกว่าประเทศใดๆ ในโลกเพื่อให้ “ประสบความสำเร็จ” ในการปฏิบัติตามกรอบอนุสัญญาฯ แต่ทว่าอัตราการสูบบุหรี่ของประเทศไทยก็ไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา แต่กลับยังกีดกันผู้สูบบุหรี่ 9.9 ล้านคนมิให้เข้าถึงทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า”
เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้ายังได้ระบุอีกว่า “ประเทศไทยควรพิจารณาเปิดรับหลักการลดอันตรายจากยาสูบดังเช่นประเทศอื่นๆ และพิจารณาข้อเสนอแนะในการนำหลักการลดอันตราย เช่นการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกกฎหมาย เข้ามาสนับสนุนมาตรการด้านกฎระเบียบและการรณรงค์อย่างสร้างสรรค์เพื่อสร้างความตระหนักในพิษภัยของยาสูบ ตามที่ปรากฎในคำแนะนำตามรายงานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎรชุดที่ผ่านมา สอดคล้องกับความเห็นของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสินและความเห็นของนางสาวแพรทองธาร ชินวัตรหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยในช่วงการเลือกตั้งในฐานะที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและยังดูแลกระทรวงสาธารณสุขอีกด้วย”
ทั้งนี้เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าได้ทำเอกสารรายงานคู่ขนาน (Shadow Report) ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลซึ่งสะท้อนถึงสภาวการณ์และความเป็นจริงของการควบคุมยาสูบในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนจากการแบนบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย ตั้งแต่ธุรกิจใต้ดินขนาดมหาศาล ภาษีที่รัฐไม่สามารถจัดเก็บได้ การควบคุมมาตรฐานผลิตภัณฑ์ การรีดไถของเจ้าหน้าที่ และการเข้าถึงของเด็กและเยาวชน ซึ่งเครือข่ายฯระบุว่า หวังว่าผู้มีอำนาจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำรายงานฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาการกำหนดท่าทีของประเทศไทยในการเข้าร่วมการประชุม FCTC COP10 นี้ เพื่อให้จุดยืนของประเทศเป็นกลาง สอดคล้องกับความเป็นจริงในบริบทปัจจุบันที่ควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ด้วยการแบนแล้ว และทำให้การควบคุมยาสูบในไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อช่วยชีวิตคนไทย ช่วยชีวิตผู้สูบบุหรี่กว่า 70,000 ที่ต้องเสียชีวิตต่อปี และช่วยปกป้องเด็กและเยาวชนไปพร้อมกัน