กาฬสินธุ์เขื่อนลำปาวประกาศลดระบายน้ำเหลือ17ล้านลบ.ม.ช่วยลดผลกระทบพื้นที่ด้านท้าย

เขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ ประกาศลดปริมาณการระบายน้ำเหลือ 17.50 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน จากเดิมระบาย 21 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน หลังสถานการณ์ระดับน้ำในอ่างมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง และเพื่อช่วยลดผลกระทบในพื้นที่ด้านท้ายเขื่อน

วันที่ 20 ตุลาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงาน นายสำรวย อินพิทักษ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว หรือ เขื่อนลำปาว ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำลำปาว ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์มีแนวโน้มดีขึ้น ระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดได้ประกาศลดปริมาณการระบายน้ำเหลือ 17.50 ล้านลูกบาศก์เมตร จากเดิมระบาย 21 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่อวัน เพื่อช่วยลดผลกระทบในพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนลำปาว


นายสำรวย อินพิทักษ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว หรือ เขื่อนลำปาว กล่าวว่า ล่าสุดเขื่อนลำปาวมีปริมาณไหลเข้าในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา 6.50 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้ขณะนี้มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 2,008 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 101.41 เปอร์เซ็นต์ จากความจุระดับกักเก็บ 1,980 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินระดับกักเก็บอยู่ 28 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้จากการติดตามยังคงมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างทุกวัน


นายสำรวย กล่าวอีกว่า จากสถานการณ์ภาพรวมถือว่ามีแนวโน้มดีขึ้น และระดับน้ำหน้าอ่างลดลงต่อเนื่อง ส่วนปริมาณน้ำในแม่น้ำชียังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นเพื่อลดผลกระทบด้านท้ายเขื่อน ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน และเกษตรกรตั้งแต่ จ.กาฬสินธุ์ไปจนถึง จ.อุบลราชธานี รวมทั้งเพื่อความเสถียรภาพของตัวเขื่อน ทางโครงการฯ ได้ออกประกาศปรับลดการระบายน้ำลงอีก

โดยเริ่มปรับลดมาตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2566 จาก 21 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน เหลือเป็น 19.19 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน และล่าสุดวันนี้ 20 ตุลาคม 2566 ได้ปรับลดการระบายลงอีกเหลือ 17.50 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน พร้อมทั้งจะติดตามสถานการณ์ฝนจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด หากไม่มีแนวโน้มที่จะเกิดพายุหรือฝนตกหนักในพื้นที่ ทางโครงการฯ จะปรับลดการระบายน้ำให้เข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด


สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมล่าสุดยังคงได้รับผลกระทบทั้งพื้นที่ด้านเหนือเขื่อนและด้านท้ายเขื่อนรวม 10 อำเภอ 58 ตำบล 399 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 11,152 ครัวเรือน พื้นการเกษตรเสียหาย 898,841 ไร่ และถนนเสียหาย 247 เส้นทาง ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว และอยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหายเพื่อที่จะช่วยเหลือและเยียวยาต่อไป